messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “ยานยนต์ไฟฟ้า” อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

“ยานยนต์ไฟฟ้า” อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

วันที่เผยแพร่ 2 กรกฎาคม 2021 5118 Views

ในตอนที่แล้ว สอวช. ได้หยิบยกข้อมูลของอุตสาหกรรมอาหารอย่าง “เนื้อไก่” มาให้ทุกคนได้รู้กันไปแล้ว ในวันนี้เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือข้อมูลของอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งอนาคต นั่นก็คือ “ยานยนต์ไฟฟ้า”

ก่อนอื่นหากใครต้องการอ่านบทความข้อมูลของอุตสาหกรรมเนื้อไก่ สามารถติดตามไปอ่านได้ที่ https://www.nxpo.or.th/th/8056/

เมื่อพูดถึงโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของประเทศไทยประกอบด้วย 1. รถยนต์ โดยในปี 2562 มีการผลิตรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคลประมาณ 49% รถกระบะ 49% และรถยนต์ประเภทอื่น 2% ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกใกล้เคียงกับการจำหน่ายภายในประเทศ 2. รถจักรยานยนต์ ตลาดส่วนใหญ่จะเป็นการจำหน่ายภายในประเทศ โดยในปี 2561 มีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ภายในประเทศ 1.8 ล้านคัน (เพิ่มขึ้น 0.4%) ส่งออก 3.7 แสนคัน (ลดลง 1.2%) 3. ชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งประกอบไปด้วยชิ้นส่วนเพื่อการประกอบยานยนต์ (OEM) และชิ้นส่วนเพื่อการทดแทนหรืออะไหล่ (REM) โดยประเทศไทยมีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อจำหน่ายภายในประเทศประมาณ 60-70%

อุตสาหกรรมนี้มีโครงสร้างโซ่อุปทานเป็นแบบพีระมิด มีบริษัทที่เป็นผู้ประกอบยานยนต์อยู่ในจำนวนน้อย และกว่า 96% เป็นบริษัทต่างชาติ สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะถูกแบ่งออกเป็นลำดับ (tier) โดยผู้ผลิต tier-1 จะเป็นผู้ผลิตระบบหรือโมดูล (system/module) และมีความสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ประกอบยานยนต์ ซึ่งยังคงมีบริษัทต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ (42%) และมีบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยทั้งหมด (pure Thai) อยู่น้อย (17%) แต่ว่าจะมีสัดส่วนของบริษัทไทยที่มีสัดส่วนการลงทุนจากต่างชาติสูงขึ้น โดยบริษัทจำนวนมากจะเป็นผู้ผลิตลำดับต่ำลงมา (tier-2 เป็นต้นไป) และผู้ผลิตกลุ่มนี้จะมีจำนวนบริษัทไทยมาก โดยมีบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยทั้งหมดอยู่เกือบถึง 50%

แนวโน้มของเทคโนโลยีพลิกผัน

แนวโน้มเทคโนโลยีพลิกผันที่เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์มีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่

1. การขับเคลื่อนไร้คนขับ (autonomous driving) เทคโนโลยีการขับเคลื่อนไร้คนขับ เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในยานยนต์ไร้คนขับ (autonomous vehicle: AV) ซึ่งเป็นยานยนต์ที่สามารถรับรู้ได้ถึงสิ่งแวดล้อม และสามารถขับเคลื่อนได้อย่างปลอดภัยโดยรับการควบคุมที่จำกัดหรือไม่ได้รับการควบคุมจากผู้ขับ

2. การเชื่อมต่อ (connectivity) เทคโนโลยีการเชื่อมต่อ เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการสื่อสาร ส่งต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างตัวยานยนต์กับผู้ขับขี่ แนวโน้มการใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อนี้เกิดจากสัดส่วนของผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น และคนเหล่านี้ต้องการความสะดวกสบาย ต้องการการใช้อุปกรณ์หรือบริการต่างๆ ที่มีความเฉพาะบุคคล ประกอบกับการที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงอุปกรณ์อัจฉริยะ (smart device) ได้ง่ายขึ้น ทำให้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อเป็นที่นิยมและแพร่หลาย

3. การปรับให้เป็นระบบไฟฟ้า (electrification) ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ถูกนำเอาไปใช้ขับเคลื่อนยานยนต์ โดยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมีอยู่หลายรูปแบบ มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป โดยมีทั้งเทคโนโลยีที่ถูกนำไปใช้ควบคู่กับเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) และทดแทนการใช้ ICE ไปโดยสิ้นเชิง

4. การคมนาคมขนส่งร่วม (shared mobility) จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งภาวะการกลายเป็นเมือง (urbanization) ที่ทำให้ประชากรต้องอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่นมากขึ้น รวมทั้งค่านิยมและความชอบของประชากรและผู้ใช้ ที่มีต่อการคมนาคมขนส่งที่กำลังเปลี่ยนไป จากความต้องการที่จะเป็นเจ้าของยานยนต์ไปสู่การใช้งานยานยนต์เมื่อต้องการ ทำให้รูปแบบการให้บริการการคมนาคมขนส่งโดยรวมเปลี่ยนไป

ผลกระทบและทิศทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์

จากแนวโน้มของเทคโนโลยีพลิกผันที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมและจากอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ เกิดการลงทุนและความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมกับผู้ประกอบการในธุรกิจอื่นที่มีศักยภาพและมีโอกาสที่จะเติบโต ส่งผลให้โครงสร้างของอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม รวมทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไป

นอกจากนี้ ค่านิยมที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้บริการการคมนาคมขนส่งก็จะส่งผลต่ออิทธิพลของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ด้วยเช่นกัน เช่น ถ้าแนวโน้มการคมนาคมขนส่งร่วมเพิ่มมากขึ้น ผู้ให้บริการการคมนาคมขนส่งจะมีอิทธิพลสูงขึ้นในอุตสาหกรรม และอาจมีอำนาจในการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของยานยนต์ที่ตลาดต้องการ เนื่องจากมีข้อมูลและเข้าใจความต้องการของผู้ใช้บริการการคมนาคมขนส่ง ดังนั้น แนวทางที่ผู้ประกอบการจะสามารถประสบความสำเร็จในธุรกิจชิ้นส่วนระบบส่งกำลังจึงเป็นแนวทางที่ทำให้ตนเองแตกต่างจากผู้ประกอบการอื่น ด้วยการเพิ่มศักยภาพในการออกแบบและหาสภาพที่ดีที่สุดของระบบ (system design and optimization) หรือเพิ่มศักยภาพการผลิตโดยใช้การประหยัดต่อขนาด (economies of scale) และการผลิตแบบชิ้นส่วนประกอบ (modularity)

สำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (SW/E) มีมูลค่าตลาด 2.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เติบโต 7% ต่อปี) ซึ่งมากกว่าตลาดยานยนต์รวมถึง 2 เท่า เป็นผลมาจากแนวโน้มเทคโนโลยี ACES โดยที่สัดส่วนมูลค่าของชิ้นส่วน SW/E ต่อยานยนต์ 1 คัน จะเพิ่มขึ้นตามประเภทของยานยนต์ นอกจากนี้ ยังพบว่าระบบโครงสร้างเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมนี้กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยจะกลายเป็นโครงสร้างที่มีระบบควบคุมกลางมากขึ้น (centralized architecture) ซึ่งจะทำให้ตลาดชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ตลาดของหน่วยควบคุมโดเมน (domain control unit: DCU) จะเป็นตลาดใหม่ที่ต้องการระบบการคำนวณประสิทธิภาพสูง การพัฒนาหน่วยควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (electronic control unit: ECU) จะแยกออกและไม่ขึ้นกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ ตลาดเซ็นเซอร์สำหรับยานยนต์ (automotive sensor) จะถูกแยกออกเป็นตลาดเซ็นเซอร์อัจฉริยะ (smart sensor) ที่มีความสามารถในการประมวลผลสูง และตลาดเซ็นเซอร์พื้นฐาน (raw sensor) ที่ต้องส่งข้อมูลไปประมวลผลที่ DCU รวมถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์เซ็นเซอร์ EDU หรืออุปกรณ์อื่นๆ จะเริ่มมีการสร้างมาตรฐานการผลิตมากขึ้น ทำให้สินค้าตามตลาดมีลักษณะเหมือนกัน และมีแนวโน้มที่จะถูกแยกออกจากกันด้วยซอฟต์แวร์ เป็นต้น

สภาพตลาดยานยนต์ไฟฟ้า

Bloomberg NEF (2020) ให้ข้อมูลการคาดการณ์การเติบโตของสัดส่วนการขยายรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคลที่เป็น EV ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่า ทั้งในระยะสั้น (5 ปี) และในระยะยาว (20 ปี) ประเทศจีนและประเทศในสหภาพยุโรปจะเป็นประเทศสองลำดับแรกที่มีสัดส่วนการขายรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลที่สูงที่สุด โดยจีนจะสามารถมีสัดส่วนได้สูงถึง 15% สหภาพยุโรปเกือบถึง 10% ในระยะสั้น ขณะที่ประเทศอื่นยังมีสัดส่วนน้อยกว่า 5% แต่ในระยะยาว หลายประเทศทั่วโลกสามารถมีสัดส่วนที่สูงเกือบถึง 60% ในขณะที่สหภาพยุโรปอยู่ที่ 65% และจีน 70%

เมื่อพิจารณาสัดส่วนการขายของยานยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ทั้งในระยะสั้น (5 ปี) และระยะกลาง (10 ปี) ทุกประเทศมีอัตราการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนการขายยานยนต์ไฟฟ้าที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกแต่ในระยะยาว (20 ปี) แม้ว่าสัดส่วนการขายรถส่วนบุคคลจะยังมีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่ว่าสำหรับประเทศไทยและเวียดนาม รถเพื่อการพาณิชย์ รถบัสและรถ 2 ล้อจะมีการเติบโตใกล้เคียงหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

จากข้อมูลทั้งหมด จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมที่มีโครงสร้างอุตสาหกรรมแบบพีระมิด มีผู้ประกอบยานยนต์อยู่ด้านบน และผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับต่างๆ อยู่ด้านล่างของพีระมิด กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง แนวโน้มของเทคโนโลยีสำคัญและนโยบายส่งเสริมสนับสนุนทำให้ผู้ประกอบยานยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนในระดับต่างๆ มีบทบาทและความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมอื่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้นอีกด้วย

หากสนใจศึกษาข้อมูลแนวทางการประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยานยนต์ (ยานยนต์ไฟฟ้า) สามารถอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ https://www.nxpo.or.th/th/7955/

ขอบคุณข้อมูลจาก : EVolution – Electric vehicles in Europe: gearing up for a new phase? ปี 2014

FAST 2030: Future automotive industry structure until 2030 ปี 2018

The trends transforming mobility’s future ปี 2019

The future of mobility is at our doorstep ปี 2019

Private autonomous vehicles: The other side of the robo-taxi story ปี 2020

McKinsey (2019c)

Tags:

เรื่องล่าสุด