ใครเคยได้ยินคำว่า SDGs บ้างเอ่ย? บางคนอาจจะเคยเห็นผ่านตามาบ้างจากอินเทอร์เน็ตหรือสื่อต่างๆ บางคนก็อาจจะรู้จักคำนี้จากในห้องเรียน หรือบางคนอาจจะไม่คุ้นหูเลย แต่บอกเลยว่า SDGs เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรรู้
แม้ในประเทศไทยหลายคนอาจจะยังไม่รู้จักคำนี้ แต่เชื่อไหมว่าเรื่อง SDGs เป็นหนึ่งในเนื้อหาข้อสอบสำหรับสอบเข้ามัธยมศึกษาตอนต้นในประเทศญี่ปุ่น เรียกว่ายิ่งกว่าวาระแห่งชาติ เพราะทั้งโลกต่างให้ความสนใจ ว่าแต่มันคืออะไร แล้วทำไมถึงสำคัญขนาดนี้ ไปรู้จัก SDGs กันเลย
SDGs ย่อมาจาก Sustainable Development Goals–SDGs หรือแปลเป็นไทยก็คือ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ถ้าถามว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนคืออะไร ต้องบอกว่าคือการพัฒนาที่สมดุลกันใน 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน (Three Pillars of Sustainability) นั่นคือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจท่องเที่ยว ก็ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในบริเวณนั้น ไม่ใช่พัฒนาให้โตแต่เศรษฐกิจ มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากมาย แต่สิ่งแวดล้อมป่าเขาถูกทำลาย ชีวิตคนที่อาศัยในพื้นที่โดนเบียดเบียน
สำหรับ SDGs หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย โดยองค์การสหประชาชาติแบ่งทั้ง 17 ข้อ ออกเป็น 5 มิติ ได้แก่ มิติสังคม (People) มิติเศรษฐกิจ (Prosperity) มิติสิ่งแวดล้อม (Planet) มิติสันติภาพและสถาบัน (Peace) และมิติหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership)
ทั้ง 17 ข้อ 5 มิติ ต่างเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกคนในโลกควรเรียนรู้ ให้ความสนใจ และร่วมกันพัฒนา ดังนั้นเรามารู้จัก SDGs ไปด้วยกัน โดยครั้งนี้จะมาเจาะลึกกันที่มิติสังคม (People) ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมาย 5 ข้อด้วยกัน โดยหลายข้อของ SDGs ในมิติสังคมก็สอดคล้องกับการดำเนินงานของ สอวช. ในการจัดทำข้อเสนอนโยบาย กลไก และมาตรการสนับสนุน เช่น การขจัดความยากจนอย่างตรงจุด ข้อเสนอนโยบาย เรื่อง Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต รายงานการศึกษาการใช้ศักยภาพการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ และการยกระดับการเรียนรู้ของเยาวชนนอกระบบการศึกษา รวมถึง BCG Economy Model เป็นต้น
ส่วนรายละเอียดของ SDGs ในมิติสังคมที่ประกอบด้วยเป้าหมาย 5 ข้อ จะมีอะไรบ้างและสำคัญอย่างไรไปดูกันเลย
เป้าหมายที่ 1: ขจัดความยากจน (No Poverty)
เป้าหมายแรกของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในมิติสังคม คือ การขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ (End poverty in all its forms everywhere) โดยในทั่วโลก ผู้คนกว่า 800 ล้านคน ต้องอยู่ด้วยเงินน้อยกว่า 1.25 ดอลลาห์ต่อวัน ขาดการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด อาหาร และสุขอนามัยที่เพียงพอ โดย SDGs มีเป้าหมายที่จะขจัดความยากจนในทุกรูปแบบให้แล้วเสร็จภายในปี 2573 ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงในการเข้าถึงทรัพยากรและการบริการขั้นพื้นฐาน รวมถึงช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ
เป้าหมายที่ 2: ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger)
เป้าหมายต่อมาคือ การขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน (End hunger, achieve food security and improved nutrition and promote sustainable agriculture) โดยมุ่งขจัดความหิวโหยในหลายเรื่อง เช่น การเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการ การยุติภาวะทุพโภชนาการ การเพิ่มผลิตภาพ การเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสต่าง ๆ ของเกษตรกรรายย่อย เป็นต้น
ปัจจุบันการเติบโตของเศรษฐกิจและผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น ทำให้การขาดแคลนอาหารลดลง เป้าหมายนี้จึงคืบหน้าไปค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม SDGs มุ่งเป้าขจัดความหิวโหยและความอดอยากทุกรูปแบบภายในปี 2573 เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนได้รับการเข้าถึงอาหารที่มีโภชนาการเพียงพอ และมีการทำการเกษตรที่ยั่งยืน
เป้าหมายที่ 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health And Well-Being)
เป้าหมายนี้คือ การสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages) ซึ่งคำว่าสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีครอบคลุมในหลายเรื่อง เช่น การลดอัตราการตายของมารดา การยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิด การลดการตาย ทั้งจากการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ จากอุบัติเหตุทางถนน และจากสารเคมีอันตราย การปนเปื้อนและจากมลพิษต่าง ๆ รวมถึงการยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัญหาเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัว ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เป็นต้น
สำหรับเป้าหมายนี้ก็คืบหน้าเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการลดการเสียชีวิตของเด็ก การต่อสู้กับเชื้อเอชไอวี มาลาเรียและโรคอื่นๆ ซึ่ง SDGs มุ่งเป้ายุติการระบาดของโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรียและโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี 2573 และต้องการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกทั้งต้องการให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับทุกคน
เป้าหมายที่ 4: การศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education)
เป้าหมายถัดมาก็คือ การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Ensure inclusive and equitable quality education and promote lifelong learning opportunities for all) ซึ่งครอบคลุมหลายประเด็น เช่น การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ระดับเทคนิค อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และมหาวิทยาลัย นอกจากนี้เยาวชนทุกคนและผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ต้องสามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้ เน้นขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศในการศึกษา และการเข้าถึงการศึกษาของผู้พิการ ชนพื้นเมือง และกลุ่มเปราะบาง อีกทั้งยังส่งเสริมให้เพิ่มจำนวนผู้ที่มีทักษะทางเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน และการเป็นผู้ประกอบการ เป็นต้น
SDGs มุ่งให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ภายในปี 2573 จึงมีการพัฒนาเรื่อยๆ ทำให้ปัจจุบันจำนวนของเด็กทั่วโลกที่ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นมาก โดยเป้าหมายนี้ยังต้องการมั่นใจว่าทุกคนจะสามารถสำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จะมีผู้ที่อ่านออกเขียนได้จำนวนมากขึ้น เด็กผู้หญิงได้ไปโรงเรียนมากขึ้นกว่าเดิม และต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะการศึกษาเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เป้าหมายที่ 5: ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)
เป้าหมายข้อสุดท้ายในมิติสังคมคือ การบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง (Achieve gender equality and empower all women and girls) เป้าหมายนี้ครอบคลุมเรื่องการยุติการเลือกปฏิบัติ การขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและเด็กหญิง การยอมรับและให้คุณค่าต่อการดูแลและทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่เและมีประสิทธิผลในการเป็นผู้นำและการตัดสินใจในทุกระดับ การเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า เป็นต้น
เป้าหมายนี้มุ่งยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบและขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิง แต่ในบางภูมิภาคยังคงมีความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงค่าจ้างและมีช่องว่างระหว่างชายและหญิงในตลาดแรงงาน รวมถึงเรื่องความรุนแรงทางเพศ การละเมิดทางเพศ และการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย และการแบ่งแยกชนชั้นของประชาชนยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ในเรื่องนี้