ต้องยอมรับเลยว่าตอนนี้ AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อยู่รอบตัวเรา และเป็นอีกหนึ่งฐานสำคัญทางทักษะ ความรู้ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันและอาชีพทั้งในปัจจุบันและอนาคต AI เป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างมาก เช่น การซื้อของออนไลน์จะมีการเก็บข้อมูลให้ AI ประมวลความสนใจของผู้ซื้อและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เรามีแนวโน้มจะซื้อได้ถูกต้อง ดังนั้นการพัฒนาคนให้มีความรู้เท่าทัน หรือมีความสามารถด้าน AI จึงจำเป็นอย่างยิ่ง
เหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการ AI for All หรือโครงการพัฒนากำลังคนด้าน AI ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) มีวัตถุประสงค์คือ
– สร้างความตระหนักรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ให้กับคนทั่วไป
– สร้างผู้ใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์เชิงบูรณาการได้ตรงกับความต้องการของหน่วยงาน
– สร้างนักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญป้อนสู่ตลาดแรงงาน
– สร้างนักวิจัยพัฒนาขั้นสูง เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์
– ส่งเสริมองค์กรหรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่สนใจนำปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์
ผ่านการขับเคลื่อน 5 โครงการ 5 กลุ่มเป้าหมาย คือ
1. สำหรับคนทั่วไป
“โครงการสร้างความรู้ ความเข้าใจและกระแสความสนใจเรื่องปัญญาประดิษฐ์สำหรับทุกคน (AI Thai Smart)” มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความสนใจและการตระหนักรู้เรื่อง AI ในชีวิตประจำวัน ให้เห็นประโยชน์และรู้เท่าทันถึงความเกี่ยวข้องและผลกระทบของ AI ที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งประโยชน์ที่ได้และข้อพึงระวัง
2. สำหรับครูและเด็ก
“โครงการพัฒนาครูและสร้างความเข้าใจและพื้นฐานการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ให้กับเด็กและเยาวชน (AI@School)” มีเป้าหมายส่งเสริมการเรียนปัญญาประดิษฐ์ในโรงเรียน โดยการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ปีที่ 4-6) ทั่วประเทศ ให้เข้าใจพื้นฐานเรื่องวิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ ใช้กลไกการเรียนรู้แบบมีประสบการณ์ปฏิบัติจริง ผ่านการแนะนำของคุณครูที่มีความสามารถ เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะให้แก่เยาวชนเตรียมพร้อมสู่สังคมดิจิทัล
3. สำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มความสามารถ ต้องการเป็นนวัตกร
“โครงการพัฒนานวัตกร วิศวกร นักวิจัย และวิสาหกิจเริ่มต้นด้านปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer)” จะช่วยเพิ่มความรู้ทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีล่าสุดทางด้าน AI เพื่อให้เกิดการทดลองประยุกต์ใช้กับโจทย์จริง โครงการนี้มุ่งหวังจะสร้างคนทุกรุ่นที่มีความสนใจที่จะใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไปเพิ่มมูลค่างานเดิมหรือสร้างนวัตกรรมใหม่
4. สำหรับภาคธุรกิจ และนักวิจัยและพัฒนาขั้นสูง
“โครงการส่งเสริมวิทยาการหุ่นยนต์สำหรับทุกคนและพัฒนานวัตกร นักวิจัย วิศวกร วิสาหกิจเริ่มต้นด้านวิทยาการหุ่นยนต์ (FIBO AI / Robotics for All )” เน้นการประยุกต์ AI เข้ากับวิทยาการหุ่นยนต์ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตและบริการ ผ่านการค้นคว้าวิจัย พร้อมกับพัฒนาบุคลากรในระดับนักศึกษา นักวิจัย และผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว
5. สำหรับนักศึกษาและนักเรียนที่สนใจและชอบทักษะการประดิษฐ์
“โครงการพัฒนานวัตกร วิศวกรด้านวิทยาการหุ่นยนต์เพื่อการเกษตรกรรม (Smart Agricultural Robot Contest)” เป็นเวทีที่ท้าทายสำหรับนิสิตนักศึกษาและนักเรียนอาชีวะที่มีความสนใจจะพัฒนาสิ่งประดิษฐ์โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติและระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยการทำการเกษตร กระบวนการแข่งขันจะสร้างความท้าทายแต่ก็ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และส่งเสริมสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรืออาชีวศึกษาในท้องถิ่นหลากหลาย
ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วขนาดไหน สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมรับมือ และพัฒนาคน สร้างองค์ความรู้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สอวช. โดย บพค. จึงเร่งพัฒนาคน และสร้างความตระหนักรู้ แก่คนทุกระดับ ทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ เยาวชน ภาคการผลิต และนักวิจัยขั้นสูง เพราะเชื่อว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใด และสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก