messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » เสนอพัฒนาเกษตรกรดั้งเดิม เป็นเกษตรอัจฉริยะ หวังเพิ่มขีดความสามารถส่งออกสินค้าและตรวจสอบย้อนกลับได้ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงผู้บริโภค ยกทุเรียนชูโรงส่งออกโด่งแม้ในสถานการณ์โควิด คาดปี 2568 ยอดพุ่งถึงปีละกว่า 1 ล้านตัน แนะใช้ดิจิทัลเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ต้นเหตุล่าช้าทำให้เกิดความเสียหาย

เสนอพัฒนาเกษตรกรดั้งเดิม เป็นเกษตรอัจฉริยะ หวังเพิ่มขีดความสามารถส่งออกสินค้าและตรวจสอบย้อนกลับได้ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงผู้บริโภค ยกทุเรียนชูโรงส่งออกโด่งแม้ในสถานการณ์โควิด คาดปี 2568 ยอดพุ่งถึงปีละกว่า 1 ล้านตัน แนะใช้ดิจิทัลเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ต้นเหตุล่าช้าทำให้เกิดความเสียหาย

วันที่เผยแพร่ 11 สิงหาคม 2021 992 Views

เป็นอีกหนึ่งกลุ่มนักออกแบบนโยบาย ที่ออกแบบข้อเสนอนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ภายใต้การอบรมหลักสูตร การออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 3

โดยทางกลุ่มได้นำเสนอ “ข้อเสนอนโยบายส่งเสริมการเกษตรให้มีมาตรฐานและแพลตฟอร์มดิจิทัลตรวจสอบย้อนกลับ” โดยได้วิเคราะห์สถานการณ์ส่งออกสินค้าเกษตรไทยกับประเทศเอฟทีเอ ปี  2563 (มกราคม -ธันวาคม)  แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ก็ตามแต่ปริมาณการส่งออกยังถือว่าอยู่ในปริมาณที่สูง โดยเป็นการส่งออกไปในตลาดโลกกว่า 1 ล้านล้านบาท และส่งออกไปยังประเทศกลุ่มเอฟทีเอ 9 ประเทศอีกจำนวนเกือบ  5 แสนล้านบาท  โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นการส่งออกผลไม้สด  1.64 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 104,258 ล้านบาท โดยผลไม้ที่มียอดส่งออกสูงสุดคือ ทุเรียน ส่งออกถึง 6.20 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 65,631 ล้านบาท

“ปัจจุบันมีเกษตรกรทั่วประเทศอยู่ราว 11.8 ล้านคน  โดยทางกลุ่มได้ยกเกษตรกรผลไม้แปลงใหญ่ขึ้นมาศึกษาโดยเฉพาะทุเรียน ที่สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยเกษตรกรนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระดับเกษตรกร 2.0 ขึ้นไป ทั้งนี้ จากการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พบว่าพื้นที่การปลูกทุเรียนปี 2558 จำนวนกว่า  6 แสนไร่ เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 ล้านไร่ในปี 2563 ซึ่งในส่วนที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นจนต้องส่งออกไปขายต่างประเทศ แม้จะมีสถานการณ์โควิดในปี 2563 ก็ยังสามารถส่งออกทุเรียนได้มากถึง 6 แสนตัน และคาดกันว่า ปี 2568 จะสามารถส่งออกทุเรียนได้กว่า 1 ล้านตัน” ผู้นำเสนอระบุ 

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มผู้นำเสนอมองว่า แม้ทุเรียนจะมีอนาคตที่สดใส แต่ก็พบว่ามีปัจจัยและความเสี่ยงของการส่งออกทุเรียน เช่น ทุเรียนอ่อน โรคแมลง สารพิษตกค้าง หรือจะเป็นเรื่องของทักษะของเกษตรกร ขาดความรู้ความเข้าในการเข้าถึงเทคโนโลยีและเข้าถึงข้อมูล นอกจากนี้ ยังขาดการจัดการที่ดี  ขาดมาตรฐานการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ ความล่าช้าในการขอมาตรฐาน เป็นผลมาจากขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน   ทางกลุ่มจึงได้เสนอว่า ควรส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับทุเรียนสด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างความตระหนักรู้และเตรียมพร้อมให้แก่เกษตรกรไทย เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดิจิทัล กลุ่มผู้นำเสนอยังระบุด้วยว่า จากการระดมสมองศึกษาระเบียบข้อมูล ตั้งโจทย์สัมภาษณ์ วิเคราะห์ และติดตามประเมินผล จนนำไปสู่กรอบแนวคิดและนโยบายการตรวจสอบย้อนกลับ ที่สามารถติดตามตรวจสอบกิจกรรมได้ทุกจุดตั้งแต่เกษตรกร ล้ง จุดคัดแยก การขนส่ง ไปจนถึงผู้บริโภคนั้น เราสามารถรู้ได้ว่า สินค้าที่เราสั่งซื้อมานั้นมีมาตรฐาน มีใบรับรองต่าง ๆ ว่าผ่านเกณฑ์อะไรบ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โปร่งใสและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าให้กับทุเรียนไทยด้วย

นอกจากนี้ ในด้านการจัดการห่วงโซ่คุณค่าของทุเรียนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำนั้น เกษตรกรยุคใหม่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยควบคุมการให้น้ำและใส่ปุ๋ย วัดค่าความชื้น ควบคุมการปริมาณการรดน้ำ บางรายใช้โดรนพ่นปุ๋ย ใช้ GPS ควบคุมเส้นทางเพื่อจัดการพืชผลทางการเกษตร ไปจนถึงการเก็บรักษา และขนส่งเพื่อควบคุมอุณภูมิให้ผลไม้คงความสดและคงคุณภาพได้ยาวนาน ก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภค นอกจากนี้สถานการณ์โควิด ยังเป็นตัวเร่งให้เกษตรกรใช้ดิจิทัล ในการทำการตลาดสินค้าออนไลน์ ตั้งแต่การสั่งซื้อ ไปจนถึงพยากรณ์ความต้องการของสินค้า ซึ่งเป็นช่องทางและโอกาสของเกษตรกรที่จะขยายตลาด ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์พบว่า ปัญหาสำคัญในด้านการขอมาตรฐานสินค้าส่วนใหญ่ ยังคงยึดเป็นเอกสารอย่างเดียว ซึ่งจะมีสองขั้นตอนเท่านั้นที่เป็นดิจิทัล คือ การขึ้นทะเบียนเกษตรกร และการขึ้นผ่านพิธีศุลกากร ก็คือการขอใบขนส่งสินค้าและใบกำกับขนย้าย จะเห็นได้ว่า เรามีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลแต่ละหน่วยงานจะขาดความเชื่อมโยงกัน ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการขอมาตรฐานอีกทั้งข้อมูลต่าง ๆ ยังไม่เป็นเรียลไทม์ ทำให้เสียโอกาสในการขนส่ง ทางกลุ่มจึงเสนอทางเลือกนโยบายเพื่อปิดช่องโหว่ดังกล่าว โดยการพัฒนากำลังคนด้านการเกษตรและดิจิทัล สร้างความตระหนักรู้และเข้าใจ และใช้มหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานทางการเกษตร ตลอดจนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับคุณภาพทุเรียน มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ จัดทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริมสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและ  ที่สำคัญควรแก้ไขกฎระเบียบและข้อกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา

“ข้อเสนอนโยบายนี้เป็นต้นแบบแพลตฟอร์มตรวจสอบย้อนกลับ ที่กลุ่มผู้นำเสนอคาดหวังว่าสินค้าเกษตรไทยชนิดอื่นจะสามารถเข้าสู่แพลตฟอร์มเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือโปร่งใสและปลอดภัยต่อผู้บริโภค และที่สำคัญเพื่อพัฒนาทักษะะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้กับเกษตรกรยุคดั้งเดิมให้เป็นเกษตรกรอัจฉริยะ” กลุ่มผู้นำเสนอระบุ

Tags:

เรื่องล่าสุด