messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมเวที ทปอ. แนะแนวทางจัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัยไทย สร้างโอกาสการเติบโต ด้านเทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม นำไปสู่การหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

สอวช. ร่วมเวที ทปอ. แนะแนวทางจัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัยไทย สร้างโอกาสการเติบโต ด้านเทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม นำไปสู่การหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

วันที่เผยแพร่ 4 สิงหาคม 2021 3198 Views

(3 สิงหาคม 2564) ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับเชิญจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อบรรยายและแลกเปลี่ยน “แนวทางการจัดทำ Holding Company และกลไกลการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย” ผ่านระบบออนไลน์ ในการประชุมคณะกรรมการวิจัยและนวัตกรรม ทปอ. ครั้งที่ 4/2564 ซึ่งมีรองอธิการบดีที่ดูแลเกี่ยวกับการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยและสถาบันสมาชิก ทปอ. กว่า 35 แห่ง เข้าร่วมการประชุม เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานการจัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัย

ในช่วงต้นของการบรรยาย ดร. กิติพงค์ ให้ข้อมูลถึงมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพีต่อคนต่อปีที่ประเทศไทยมีการเติบโตค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างสิงคโปร์ ที่มีการทำเรื่องเทคโนโลยี และทำ Holding Company มาเป็นเวลามากกว่า 20 ปี หรือเกาหลีใต้ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในประเทศอย่างมากเช่นเดียวกัน และจากข้อมูลของธนาคารโลกตั้งแต่ปี 1980 จนถึงปี 2020 อัตราการเติบโตของจีดีพีต่อปีของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

เมื่อมองถึงโครงสร้างการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา พบว่าไม่มีการเติบโตในกลุ่มสินค้าไฮเทค ในขณะเดียวกันบริษัทใหญ่ 10 อันดับแรกในตลาดหุ้นไทยทั้งหมดอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจแบบเก่า (Old Economy) ต่างจากในสหรัฐอเมริกาที่เป็นกลุ่มบริษัทไฮเทค ประเทศไทยจึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น ซึ่งส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้คือการทำเรื่องเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม รวมถึงการสร้างและขายการเติบโตของผู้ประกอบการ/ธุรกิจฐานนวัตกรรมให้มากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าในการเพิ่มผู้ประกอบการ/ธุรกิจฐานนวัตกรรมที่มียอดขาย 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย และมี 5 บริษัทเข้าไปอยู่ในกลุ่มบริษัทชั้นนำของโลก Fortune Global 500 Biggest Company ด้วย นอกจากนี้ข้อมูลจาก Crunchbase พบว่าตัวเลขมูลค่าการระดมทุนของสตาร์ทอัพไทยในไตรมาสแรกของปี 2021 อยู่ที่ 1,058 ล้านเหรียญ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.2 ของจีดีพีเท่านั้น โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะเพิ่มค่าใช้จ่ายทางการวิจัยและพัฒนา (GERD) ต่อจีดีพีให้ขึ้นไปเป็นร้อยละ 2 สอวช. จึงให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพควบคู่กับการหนุนให้มีการริเริ่มในมหาวิทยาลัย

“จากข้อมูลของ Massachusetts Institute of Technology (MIT) พบว่า ระบบนิเวศนวัตกรรมที่สนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม หรือ IDE (Innovation-Driven Enterprise) มีปัจจัยสำคัญ 5 ส่วนที่ต้องทำงานร่วมกัน คือ 1) ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในประเทศ 2) Risk Capital ที่ลงทุนในนวัตกรรมที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ต้องบริหารจัดการความเสี่ยงให้ได้ 3) องค์กร ที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการตลาดและขยายตลาดไปสู่เวทีโลก 4) ภาครัฐ ที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือให้ถูกจุด ส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของระบบนิเวศนวัตกรรม 5) มหาวิทยาลัย ที่เป็นแหล่งความรู้และสำคัญมากต่อการเกิดขึ้นของธุรกิจฐานนวัตกรรม เพราะมีทั้งเรื่องการผลิตคน การสั่งสมและเชื่อมโยงเทคโนโลยี และมีภาคีเครือข่ายความร่วมมือ รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดให้ใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ซึ่งในส่วนความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวง อว. ก็มีความคืบหน้าไปมากในหลายส่วนทั้งด้านการสร้างผู้ประกอบการ/ธุรกิจฐานนวัตกรรม การสร้างกลไกตลาดนวัตกรรม การลดความเสี่ยงภาคธุรกิจ การสร้างแรงจูงใจ/สิทธิประโยชน์ ด้านการเงิน/คลัง การลงทุนที่แรงพอ การปรับโครงสร้างระบบสนับสนุนและระบบบริหารจัดการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่มีประสิทธิภาพ  การเพิ่มสมรรถนะวิจัย โครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม (วทน.) และบุคลากรมีคุณภาพ รวมถึงการปลดล็อกกฎหมาย/กฎระเบียบ ที่เอื้อต่อการวิจัยและนวัตกรรมของภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีการทำเรื่องแนวทางการจัดตั้ง Holding Company ของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐด้วย” ดร. กิติพงค์ กล่าว

สำหรับ University Holding Company เป็นกลไกการบริหารการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมอย่างมืออาชีพ เป็นหน่วยธุรกิจ มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกมาจากมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่บริหารธุรกิจอย่างมืออาชีพ มีความยืดหยุ่นสูง มีการบริหารการลงทุนเพื่อนำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย ออกไปจัดตั้งธุรกิจ (Spin-off) เมื่อจัดตั้งขึ้นแล้วเอกชนสามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้ ตัวอย่างกรณีศึกษาในต่างประเทศที่มีการจัดตั้ง Holding Company อาทิเช่น Tsinghua Holding Co., Ltd. และ Tus-holding Co., Ltd. ในประเทศจีน LiU Holding ในประเทศสวีเดน Industrial Technology Investment Corporation (ITIC) ในไต้หวัน ส่วนในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่เริ่มจัดตั้ง Holding Company แล้ว ได้แก่ CU Enterprise ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บจก. อ่างแก้ว โฮลดิ้ง ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บจก. M Venturer ของมหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท นววิวรรธ จำกัด ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ TUIP ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรูปแบบการจัดตั้ง Holding Company ของมหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มจัดตั้งได้เพียง 1-2 ปี ขนาดบริษัทยังมีขนาดเล็ก (0.25-200 ล้านบาท) โดยมหาวิทยาลัยเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนเกือบ 100% และมีคณะผู้บริหารบริษัทเป็นผู้บริหารจากมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่จัดตั้งจะมีฐานงานวิจัยที่พร้อมใช้ประโยชน์ แต่ในการลงทุนยังไม่กล้าลงทุนเป็นตัวเงิน แต่เน้นลงทุนด้วยอสังหาริมทรัพย์ (Investment Property: IP)

จากการศึกษาของ สอวช. พบว่า ข้อจำกัดของการร่วมลงทุนของสถาบันอุดมศึกษา/สถาบันวิจัยกับภาคเอกชน ผ่านกลไก Holding Company แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ 1) กฎระเบียบ (Regulatory) ยังขาดความเข้าใจเรื่องการจัดตั้งและสถานภาพของ Holding Company มีข้อจำกัดในการดำเนินงาน ความยืดหยุ่น การตัดสินใจ และความรับผิดชอบของผู้บริหาร 2) การส่งเสริม ยังขาดความชำนาญและความสามารถในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมของบุคลากรมืออาชีพ และ 3) เงินทุน บางมหาวิทยาลัยมีงบประมาณจำกัดในการลงทุน หรือบางมหาวิทยาลัยมีงบประมาณ แต่ขาดกลไกหรือมีข้อจำกัดทางกฎระเบียบภายในในการร่วมลงทุน

ทั้งนี้ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มีนโยบายเกี่ยวกับ University Holding Company คือ สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งและดำเนินการ Holding Company ได้ตามกฎหมาย โดยจัดทำแนวทางปฏิบัติ (Guideline) เพื่อสร้างความเข้าใจ, ส่งเสริมด้านเงินทุนในการร่วมลงทุนของ University Holding Company, กระทรวง  อว.สนับสนุนการปรับปรุงระเบียบภายในมหาวิทยาลัยให้เอื้อต่อการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม รวมถึงสภานโยบายฯ ส่งเสริมมหาวิทยาลัยสร้าง Spin-off/startup เป็นต้น สำหรับการจัดทำแนวทางปฏิบัติ (Guideline) เพื่อการจัดตั้งและดำเนินการ Holding Company ที่ สอวช. จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัตินำไปใช้ในการจัดตั้งและดำเนินงาน Holding Company ได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส โดยมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง, แนวทางการจัดตั้ง Holding Company, การกำกับดูแล, การส่งเสริมและสนับสนุนการนำความรู้ ผลงานวิจัย หรือนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ รวมถึงเรื่องของบุคลากรทั้งในการคัดเลือกสรรหา และสนับสนุนการสร้าง พัฒนาบุคลากรมืออาชีพเพื่อมาปฏิบัติงาน

ดร. กิติพงค์ ยังได้เพิ่มเติมในตอนท้ายของการบรรยายว่า ประเทศไทยยังมีผลงานวิจัยที่ออกมาเป็นสิทธิบัตรจำนวนไม่มากนัก ในขณะที่การลงทุนเรื่องการวิจัยและพัฒนาเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องมีการกระตุ้นให้อาจารย์หรือนักวิจัยในมหาวิทยาลัยทำวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ต้องมีความยืดหยุ่นในการให้อาจารย์หรือนักวิจัยสามารถนำผลงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ มีช่วงเวลาการทำงานทั้งในมหาวิทยาลัยและทำงานกับบริษัท โดยมีกฎระเบียบกติการะบุให้ชัดเจน

Tags:

เรื่องล่าสุด