BCG Economy Model ถูกประกาศให้เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ! ว่าแต่ BCG เป็นโมเดลเศรษฐกิจแบบไหนและสำคัญอย่างไรถึงขนาดเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ
วันนี้เรามารู้จัก BCG Economy Model ไปพร้อมกัน รวมถึงเจาะลึกไปที่ตัว “B” อักษรตัวแรกของชื่อโมเดลนี้ เพื่อที่คุณจะได้เป็นอีกหนึ่งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน
“BCG Economy Model คืออะไร?”
BCG Economy Model คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง BCG นั้นย่อมาจาก Bio-Circular-Green Economy ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
โมเดลเศรษฐกิจนี้เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมายกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิต ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม โดยการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศด้วย BCG Economy Model พ.ศ. 2564-2569 ประกอบด้วย สาขาเป้าหมายในการพัฒนา จำนวน 4 สาขายุทธศาสตร์ ได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
BCG นั้นมีเป้าหมายในการสร้างการเติบโตให้ระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น
– มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ใน 4 สาขายุทธศาสตร์ เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท จากเดิม 3.4 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 21) ในปี พ.ศ. 2561 เป็น 4.4 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 24) ในปี พ.ศ. 2569
– การจ้างงานเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านคน จากเดิม 16.50 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน
– สัดส่วนผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น
– ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของผู้ที่อยู่ในเศรษฐกิจฐานรากลดลงมากกว่า 10 ล้านคน
“ทำไม BCG Economy Model จึงสำคัญ?”
เหตุผลที่ BCG Economy Model มีความสำคัญและเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ นั่นเพราะ BCG เป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติอย่างน้อย 5 เป้าหมาย ได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการลดความเหลื่อมล้ำ (หากใครยังไม่รู้จัก SDGs สามารถอ่านได้ที่ลิงก์โพสต์ SDG คืออะไร ได้เลย https://bit.ly/3cKExqY)
ความยั่งยืน และการสร้างความมั่นคงจากภายในประเทศ
จากข้อมูลของ สอวช. ได้เปิดเผยถึงความสำคัญของ BCG ว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และการสร้างความมั่นคงจากภายในประเทศ ไทยจึงจำเป็นต้องมีรูปแบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมใหม่ คือ BCG Economy ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่เน้นความยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในขณะเดียวกันก็สามารถทำให้ประเทศไทยพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ โดยการเชื่อมโยงระหว่างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กับความหลากหลายทางชีวภาพและทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในและกระจายผลประโยชน์สู่ชุมชนอย่างเป็นธรรม
“ตัว B จาก BCG คืออะไร?”
BCG Economy ประกอบไปด้วยเศรษฐกิจ 3 ส่วนหลัก เราจึงขอพาคุณมารู้จักกับตัวอักษรแรกของโมเดลนี้อย่างตัว B กัน!
B ย่อมาจาก Bio Economy หรือ “เศรษฐกิจชีวภาพ” เป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยอาศัยฐานเกี่ยวกับชีวภาพ โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม
“การเพิ่มมูลค่าสินค้าฐานชีวภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม”
อย่างที่เล่าว่า ตัว B หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ จะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิต ทำให้สินค้าและบริการมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีความสำคัญและมีส่วนช่วยภาคการเกษตรอย่างมาก เพราะภาคเกษตรเกี่ยวข้องกับคนมากกว่า 12 ล้านคน แต่มากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่เพาะปลูกของไทยปลูกพืชเพียง 6 ชนิด คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน ซึ่งราคามีความผันผวนตามสภาพภูมิอากาศและอุปทานในตลาดโลก ดังนั้น การยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และสร้างมาตรฐาน จะช่วยสร้างความแตกต่าง คุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร
อย่างเช่นแนวทางการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรด้วยการดึงสารสำคัญหรือคุณสมบัติพิเศษที่มีอยู่ในสินค้าเกษตรและพืชสมุนไพร เพื่อเปลี่ยนจากการ “ขายเป็นตัน” เป็นการ “ขายเป็นกิโลกรัม” หรือกรัม ตัวอย่างเช่น ชานอ้อยกิโลกรัมละ 1 บาท เมื่อพัฒนาเป็นสารประกอบที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอางและอาหาร มูลค่าจะเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 260 บาท และเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 1,000 บาท เมื่อพัฒนาเป็นสารประกอบในการผลิตยา หรือใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic)