messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เชิญกูรูด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน แลกเปลี่ยนแนวคิด เน้นย้ำการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

สอวช. เชิญกูรูด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน แลกเปลี่ยนแนวคิด เน้นย้ำการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

วันที่เผยแพร่ 21 กรกฎาคม 2021 1132 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยรับมือกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อมองหาและสร้างโอกาสให้กับประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรง ในรายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 3 พูดคุยในประเด็น “Circular Economy เทรนด์ใหม่ของธุรกิจสู่ความยั่งยืน” ได้รับเกียรติจาก นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีพันธกิจสนับสนุนภาคธุรกิจ ให้ดำเนินงานสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และนางสาวอลิสรา ศิวยาธร ผู้บริหารโรงแรมศิวาเทล (Sivatel) ตัวแทนภาคธุรกิจที่เริ่มทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร มาร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.

นางสาวธันยพร กล่าวถึงแนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเน้นให้เห็นความหมายของคำว่า Circular หรือการหมุน เป็นแนวความคิด กระบวนการที่ทำการผลิต บริโภค หรือการใช้ชีวิต ทำให้มีการหมุน มีการวนกลับมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และไม่มีวันหมดไป ซึ่งการจะทำให้เกิดกระบวนการ หรือกระบวนทัศน์ในเรื่องนี้
ต้องมองตั้งแต่การรักษาต้นทุนที่เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมถึงกระบวนการผลิตที่เพิ่มประสิทธิภาพให้กับทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดของเสียน้อยที่สุด และส่งผลด้านบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม

“แนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคธุรกิจของประเทศไทยมีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่กระแสในการขับเคลื่อนร่วมกันเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน จำนวนผู้เข้าร่วมจึงยังมีไม่มาก หากมองในแง่ของขนาดธุรกิจพบว่า สมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำหรือหน่วยงานขนาดใหญ่ เช่น SCGหรือ GC หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น โดยมองแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นนวัตกรรมทางความคิด เป็นวิธีการคิดใหม่ ทำใหม่ เป็นแนวทางจัดการทรัพยากรที่ต่างไปจากเดิม และถ้าพูดถึงการขับเคลื่อนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ก็สามารถทำได้ เป็นแนวคิดที่เหมาะสมกับธุรกิจที่กำลังจะมองหาโอกาสในการเติบโตในอนาคต” นางสาวธันยพร กล่าว

ด้านนางสาวอลิสรา เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจว่า ธุรกิจโรงแรมเป็นการสานต่อธุรกิจครอบครัว ที่ทำธุรกิจแบบมีความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ก่อตั้งโรงแรม ในกระบวนการทำงานจึงต้องมีการดูทั้งเรื่องการใช้ทรัพยากร การบริหารจัดการขยะ มีการชั่งน้ำหนักขยะของโรงแรมมาตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว และพบว่าแต่ละเดือนโรงแรมผลิตขยะเดือนละประมาณ 8,000-10,000 กิโลกรัม จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการหาแนวทางลดขยะ หลังจากดำเนินการมา 6 ปี ลดขยะลงได้ 75-80% แต่ขยะกลุ่มสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่เป็นจำนวนมากที่สุดคือ ขยะเศษอาหาร จึงเป็นที่มาที่เริ่มสนใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งโรงแรมศิวาเทลมีแผนการดำเนินงานในการนำขยะเศษอาหารมาทำเป็นปุ๋ย ใช้ปลูกผักในโรงแรมเป็นสวนบนดาดฟ้า (Rooftop Garden) และภายใน 4-5 ปีข้างหน้า เรื่องของ Zero Food Waste เป็นเรื่องที่โรงแรมจะให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก รวมถึงการมองย้อนกลับไปถึงกระบวนการทำงานในการออกแบบเมนูอาหารทั้งหมดของโรงแรม ให้เหลือขยะเศษอาหารออกมาให้น้อยที่สุด

“ความท้าทายคือการใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในกระบวนการทำอาหาร ใช้วัตถุดิบแต่ละอย่างมาเป็นเมนูอาหารให้ได้มากที่สุด คุ้มค่าที่สุด อาทิเช่น กระดูกปลา เชฟของโรงแรมจะนำไปอบให้แห้ง เผา แล้วเอาไปทำเป็นส่วนผสมของซอสเทอริยากิ หรือเปลือกกุ้งเปลือกปู เชฟก็จะนำไปทำเป็นซุป นอกจากจะช่วยลดขยะเศษอาหารแล้วยังเป็นจุดดึงดูดความสนใจผู้บริโภคได้อีกด้วย ที่สำคัญเมื่อลดต้นทุนได้ กำไรก็เพิ่มขึ้น ถ้าผู้ประกอบการรายอื่นสนใจจะเริ่มนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ในธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยอดขายอาจจะไม่มาก จึงควรกลับไปทบทวนกระบวนการทำงานทั้งหมดว่าที่ผ่านมาสูญเสียอะไรไปบ้าง ไปหยิบตรงนั้นกลับมาทำให้เป็นสินค้าหรือบริการใหม่ เป็นแหล่งรายได้ใหม่ ควบคู่ไปกับการช่วยลดต้นทุนขององค์กร และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย” นางสาวอลิสรา กล่าว

สำหรับรูปแบบการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในภาคธุรกิจ นางสาวธันยพร กล่าวว่า ในช่วงแรกอาจจะมองเรื่องการจัดการของเสีย แต่เมื่อย้อนกลับมาคิดแล้ว ควรคำนึงถึงการจัดการตั้งแต่ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการบริการ มองกลับมาที่วัตถุดิบ สร้างสมดุลของเศรษฐกิจ ด้วยการทำให้ต้นทุนของการผลิตต่ำลง และธุรกิจยังอยู่ได้เรื่อยๆ นวัตกรรมความคิดด้านนี้จะทำให้ภาคธุรกิจมองการทำงานไปในระยะยาวตลอดกระบวนการผลิต เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดแบบใหม่ให้กับการดำเนินธุรกิจ มีแผนภูมิการเชื่อมโยงของกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ต้นทาง คนที่ทำงานด้านของกระบวนการออกแบบหรือคนที่ออกแบบเส้นทางธุรกิจ จะได้มาเจอกับนักนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ นักวิจัยและพัฒนา หรือดีไซน์เนอร์ ที่เข้ามาช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ ส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องของสังคมและชุมชนด้วย

ในแง่ของการสนับสนุนการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของคนในภาคธุรกิจให้เข้าใจแนวคิดการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) และสามารถนำไปประยุกต์ใช้โดยการเขียนแผนแม่บทของธุรกิจตัวเองได้ จึงมีความร่วมมือกับ สอวช. และ CIRCO จากประเทศเนเธอแลนด์ ในการจัดอบรมการออกแบบวิธีการหรือกระบวนการคิดขององค์กร ทำให้เกิดความตระหนักในการทำธุรกิจ การใช้ทรัพยากรและการมองไปถึงโอกาสในอนาคต โดยเปิดให้มีการอบรม 100 ผู้ประกอบการ ผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้มาฝึกทักษะ และนำเอาความรู้ที่ได้ไปต่อยอดธุรกิจ หรือปรับแผนธุรกิจให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ได้มากขึ้น

ด้าน นางสาวอลิสรา หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรม Circular Design กล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้จากการอบรมในโครงการรุ่นที่ 1 ว่า การที่ได้เจอเพื่อนๆ ผู้ประกอบการท่านอื่น เห็นวิธีการทำงาน วิธีคิดที่หลากหลาย และมีโค้ชมาให้คำแนะนำ ช่วยเปิดมุมมองความคิดในการทำงานให้กว้างขึ้น มีเครื่องมือช่วยให้เรียบเรียงความคิดได้เป็นระบบ สอนให้มองหาโอกาสจากกระบวนการทำงานที่เกิดขึ้น และนำมาปรับกระบวนการในการลงมือทำต่อไป ช่วยเสริมความตั้งใจในการทำงานให้มีความชัดเจน รวมถึงช่วยสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ชัดเจนในใจลูกค้าด้วย

ในช่วงท้าย นางสาวธันยพร ได้ฝากไปถึงผู้ประกอบการ ให้ลองตั้งคำถามถามตัวเองว่า การทำธุรกิจในวันนี้จะเป็นภาระอะไรให้กับสิ่งแวดล้อมหรือลูกหลานในอนาคตบ้าง ธุรกิจที่ไม่เป็นภาระกับใคร ธุรกิจนั้นถึงจะอยู่รอด นอกจากนี้ยังให้ความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และจะเกิดประโยชน์ได้จริงจากการสนับสนุนของทุกฝ่าย

ด้าน ดร.กิติพงค์ กล่าวเสริมว่า เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องใกล้ตัวเรา อยู่กับสิ่งที่เราทำ เพียงแต่จะต้องปรับวิธีการคิดใหม่ ไม่ใช่หวังเพียงกำไรระยะสั้นเท่านั้น แต่มองไปถึงการทำธุรกิจที่จะเกิดความยั่งยืน และเกิดประโยชน์องค์รวมต่อธุรกิจของเราและคนรุ่นหลังทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า อาจเริ่มจากการลองวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ อะไรที่ไม่ยั่งยืน อะไรที่เป็นการสูญเสีย และอะไรที่เป็นโอกาส คิดไปถึงคนที่อยู่รอบตัวเรา ทำงานร่วมกับเรา ให้ได้ประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน เศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในอนาคต ประเทศไทยจะต้องมีการขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไป สอวช. และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยเองก็มีการสนับสนุน การทำงานร่วมกันในเชิงของนโยบาย การแพร่กระจายความรู้ รวมไปถึงการเอากระบวนการคิดเชิงระบบ Design Thinking มาใช้ ซึ่งผู้ที่สนใจก็สามารถที่จะเข้ามาร่วมในกิจกรรมเหล่านี้ได้ สำหรับโครงการ CIRCO กำลังเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าอบรมในรุ่นที่ 2 สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัสดุ บรรจุภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภค ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ติดตามข้อมูลโครงการได้ที่ https://globalcompact-th.com/news/detail/133 หรือติดต่อสอบถามได้ที่ คุณดลฌา วงษาจันทร์ (ผู้ประสานงานโครงการ) โทร.097-293-5556 อีเมล Dollacha@globalcompact-th.com

Tags:

เรื่องล่าสุด