messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ผลงานสำคัญของ สอวช. ในปี 2563 มิติที่ 6 : การเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านนโยบาย อววน. ในต่างประเทศ

ผลงานสำคัญของ สอวช. ในปี 2563 มิติที่ 6 : การเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านนโยบาย อววน. ในต่างประเทศ

วันที่เผยแพร่ 26 สิงหาคม 2021 887 Views

สำหรับผลงานในมิติสุดท้าย มิติที่ 6 เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ สอวช. ให้ความสำคัญ คือการเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในต่างประเทศ เพื่อให้มีข้อมูลเชิงลึกที่ทันสมัยและครอบคลุมเพื่อใช้ในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มีประสิทธิผล สร้างความเชื่อมโยงของเครือข่ายวิจัยและนวัตกรรมระหว่างประเทศ เกิดการผนึกกำลังความเชี่ยวชาญแบบไร้พรมแดน และช่วยยกระดับมาตรฐานงานวิจัยของไทยในเวทีโลก อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ ด้าน อววน. อีกด้วย

6 ผลงานสำคัญในมิติที่ 6 ประกอบด้วย

1. OECD STIP Compass

สอวช. จัดทำ STIP Compass Thailand Overview ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและข้อริเริ่มต่าง ๆ ในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ใน 7 ด้าน ประกอบด้วย 1) โครงสร้างการบริหารจัดการด้าน ววน. ของไทย 2) ระบบนิเวศการวิจัยของประเทศ 3) การพัฒนานวัตกรรมในภาคเอกชน 4) การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่ภาคอุตสาหกรรม 5) บุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม 6) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม และ 7) แนวโน้มที่น่าจับตาสำหรับนโยบายด้าน ววน. ข้อมูลและบทวิเคราะห์ข้างต้นจะอยู่ในระบบฐานข้อมูลระหว่างประเทศด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม STIP COMPASS ของ OECD ซึ่งเป็นผลดีให้ประเทศไทยมีข้อมูลนโยบายด้าน อววน. อยู่ในฐานข้อมูลระดับสากลที่ใช้ในการวัดระดับการพัฒนาการด้าน อววน.เพื่อเปรียบเทียบความสามารถระดับประเทศ และเพื่อให้นักลงทุนภาคเอกชนต่างชาติมีข้อมูลการให้ความสำคัญของนโยบายภาครัฐบาลในการพิจารณาการลงทุนระหว่างประเทศ

2. UNCTAD

สอวช. มีความร่วมมือกับองค์การการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) มาตั้งแต่ปี 2556 เมื่อ สอวช. ได้ขอรับความช่วยเหลือจาก UNCTAD ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญในโครงการ Science, Technology and Innovation Policy Review (STIP Review) มาพิจารณาประเมินสถานภาพและนโยบายของประเทศไทยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) และทาง สอวช. ได้จัดการฝึกอบรมเพื่อสร้างเสริมความสามารถของบุคลากรด้านการจัดการนวัตกรรมของไทยโดยได้รับความร่วมมือจาก UNCTAD ส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้การฝึกอบรมอีกหลายครั้ง ต่อมา สอวช. ได้ยกระดับความร่วมมือด้วยการเข้าร่วมงานกับคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (Commission on Science and Technology for Development: CSTD) โดยมี UNCTAD เป็นฝ่ายเลขานุการในฐานะประเทศสมาชิก CSTD จากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในวาระปี ค.ศ. 2015-2018 และวาระปี ค.ศ. 2019-2022 ซึ่ง การเข้าร่วม CSTD เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะบทบาทด้านการเสนอแนะทิศทางการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ด้าน วทน. เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของประเทศกำลังพัฒนาในเวทีสหประชาชาติ อีกทั้งเป็นโอกาสที่จะได้เสริมสร้างความร่วมมือด้าน วทน. ระหว่างประเทศไทยและประเทศสมาชิกสหประชาชาติ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สอวช. ได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนไทยอย่างสำเร็จเรียบร้อยในการประชุม CSTD ทุกครั้ง

3. ASEAN

สอวช. ได้รับมอบหมายเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการสำรวจข้อมูลและดัชนี วทน. ของอาเซียน (Stock-taking of ASEAN Science and Technology (S&T) Assets) ภายใต้การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้าน วทน. ของอาเซียน ปี 2559-2568 (ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation 2016-2025: APASTI) โดยจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อออกแบบ ผลักดัน ศึกษาและดำเนินการสำรวจข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลดัชนี วทน. ของอาเซียน นำเสนอเป็นผลงานประเทศไทยและส่งมอบรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อที่ประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งที่ 77 (COSTI-77) การประชุมคณะที่ปรึกษาของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งที่ 8 (BAC-8) เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์ต่อการผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้าน วทน. ของอาเซียน สำหรับการประชุมคณะที่ปรึกษาของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วย วทน. (Board of Advisers to Committee on Science, Technology and Innovation – BAC) ครั้งที่ 8 วันที่ 7-8 ตุลาคม 2562 ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ และครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 (informal virtual meeting) สอวช. เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนประเทศไทย และได้รับมอบหมายเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจโดยร่วมมือกับผู้แทนของประเทศสมาชิกในการระบุสิ่งส่งมอบเชิงยุทธศาสตร์สำหรับแผนปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของอาเซียน ปี 2559-2568 เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมต่อไป

4. Belt and Road Forum for International Cooperation

การประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation เป็นเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ” ซึ่งถือเป็นเวทีแสดงภาวะผู้นำของจีนครั้งสำคัญ และในขณะเดียวกันก็เป็นการสะท้อนเสียงตอบรับที่มากขึ้นจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ Belt and Road ของจีนที่เปิดตัวขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน

สอวช. ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าวและการประชุมที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้แทนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม อย่างต่อเนื่อง โดยจากบทบาทที่ผ่านมาของ สอวช. ในการส่งเสริม วทน. และการเป็นผู้ประกอบการ อันจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต สอวช. ได้เข้าร่วมในเครือข่าย STI Think Tank ซึ่งเป็นความร่วมมือในกลุ่มประเทศ Belt and Road ที่จัดตั้งขึ้นโดย Chinese Academy of Science and Technology for Development (CASTED) ซึ่งเป็นสถาบันภาครัฐที่สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีพันธกิจในการให้ข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์และคำปรึกษาเพื่อการตัดสินใจด้านการพัฒนา วทน. โดยมีจุดมุ่งหมายในการรวบรวม แลกเปลี่ยน และแบ่งปันองค์ความรู้ด้าน วทน. และเสริมสร้างการวิจัยร่วมกัน ในเรื่องกลยุทธ์และนโยบายด้าน วทน.ของกลุ่มประเทศสมาชิก Belt and Road เพื่อผลประโยชน์และความร่วมมือด้าน วทน. ระหว่างประเทศร่วมกัน

สอวช. ได้เข้าร่วมการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมเป็นเครือข่ายอย่างสมบูรณ์ ในการประชุม Pujiang Innovation Forum 2020 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ผ่านระบบออนไลน์ในธีม “ความไว้วางใจและปฏิสัมพันธ์ในนวัตกรรมและเทคโนโลยี” ซึ่งพันธมิตรในเครือข่ายได้แลกเปลี่ยนประเด็นความท้าทายที่แต่ละประเทศให้ความสนใจ ซึ่งหัวข้อที่ สอวช. นำเสนอและให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน คือ “การขจัดความยากจนในโลกหลังโควิด -19 กับบทบาท วทน.” โดยคาดว่าจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศในการส่งเสริมด้าน วทน. โดยเฉพาะนโยบายและนวัตกรรมที่เร่งด่วน อาทิ การขจัดความยากจน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

5. NEWTON UK-THAILAND RESEARCH AND INNOVATION PARTNERSHIP FUND

กองทุนความร่วมมือนิวตัน ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม ประกอบด้วยโครงการย่อย 3 ประเภท คือ การพัฒนาบุคลากร (People) สร้างเสริมศักยภาพ การแลกเปลี่ยนบุคลากรและการร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ การพัฒนาโครงการต่างๆ (Research) ความร่วมมือด้านงานวิจัยในหัวข้อด้านการพัฒนาต่างๆ การนำนวัตกรรมมาปรับใช้ (Translation) นำนวัตกรรมและงานวิจัยสู่สินค้าและบริการผ่านความร่วมมือต่างๆ

โดยกองทุนความร่วมมือนิวตันฯ นี้ เริ่มความร่วมมือกับประเทศไทยอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมามา สอวช. ได้ร่วมมือกับ Innovate UK และ National Endowment for Science Technology and the Arts (NESTA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักของสหราชอาณาจักร (UK Delivery Partners) ในการดำเนินโครงการ The Global Innovation Policy Accelerator (GIPA) เพื่อพัฒนาผู้บริหารระดับกำหนดนโยบายในระบบนวัตกรรมของหน่วยงานหลักในประเทศและสร้างเครือข่ายผู้กำหนดนโยบายนวัตกรรมระหว่างไทยประเทศในภูมิภาคอาเซียน และสหราชอาณาจักร ซึ่งกองทุนความร่วมมือนิวตันฯ ระยะที่สาม อยู่ในระยะดำเนินการ โดย สอวช. อยู่ระหว่างการพิจารณาการพัฒนาโครงการ Future Leaders in Innovation Policy (FLIP) ในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาผู้นำในอนาคตด้านการบริหารนโยบายและการจัดการนวัตกรรม พัฒนาเครือข่ายระหว่างไทย และสหราชอาณาจักร รวมถึงสนับสนุนการจัดทำต้นแบบหรือโครงการนำร่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระบบนวัตกรรมและสร้างโอกาสในการทำความร่วมมือระหว่างกัน

นอกจากนี้ ในปี 2563 สอวช. และบริติช เคานซิล (UK Delivery Partners) ได้ดำเนินโครงการร่วมกัน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ Famelab ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการพัฒนานักสื่อสารวิทยาศาสตร์ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างความตระหนักและความเข้าใจวิทยาศาสตร์ของเยาชนและประชาชน และโครงการ Institutional Links โดยเน้นการสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัย รวมทั้งสานสัมพันธ์ระหว่างสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาของไทยและของสหราชอาณาจักร

6. United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC

สอวช. ในฐานะผู้ประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งในและระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในปี 2563 สอวช. ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ริเริ่มดำเนินการพัฒนาแผนที่นำทางและฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Adaptation Technology Roadmap and Database) เพื่อประเมินความต้องการของประเทศด้านเทคโนโลยีและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาแผนที่นำทางเทคโนโลยีใน 6 สาขา คือ (1) การจัดการน้ำ (2) การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (3) การท่องเที่ยว (4) สาธารณสุข (5) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และ (6) การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ โดยแผนที่นำทางฉบับนี้ เป็นการทำงานต่อยอดจากการพัฒนาฐานข้อมูลและแผนที่นำทางเทคโนโลยีการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ซึ่ง สอวช. ได้ทำแล้วเสร็จเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา

จากผลการดำเนินงานที่เข้มแข็งของไทยในมิติความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ในอดีตส่งผลให้ไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศเพื่อดำเนินโครงการนำร่องของกรอบอนุสัญญาฯ ในปีข้างหน้า อาทิ โครงการ SME Clinic ของศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่ายของอนุสัญญาฯ (CTCN) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้นรวมทั้งเป็น 1 ใน 3 ประเทศ ที่จะร่วมนำเสนอแนวทางการยกระดับการดำเนินงานด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามความต้องการของประเทศ ในการประชุม Technology Action Plans SUPporting WEBinars (TAPSUPWEB) ซึ่งสำนักงานเลขาธิการของอนุสัญญาฯ จะจัดขึ้นแบบออนไลน์ในปี 2564

สำหรับหน่วยงานในประเทศไทยที่ต้องการรับการสนับสนุนทางวิชาการด้านเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้ CTCN สามารถส่งข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจาก CTCN ได้โดยผ่าน สอวช. ในฐานะผู้ประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

สามารถอ่านรายละเอียดผลงานสำคัญทั้งหมดของ สอวช. ในปี 2563 ย้อนหลังได้ ดังนี้

มิติที่ 1 : วางนโยบายทิศทางของประเทศ ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนา ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/8511/

มิติที่ 2 : ขับเคลื่อนระเบียบวาระการพัฒนาที่สำคัญตอบยุทธศาสตร์ชาติ ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/8559/

มิติที่ 3 : ออกแบบกลไกและแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนของประเทศ ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/8565/

มิติที่ 4 : การปฏิรูปเชิงระบบเพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ดี (System Reform) ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/8594/

มิติที่ 5 : การปลดล็อคกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Regulatory Unlock) ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/8678/

ผู้ที่สนใจอ่านรายละเอียดรายงานประจำปี 2563 ของ สอวช. สามารถติดตามอ่านฉบับเต็มได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/wp-content/uploads/2021/04/AnnualReport-2563.pdf

Tags:

เรื่องล่าสุด