สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ Thai SCP Network และโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG Move จัดกิจกรรมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้โครงการบูรณาการและขับเคลื่อนภาคส่วนของไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน CE Innovation Policy Forum ในกลุ่มการเงินและตลาดทุน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 โดยมี ดร. ไชยยศ บุญญากิจ รองประธานเครือข่าย Thai SCP ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีรวุฒิ ศรีพินิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนายนพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO นอนนอน บริษัทสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีรวุฒิ และ รองศาสตราจารย์ ดร. สยาม อรุณศรีมรกต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้สนใจทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน นักลงทุน รวมถึงหน่วยงานด้านนโยบายเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้กว่า 80 ท่าน
จากการลงนามความร่วมมือระหว่าง สอวช. และเครือข่าย Thai SCP ในโครงการพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกันเป็นระยะเวลา 5 ปี ดร. ไชยยศ ให้ข้อมูลถึงโครงการย่อยที่กำลังดำเนินการในปี 2564 รวม 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่ 1 การศึกษาความเป็นไปได้ของหน่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย หรือ Thailand Circular Economy Hub และโครงการที่ 2 โครงการบูรณาการและขับเคลื่อนภาคส่วนของไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy Innovation Policy Forum ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิดเห็นให้เกิดการตั้งประเด็น เกิดการบูรณาการและขับเคลื่อนภาคส่วนของไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยจะนำข้อคิดเห็นที่ได้ไปพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการสร้างนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป
ในประเด็นเรื่องทิศทาง บทบาทและโอกาสของภาคการเงินในบริบทเศรษฐกิจหมุนเวียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีรวุฒิ กล่าวว่า ในเรื่องของโอกาส แต่ละภาคส่วนมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งหมด เมื่อภาคธุรกิจมีโอกาส ภาคการเงิน นักลงทุน รวมถึงภาครัฐ ผู้สนับสนุนนโยบายก็มีโอกาสในการสนับสนุนทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มเข้ามาคือความเข้าใจร่วมกันของทุกภาคส่วน ที่สำคัญคือต้องเรียนรู้ว่าโอกาสจะมาพร้อมกับการเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมอง จากการอยู่ในระบบเศรษฐกิจดั้งเดิมที่เป็นแบบเส้นตรง ผลิต ซื้อ ขาย บริโภค ทิ้ง มองว่าเป็นความเคยชิน เห็นความเสี่ยงของธุรกิจในระดับต่ำ ให้หันไปมองถึงผลกระทบทางทรัพยากรมากขึ้น และปรับมุมมองเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เห็นว่ามีความเสี่ยงสูงให้เป็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่มีแนวโน้มช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว
“สิ่งที่ภาคการเงินจะช่วยได้มากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน คือมุมมองในเรื่องการจัดการความเสี่ยง หาทางเลือกใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการ ผู้เล่นหลัก ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการทางการเงิน และผู้กำหนด/ออกแบบนโยบาย จำเป็นต้องมาทำงานร่วมกัน มองในมุมมองใหม่ สร้างโอกาสใหม่ เผชิญกับความเสี่ยงใหม่ ลดความเสี่ยงเดิม สิ่งที่จำเป็นอย่างมากที่จะทำให้เกิดความเข้าใจภาพรวมในเรื่องนี้คือการกำหนดตัวชี้วัดใหม่ที่ต้องคำนึงถึงผู้เกี่ยวข้อง ต้องสร้างมาตรฐานให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสุดท้ายคือการมีแนวปฏิบัติให้สามารถเดินไปตามทิศทางที่วางแผนเอาไว้ ซึ่งนี่เป็นส่วนที่นักนโยบายและภาครัฐ จะต้องริเริ่มเข้ามาช่วยกันในการกำหนดขึ้น ซึ่งภาคการเงินพร้อมสนับสนุน เพียงต้องสร้างความเข้าใจร่วมกัน ผ่านการมีมาตรฐานที่เป็นตัวชี้วัดเดียวกัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีรวุฒิ กล่าว
สำหรับบทบาทของตลาดทุนกับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน นางพิมพรรณ เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยส่งเสริมการเปลี่ยนความกดดันทางสิ่งแวดล้อม เป็นโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันนักลงทุนและผู้บริโภคเอง มีความต้องการที่ละเอียดอ่อนขึ้น การเลือกซื้อสินค้าหรือการลงทุน ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่เพียงเรื่องคุณภาพ หรือสิ่งที่ชอบเท่านั้น แต่ต้องทำให้รู้สึกดี รู้สึกมั่นคง รู้สึกมีส่วนร่วมในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ไปสร้างผลกระทบเชิงลบให้กับสิ่งแวดล้อมหรือสังคม แรงกดดันเหล่านี้ทำให้ภาคเอกชนต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดกระแส ESG (Environmental, Social, and Governance) หรือ กรอบการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในตลาดทุนโลกและตลาดทุนไทยมากขึ้น
พันธกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการเตรียมความพร้อมและเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทจดทะเบียน ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ และเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธุรกิจทุกภาคส่วน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเร่งพัฒนา ESG Professional ผู้ที่จะทำหน้าที่ในการผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้าไปในการดำเนินธุรกิจ ให้เพียงพอและทันต่อความต้องการ ทั้งทางฝั่งผู้ประกอบกิจการ บริษัทจดทะเบียน และฝั่งสถาบันตัวกลาง ผู้ลงทุน เพื่อเร่งยกระดับคุณภาพบริษัทของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดให้ดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่องและมีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตในระยะยาว
ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ขับเคลื่อนเรื่อง ESG ในฝั่งบริษัทจดทะเบียนด้วย SET Sustainability Model เริ่มจากการตั้งมาตรฐาน แนวทางปฏิบัติ ทำให้เกิดการนำไปใช้จริง ปีที่ผ่านมามีการทำเรื่องการวิเคราะห์หาประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการอยู่รอดและความยั่งยืนของบริษัท วิเคราะห์ทั้งห่วงโซ่คุณค่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อมองหาความเสี่ยงและโอกาสในการประกอบธุรกิจ นำไปสู่การสร้างกลยุทธ์ที่ยั่งยืนของบริษัทนั้นๆ ในส่วนสถาบันตัวกลางและผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าไปทำงานกับสมาคมต่างๆ ในตลาดทุน เพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจบุคลากรในเรื่องของการลงทุนอย่างยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหลักประกอบกิจการธุรกิจแนวใหม่ เป็นการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลให้ทั้งธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดได้รับผลตอบแทนทั้งรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากผู้ประกอบการมีความตระหนัก มีความรู้ ความเข้าใจ มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มาสนับสนุน มีนโยบาย มีกลไก แรงจูงใจ มีกฎเกณฑ์มากระตุ้น มีเครือข่ายความร่วมมือ การร่วมพัฒนาที่เข้มแข็ง ที่สำคัญมีความต้องการของผู้บริโภคและนักลงทุน จะสามารถนำไปสู่นวัตกรรมและการยกระดับคุณภาพการดำเนินงานให้เกิด Critical Mass ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในวงกว้างได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
ฝั่งผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่าง บริษัท นอนนอน หนึ่งในสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน นายนพพล ได้แบ่งปันถึงแนวทางการประกอบธุรกิจ จากการเป็นสตาร์ทอัพที่มีแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ต้องการเปลี่ยนระบบการบริโภคจากเดิมที่ต้องซื้อสินค้า ใช้ ทิ้ง เกิดขยะ มาเป็นระบบเช่า ใช้ คืน รีไซเคิล โดยเน้นไปที่สินค้าที่นอนในธุรกิจที่พัก ซึ่งเป็นการสานต่อธุรกิจจากครอบครัวโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการขาย เป็นการเช่า ด้วยเห็นถึงปัญหาของธุรกิจที่พักว่าหลายธุรกิจที่พักยังเข้าไม่ถึงที่นอนคุณภาพสูงเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ อีกทั้งยังไม่มีวิธีการทิ้งที่นอนอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรมและสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่นำไปฝังกลบ เผาทำลายหรือทิ้งตามแหล่งน้ำ ทำให้ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามมา ซ้ำร้ายคือการรีไซเคิลที่นอนยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ทำเงินเพราะค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลที่นอนค่อนข้างสูงไม่คุ้มค่ากับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทั่วโลกมีที่นอนที่ถูกทิ้งหลายร้อยล้านชิ้นต่อปีก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมหาศาล
“สิ่งที่เราคิดขึ้นมาคือแพลตฟอร์มให้เช่าที่นอนใหม่สำหรับธุรกิจที่พัก ผ่านกลไกการซื้อที่นอนคุณภาพสูงจากผู้ผลิต โดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเงิน (Debt Financing) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของหุ้นกู้สีเขียว หรือ ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green bond) จากนั้นนำสินค้าส่งไปให้ลูกค้าใช้บริการ และชำระค่าบริการเป็นรายเดือน เมื่อจบสัญญาเช่าจะรับที่นอนกลับมาแยกชิ้นส่วนนำไปรีไซเคิลให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีการผนวกเอาค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลไปอยู่ในค่าเช่าแต่ละเดือน ทำให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการรีไซเคิลไปด้วย” นายนพพล กล่าว
สำหรับความท้าทายในการระดมทุนที่ผ่านมา นายนพพล มองว่า ในภาพรวมนักลงทุนยังกังวลเรื่องของความใหม่ของธุรกิจ ส่วนใหญ่ยังอยากเห็นโมเดลธุรกิจที่ได้รับการพิสูจน์แล้วหรือประสบความสำเร็จแล้วในต่างประเทศ เมื่อเป็นธุรกิจใหม่จริงๆ จึงทำให้เกิดความลังเลในการลงทุน อีกทั้งธุรกิจของบริษัทยังเป็นธุรกิจที่ใช้เงินทุนค่อนข้างเยอะ และต้องอาศัยเงินทุนจากตลาดหนี้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ ในส่วนของการทำวิจัย มีความเป็นไปได้ที่บริษัทฯ อาจไม่ค้นพบเทคโนโลยีรีไซเคิลที่นอนที่คุ้มกับค่าใช้จ่ายได้
ในการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญให้ทุกฝ่ายได้มาร่วมแบ่งปันความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทาง และความต้องการที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในแง่แนวทางการสนับสนุน การขับเคลื่อนด้านนโยบาย การอำนวยความสะดวกจากสถาบันการเงิน และแนวคิดจากนักวิชาการ ซึ่งการระดมความคิดในการสัมมนาออนไลน์นี้จะมีต่อเนื่องอีกในครั้งถัดไป เพื่อพูดคุยถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขในรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การออกแบบแนวทางนโยบายร่วมกัน ซึ่ง สอวช. มีแนวทางเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนด้านเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการริเริ่มธุรกิจในด้านนี้ แต่ยังต้องมีการหารือเพิ่มเติมในด้านรูปแบบ กลไกในเชิงนโยบาย รวมถึงรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ อีกครั้ง