สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ Thai SCP Network จัดกิจกรรมระดมสมองผ่านระบบการประชุมออนไลน์ต่อเนื่อง ภายใต้โครงการบูรณาการและขับเคลื่อนภาคส่วนของไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน CE Innovation Policy Forum ครั้งที่ 2 โดยในครั้งนี้เป็นเป็นการวิเคราะห์ของกลุ่มท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาและอุปสรรคการดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ปัจจัยความสำเร็จ และออกแบบ CE Tourism โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สยาม อรุณศรีมรกต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนา ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคการศึกษา และชุมชนที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 60 คน
รศ.ดร.สยาม ได้สรุปความเห็นของการระดมสมองในภาคส่วนการท่องเที่ยวและบริการที่เคยจัดขึ้นก่อนหน้านี้ว่า การนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้กับการท่องเที่ยวจะต้องมีการสนับสนุนให้แหล่งท่องเที่ยวและสถานประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวใช้มาตรฐานที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ The Global Sustainable Tourism Council (GSTC) ต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าและบริการที่ใช้ในภาคการท่องเที่ยว เพื่อสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สามารถต่อยอดและขยายผลได้ นอกจากนี้ต้องมีการพัฒนาตัวชี้วัดของเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถวัดค่าฐาน (Baseline) กำหนดเป้าหมายและติดตามผลการดำเนินการต่อไปได้
ในส่วนของภาคนโยบายต้องสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนในการดำเนินการด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เนื่องจากการเปลี่ยนสินค้าบริการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นมีต้นทุนสูง ต้องมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน รวมถึงแนวทางในการสร้างความตระหนัก รวมถึงสร้างโมเดลแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมา ในภาคเอกชนเองก็จะต้องบริหารจัดการโดยพิจารณาให้ครอบคลุมทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานและต้องมีเครือข่ายที่ชัดเจน เช่น Thai SCP Network เป็นต้น ด้านผู้บริโภค จะต้องทำให้เข้าถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ง่าย และต้องเสริมสร้างความรู้และความตระหนักให้พวกเขาควบคู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการระดมสมองครั้งนี้ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) ได้มีการวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค โอกาส ความเสี่ยง ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ทั้งในมิติบริษัทท่องเที่ยว ที่พักและชุมชน โดยในแง่ของบริษัทท่องเที่ยว มีจุดแข็งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสนใจในการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สนใจในวิทยาการใหม่ๆ ในแวดวงเศรษฐกิจหมุนเวียน อีกทั้งยังมีเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานในระบบนิเวศของการท่องเที่ยวที่ให้ความสนใจจะมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ในขณะที่ยังมีจุดอ่อนคือบุคลากรนำเที่ยวยังขาดองค์ความรู้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน มีบุคลากรจำนวนน้อยที่จะเข้าใจการทำงานในรูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน และยังขาดการนำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร แต่ในด้านโอกาสยังมีอยู่จากการที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจและมีแนวโน้มยินดีจ่ายเพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งภาครัฐเริ่มตื่นตัวและสนับสนุนให้มีการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นักวิชาการให้ความสนใจในการทำงานวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการที่ทำเรื่องการท่องเที่ยวแนวเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น และการทำธุรกิจตามแนวทางนี้ยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดได้อีกด้วย
ด้านผู้ประกอบการที่พักมองว่าจุดแข็งคือการมีนโยบายและการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การออกแบบที่พัก บริการ และกิจกรรมให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาวิถีถิ่น เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้วยการสนับสนุนสินค้าและการจ้างงานในท้องถิ่น แต่ก็มีอุปสรรคที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการส่งเสริมและบริหารงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นไปได้ยาก อีกส่วนสำคัญคือปัญหาการจัดการขยะ ที่ยังขาดระบบจัดการขยะตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ขาดธุรกิจที่เข้ามารองรับระบบการดำเนินงานอย่างครบวงจร เช่น ไม่มีแหล่งรับซื้อขยะ พื้นที่จัดเก็บขยะที่คัดแยกไม่เพียงพอ และหากชุมชนกำจัดขยะเองด้วยการเผาหรือฝังกลบก็จะทำให้เกิดปัญหาสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและมลพิษตามมา
ในมุมของชุมชนให้ความเห็นว่าการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาใช้ในภาคการท่องเที่ยวจะทำให้ชุมชนมีสิ่งแวดล้อมที่ดี สะอาด และมีความพร้อมรับนักท่องเที่ยว มีมาตรฐานความยั่งยืน รองรับทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน สามัคคีกันในการรวมกลุ่มเพื่อทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในชุมชน สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีในท้องถิ่นมาช่วยเพิ่มมูลค่าในการท่องเที่ยวได้ ส่วนอุปสรรคที่สำคัญคือแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมมากขึ้น และความชัดเจนในการดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวของหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ อีกทั้งภัยพิบัติและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยลง สวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่ม แต่ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ
การแลกเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ประสบผลสำเร็จ ในเวทีพูดคุยได้ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องระบบการจัดการขยะ ที่นับว่ายังเป็นจุดอ่อนและความท้าทายของประเทศไทย ที่ยังขาดการจัดการที่ดี ตามสถานที่ท่องเที่ยวหรือสถานประกอบการหลายแห่งไม่มีบริการจัดการขยะอย่างครบวงจร ทำให้ขยะ ไม่ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง ไม่เกิดการหมุนเวียน และยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา ส่วนการจะส่งเสริมเรื่องการจัดการขยะอย่างถูกวิธีต้องเริ่มจากต้นทาง อย่างการแยกขยะในบ้าน สถานประกอบการ หรือส่วนที่เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล เพื่อให้ขยะออกสู่สาธารณะในปริมาณน้อยที่สุด อีกส่วนสำคัญที่มีการเน้นย้ำคือการทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่เห็นความสำคัญกับการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการเพิ่มองค์ความรู้ ให้หน่วยงานของจังหวัดตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยตรง และต้องมีการลงมือขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนอย่างจริงจัง
ฝั่งผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเช่นเดียวกัน เริ่มจากการคิดออกแบบหมุนเวียนอย่างครบวงจรสำหรับภาคการท่องเที่ยวและบริการ ตั้งแต่ระบบการเดินทาง กิจกรรม อาหาร ที่พัก ของชำร่วย หรือสินค้าสำหรับจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว ต้องคำนึงถึงการออกแบบบนพื้นฐานอัตลักษณ์ชุมชนของแต่ละพื้นที่ นำขยะหรือของเหลือมาใช้หมุนเวียนเพิ่มมูลค่าให้เป็นสินค้าใหม่ ผ่านการ Upcycling หรือ Recycle ช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน เกิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมถึงต้องมีระบบการบริหารจัดการของเสีย ขยะ หรือของเหลือใช้ ซึ่งกลไกเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ ในส่วนของภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุนการสร้างแรงจูงใจ เช่น มาตรการทางภาษี การประชาสัมพันธ์ การเชื่อมโยงเครือข่ายเศรษฐกิจหมุนเวียนระหว่างประเทศ ซึ่งแผนการเหล่านี้ต้องมีความชัดเจนในการส่งเสริมตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น