(9 มกราคม 2562) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานแถลงข่าว โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาบุคลากรเฉพาะทางและการถ่ายโอนความรู้ข้ามพรมแดน (Sustainable Economy Driving of Food Industry by Specialized Personnel Development and Cross Border Knowledge Transfer) ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยเป็นกิจกรรมรูปแบบใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด และส่งเสริมการเร่งพัฒนากำลังคนด้านวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรให้เกิดความยั่งยืน ผ่านการถ่ายโอนความรู้เชิงลึกและนวัตกรรมขั้นสูงจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศในเรื่องที่สำคัญเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกษตร และมาถ่ายทอดสู่ภาคอุตสาหกรรมไทยต่อเนื่อง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านนโยบายนวัตกรรมการพัฒนากำลังคน สวทน. เปิดเผยว่า จากตัวเลขในปี 2560 อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 3 ล้านล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการในรูปแบบบริษัทจดทะเบียนรวมประมาณ 8,500 ราย ทั้งนี้ หากรวมจำนวนบริษัทผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็กคาดว่าจะมีจำนวนผู้ประกอบการทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย โดยประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป (agro-manufacturing products) สูงถึง 25,872 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 878,102 ล้านบาท ทั้งนี้เฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่มมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 16,882 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 572,998 ล้านบาท* จากมูลค่าการส่งออกที่ค่อนข้างสูงนี้ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารในลำดับต้น ๆ ของโลก อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอาหารในประเทศยังคงประสบปัญหาหลายด้านที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืนในตลาดโลก ซึ่งปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือการขาดการพัฒนาบุคลากรและการถ่ายโอนความรู้ที่ทันสมัยอย่างทันท่วงที รวมถึงขาดการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เชิงลึกและเทคโนโลยีเฉพาะทางเพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดในการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี รวมถึงมีข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสถานประกอบการทั้งในและต่างประเทศก็ประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทางเช่นกัน โดยเฉพาะองค์ความรู้เชิงลึกที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ การใช้ความดันสูงในการแปรรูปอาหาร การใช้เทคนิคโอห์มมิค เป็นต้น ตลอดจนยังขาดความเข้าใจและการเข้าถึงการวิเคราะห์ตรวจสอบเชิงลึกที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาให้สินค้ามีมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งการที่จะพัฒนาให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารที่มีนวัตกรรมสูงขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีการแปรรูปขั้นสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า รวมถึงสามารถแก้ปัญหา ขจัดอุปสรรคทางการค้าจากการกีดกันด้านมาตรฐานสินค้า และนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างรวดเร็วทันต่อการแข่งขันในระดับโลกได้นั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาและเสริมสร้างองค์ความรู้เชิงลึกรวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีด้านการอาหารที่ทันสมัยให้แก่บุคลากรในภาคเอกชน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงลึกเฉพาะทางในบางเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย มีความจำเป็นต้องอาศัยการถ่ายโอนความรู้จากนักวิจัยหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความชำนาญสูงจากต่างประเทศเป็นส่วนมาก สวทน. จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาบุคลากรเฉพาะทางและการถ่ายโอนความรู้ข้ามพรมแดน ในครั้งนี้ขึ้น
“การดำเนินโครงการในครั้งนี้ สวทน. และ ม.เกษตร มีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะนำร่องรูปแบบโครงการสำหรับการพัฒนาบุคลากรของอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้มีองค์ความรู้เชิงลึกหรือเทคโนโลยีขั้นสูงเกี่ยวกับด้านอุตสาหกรรมอาหารจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ และเกิดการถ่ายโอนองค์ความรู้ดังกล่าวสู่ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและนักวิจัยในภาคการศึกษา รวมถึงเอกชนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารที่มีนวัตกรรมสูงขึ้น สามารถขจัดอุปสรรคทางการค้าจากการกีดกันด้านมาตรฐานสินค้า และนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมอาหารให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ ทั้งนี้คาดว่าโครงการจะส่งผลให้เกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมอาหารในมิติต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาลดความเสียหายในการผลิต หรือเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาด ซึ่งคิดเป็นมูลค่าของผลกระทบอย่างน้อย 10 ล้านบาทต่อปี โดยจะเริ่มเห็นผลกระทบในปีที่ 3 ของการดำเนินโครงการ” ดร.พูลศักดิ์ กล่าว
ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืนฯ เป็นโครงการรูปแบบใหม่เพื่อตอบโจทย์ด้านการรับการถ่ายโอนองค์ความรู้เชิงลึกหรือเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ และเกิดการถ่ายโอนองค์ความรู้ดังกล่าวสู่ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและนักวิจัยในภาคการศึกษา ผ่านการเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากต่างประเทศมาถ่ายทอดองค์ความรู้สู่กลุ่มผู้ประกอบการและนักวิจัยในวงกว้าง เพื่อเป็นการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเทคโนโลยี และดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงลึกสู่กลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมายเฉพาะรายโดยอาศัยกรณีศึกษาจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเทคโนโลยีนั้น ๆ อย่างถ่องแท้ และสามารถประยุกต์ต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เพื่อให้องค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากต่างประเทศยังคงอยู่ภายในประเทศ รวมถึงมีการถ่ายทอดในประเทศต่อไปได้ในระยะยาวและขยายเป็นวงกว้าง โครงการจึงได้มีการดำเนินงานในการสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในภาคการศึกษาเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการรับการถ่ายทอดองค์ความรู้นั้นจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศสู่ภาคเอกชนได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในบางกรณีการถ่ายทอดองค์ความรู้เฉพาะทางทั้งด้านการบริหารจัดการเครื่องมือและสถานที่ เทคนิคเฉพาะในการวิจัยพัฒนาหรือการวิเคราะห์ตรวจสอบเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีนักวิจัยไทยที่มีความสามารถไปรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในสถานที่จริง ณ ต่างประเทศ เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ อาทิ การบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและข้อบังคับระหว่างประเทศ ขั้นตอนการให้บริการกับภาครัฐและเอกชน และแนวปฏิบัติในการดำเนินการภายในของหน่วยวิจัยและห้องปฏิบัติการนั้น ๆ เป็นต้น เพื่อให้นักวิจัยสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้มาขยายผลสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศ และสามารถนำเสนอรายงานภาพรวมของการเตรียมพร้อมทั้งด้านของสถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ รวมทั้งเทคนิคการวิเคราะห์ วิจัยและพัฒนาที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติได้
สำหรับกิจกรรมหลักสูตรที่จะส่งนักวิจัยไทยไปรับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากต่างประเทศ มี 2 หลักสูตร คือ 1. เทคนิคการวิเคราะห์ และการจัดการห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยวัสดุสัมผัสอาหาร (Food contact centre s.r.l. ประเทศอิตาลี) และ 2. เทคโนโลยีการกลั่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกระบวนการหลังการกลั่น (The International Centre for Brewing and Distilling (ICBD) ประเทศสกอตแลนด์ หรือ Bureau National Interprofessionnel du Cognac ประเทศฝรั่งเศส)
ส่วนกิจกรรมเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากต่างประเทศมาถ่ายทอดองค์ความรู้สู่กลุ่มผู้ประกอบการและนักวิจัยในวงกว้าง ภายใต้โครงการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาบุคลากรเฉพาะทางและการถ่ายโอนความรู้ข้ามพรมแดน” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 30 สิงหาคม 2562 โดยแบ่งเป็น 7 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรที่ 1 Biomass Recovery Technology for Economic Value Added: เทคโนโลยีการแปรรูปชีวมวลเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ หลักสูตรที่ 2 Food Contact Materials Laws and Regulations: R&D, Testing Protocols and Management: กฎระเบียบวัสดุสัมผัสอาหาร การวิจัยและพัฒนา วิธีการทดสอบและการจัดการ หลักสูตรที่ 3 Agro-Food Biowaste Tapping and Bio-Refinery: เทคโนโลยีการผลิตสารสกัดและการใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกษตร หลักสูตรที่ 4 Innovative Food Technologies for The 21st Century: นวัตกรรมการแปรรูปอาหารสำหรับศตวรรษที่ 21 หลักสูตรที่ 5 Beverage Industry Solutions: Technology and Safety Challenges: เทคโนโลยีเครื่องดื่มเพื่อคุณภาพและความปลอดภัย หลักสูตรที่ 6 R&D Innovation Technology Management for Business: การจัดการเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อธุรกิจ หลักสูตรที่ 7 Technology for Value Creation of Alternative Protein Based Product and Agro-Industrial and Food Waste Utilization: เทคโนโลยีการผลิตโปรตีนทางเลือกและการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่ง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาราดา โทรศัพท์ 08-5833 – 3454 อีเมล warada.t@ku.ac.th (ไม่มีค่าใช้จ่ายในการอบรม)
หมายเหตุ : * ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย