messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » แนวโน้มของอาชีพต่างๆ ทั่วโลก จะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหนหลังจบ COVID-19 อะไรบ้างที่ควรปรับตัว และอะไรบ้างที่มาแรง

แนวโน้มของอาชีพต่างๆ ทั่วโลก จะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหนหลังจบ COVID-19 อะไรบ้างที่ควรปรับตัว และอะไรบ้างที่มาแรง

วันที่เผยแพร่ 1 พฤษภาคม 2021 13943 Views

ในปี 2563 การระบาดใหญ่ของโควิด -19 ทำให้ตลาดแรงงานทั่วโลกหยุดชะงัก ผู้คนหลายล้านต้องตกงานหรือถูกปรับลดเงินเดือน บางคนต้องทำงานที่บ้านแบบ Work from home แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังจำเป็นต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ทำงานในห้างร้าน หรืองานสาธารณะ อาทิ การกำจัดขยะ ซึ่งไม่ว่าจะงานไหน ล้วนต้องเตรียมความพร้อมและมีมาตรการการป้องกันที่แตกต่างออกไปจากเมื่อก่อนแทบทั้งสิ้น

จากข้อมูลวิจัยของ “McKinsey Global Institute” หรือ MGI (หน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการวิจัยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และภูมิศาสตร์การเมือง ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา) ที่ทำให้ประเทศผู้นำด้านตลาดแรงงานโลกทั้ง 8 ประเทศ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา พบว่า

“งานที่ต้องเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้อื่น” คืองานที่จะได้รับผลกระทบและเปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดแถมในระยะยาวความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่มั่นคงในบางอาชีพก็จะยิ่งมากขึ้นไปเรื่อยๆ ตามลักษณะงานและโอกาสในการเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้อื่น อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น

1.งานที่ต้องพบปะกับลูกค้าโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มพนักงานขาย พนักงานธนาคาร งานสายนี้มีการเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้อื่นในระดับสูง จึงกำลังถูกแทนที่ด้วยบริการ E-commerce และการทำธุรกรรมดิจิทัลต่างๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปตลอดกาล เพราะมีความสะดวกสบายกว่า

2.งานด้านการท่องเที่ยวพักผ่อน เนื่องจากงานสายนี้จำเป็นต้องพบปะกับผู้คนจำนวนมากเช่นกัน จึงได้รับผลกระทบอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการโรงแรม การบิน หรือร้านอาหาร การหยุดให้บริการหรือปิดกิจการเป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยในสายงานนี้ สำหรับในระยะยาว การทำงานจากระยะไกล การลดลงของธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงการเข้ามาของระบบอัติโนมัติ อาจส่งผลให้ความต้องการของแรงงานด้านนี้ลดลงไปอีก

3.สายงานที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลัก งานสายนี้ต้องการการพบปะกับผู้คนในระดับที่ไม่มาก จึงจะกลายมาเป็นงานที่คนถึง 1 ใน 3 ทำกัน และจะกลายเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจในอนาคต เพราะเป็นงานที่สามารถทำในระยะไกลได้

4.งานที่ทำกลางแจ้ง เช่น งานก่อสร้าง หรือการเกษตร งานสายนี้ถือเป็นงานที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้อื่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงได้รับผลกระทบไม่มาก หรือแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย

COVID-19 ก่อให้เกิดเทรนด์ใหม่มาแรง 3 เทรนด์ ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงโลกของการทำงานไปตลอดกาล

1.การทำงานระยะไกล หรือ work from home และ การประชุมทางไกล จะยังคงอยู่ต่อไป แม้การระบาดของโรคจะลดลงแล้วก็ตาม เพราะพิสูจน์แล้วว่าการทำงานในรูปแบบนี้ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง แถมยังช่วยลดความแออัดในที่ทำงานอีกด้วย

2.E-Commerce และ ธุรกรรมดิจิทัล จะยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้คนติดใจในความสะดวกสบาย โดยอัตราการเติบโตของธุรกิจด้านนี้มีมากถึง 2-5 เท่าภายในปีเดียว เป็นข้อบ่งชี้ถึงความนิยมได้เป็นอย่างดี

3.โควิด – 19 เร่งให้เกิดการยอมรับระบบอัตโนมัติและ AI มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานที่ต้องใกล้ชิดกับผู้อื่นสูง โดยจากผลสำรวจผู้บริหารกว่า 800 คนพบว่า 2 ใน 3 ของผู้บริหารมีความคิดที่จะนำระบบอัตโนมัติและ AI มาใช้ในธุรกิจ และบางส่วนก็เริ่มใช้ไปแล้ว เช่น ระบบจัดการคลังสินค้า ระบบจัดการร้านค้า Chat-bot และ Call Center เป็นต้น

งานที่มีค่าจ้างตํ่า หรือใช้ทักษะน้อย อาจไม่เติบโตเท่าที่ควร

แม้ในปัจจุบันจะดูเหมือนว่างานด้านการขนส่งกำลังมีความต้องการที่สูงขึ้น แต่ก็เทียบไม่ได้กับความต้องการที่ลดลงของงานด้านการบริการ และการขาย เพราะเพียงแค่ในสหรัฐอเมริกา งานด้านการบริการนั้นมีความต้องการลดลงถึง 4.3 ล้านตำแหน่ง ในขณะที่งานด้านการขนส่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นเพียง 8 แสนตำแหน่งเท่านั้น โดยสายงานที่ได้รับความสนใจมากขึ้น ส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มงานสายสุขภาพ เทคโนโลยี และงานที่ใช้ทักษะสูง ข้อแนะนำสำหรับผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือควรเพิ่มทักษะในการทำงานให้มากขึ้นและเปลี่ยนไปทำงานที่ได้ค่าจ้างสูงขึ้นกว่าเดิม

แรงงานกว่า 25% อาจต้องพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนงานมากกว่าที่เคย

ความท้าทายของแรงงานในกลุ่มค่าจ้างตํ่าหรือใช้ทักษะน้อยจะมีมากขึ้น โดยแรงงานกว่า 1 ใน 16 ของแรงงานในกลุ่มนี้ ควรที่จะได้งานใหม่ที่ใช้ทักษะและได้ค่าจ้างที่สูงขึ้นให้ได้ก่อนปี 2030 หนึ่งในสิ่งที่ช่วยให้การเปลี่ยนงานนั้นเป็นไปได้อย่างราบรื่นคือการศึกษา จากผลสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ที่มีการศึกษาตํ่ากว่าระดับปริญญาตรีมีแนวโน้มที่จะต้องเปลี่ยนงานมากกว่าผู้ที่จบปริญญาตรีแล้วถึง 1.3 เท่า

องค์กรและผู้ออกนโยบายต่างๆ สามารถช่วยให้การเปลี่ยนงานราบรื่นขึ้นได้!

ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนการทำงานระยะไกล การดูว่างานใดบ้างสามารถช่วยให้พนักงานสามารถทำงานจากระยะไกลได้ หรือการให้ความสำคัญกับการสร้างทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นให้พนักงานมากกว่าที่จะดูเรื่องวุฒิการศึกษา

ในด้านของนโยบายและระบบโครงสร้างพื้นฐาน การออกนโยบายที่สนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะในปัจจุบันมีคนมากกว่า 20% ในเขตชนบทที่ยังไม่มีโอกาสได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ องค์กรและผู้ออกนโยบายสามารถร่วมกันสนับสนุนให้แรงงานของตนมีทักษะและปฏิบัติงานได้ราบรื่นขึ้นได้ เช่น ในสหรัฐอเมริกาที่องค์กรต่างๆ ได้ร่วมมือกัน ทุ่มเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมสร้างทักษะขัดเกลาพนักงานที่ด้อยการศึกษาและสร้างงานใหม่ๆ มารองรับพนักงานเหล่านั้น ผลที่ได้คือ องค์กรได้พนักงานที่ยืดหยุ่น มีทักษะมีความสามารถกว่าเดิม พนักงานได้คุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้น และที่สำคัญยังได้สังคมที่เข้มแข็งและเท่าเทียมมากขึ้นอีกด้วย

สอวช. กับมาตรการสนับสนุนด้านการพัฒนากำลังคน Reskill / Upskill / New Skill และ Lifelong Learning

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้แนวโน้มของตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไป แรงงานที่มีทักษะใหม่ๆ ที่เหมาะกับงานแห่งอนาคต กลายเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว สำหรับประเทศไทยนั้นได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะของกำลังคนในประเทศ หรือ Upskill Reskill New Skill รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) มาตั้งแต่ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้มีความร่วมมือกับ กรมสรรพากร ดำเนินมาตรการทางการคลังและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาคเอกชนรองรับการลงทุนจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างประเทศมาประเทศไทย (Thailand Plus Package) ผ่านมาตรการสนับสนุนการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงด้าน STEM ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ได้รับรองจาก สอวช. ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนําค่าใช้จ่ายในการจ้างงานระหว่าง ปี 2562-2563 ไปหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 150 และ มาตรการการพัฒนาบุคลากรผ่านการฝึกอบรมแรงงานให้มีทักษะสูงในหลักสูตรด้าน STEM ที่ได้รับการรับรองจาก สอวช. โดยยกเว้นภาษีเงินได้ร้อยละ 250 เพื่อเป็นส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในประเทศ รวมถึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนผ่านกลไกการให้ทุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เพื่อจัดสรรทุนด้านการพัฒนากำลังคนในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ และยังอยู่ระหว่างการศึกษาการวิจัยเชิงระบบการส่งเสริมบทบาทของอุดมศึกษา เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับการเรียนรู้และการประกอบอาชีพของผู้สูงอายุ ซึ่งจากดำเนินงานข้างต้นจะเป็นมาตรการส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้ไทยมีกำลังคนที่มีศักยภาพ พร้อมรับโอกาส ความท้าทาย และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าวิกฤติใดจะมาถึง

Tags:

เรื่องล่าสุด