messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » อว. จับคู่ 40 ทีม บัณฑิต-นศ. U2T กับ 20 หน่วยงานวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม Matching Day ยิ่งใหญ่ ด้าน สอวช. จับคู่กับ 2 มหาวิทยาลัยจากเชียงใหม่-เลย

อว. จับคู่ 40 ทีม บัณฑิต-นศ. U2T กับ 20 หน่วยงานวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม Matching Day ยิ่งใหญ่ ด้าน สอวช. จับคู่กับ 2 มหาวิทยาลัยจากเชียงใหม่-เลย

วันที่เผยแพร่ 1 กันยายน 2021 390 Views

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขา รมว.อว. ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษา รมว.อว ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วย รมว.อว. ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ประธานคณะทำงานด้านการจัดการสื่อสารโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ (U2T) ร่วมเปิดงาน U2T Matching Day ซึ่งเป็นการจับคู่ 40 ทีม U2T แฮกกาธอนที่ผ่านเข้ารอบจาก 8 ภูมิภาค กับ 20 หน่วยงานของ อว. ในรูปแบบออนไลน์ ที่สตูดิโอ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

โดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า การจัดกิจกรรม U2T Matching Day ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของ U2T โดยวันที่ 1 กุมภาพันธ์ อว. คิ๊กออฟโครงการ ถึงขณะนี้ เป็นเวลากว่า 7 เดือนแล้วที่เราส่ง 76 มหาวิทยาลัย บัณฑิต นักศึกษา ประชาชนที่ได้รับการจ้างงานกว่า 6 หมื่นคน ลงพื้นที่ทำงานใน 3,000 ตำบล ซึ่งช่วงของโควิด – 19 U2T มีการปรับเปลี่ยนบทบาทการทำงานมาสนับสนุนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยร่วมออกหน่วยปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเชิงรุกในชุมชน หรือ CCRT (Comprehensive COVID-19 Response Team) ใน 3,000 ตำบล โดยสนับสนุนการคัดกรอง ตรวจเบื้องต้นโดยวิธีหาแอนติเจน (ATK) ฉีดวัคซีน รวมทั้งทำกลไกกักตัวที่บ้านและชุมชน หรือ Home Isolation/ Community Isolation เราจึงเป็นกองหนุนที่มีคุณภาพและเชื่อใจได้

รมว.อว. กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรม U2T Matching Day เป็นผลต่อเนื่องมาจากการจัดแข่งขัน U2T แฮกกาธอน ซึ่งมีผู้สมัครมาเข้าร่วมกิจกรรมถึง 965 ทีม หรือกว่า 5,000 คน จาก 8 ภูมิภาค โดยรอบแรกได้ทำการคัดเลือกจาก 965 ทีม ให้เหลือ 300 ทีม จากนั้นจึงคัดเหลือ 40 ทีมสุดยอดผ่านเข้ารอบสุดท้าย เพื่อแข่งชิงแชมป์ประเทศจึงทำให้เกิดกิจกรรม Matching day ขึ้น โดยทีมที่ผ่านการคัดเลือก 40 ทีมจะจับคู่กับหน่วยงานภายใต้ อว. อีก 20 หน่วยงานมาร่วมบ่มเพาะการพัฒนานวัตกรรม รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ ได้ฝึกฝน ทดลอง ทดสอบกับทั้ง 20 หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านแตกต่างกันไป ถือเป็นการศึกษาแบบใหม่เพื่อการพัฒนาตนเองและพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ที่สำคัญกิจกรรมนี้จะทำให้ทีม U2T ได้รู้จักกับคนในพื้นที่ รู้จักนายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน U2T จึงเป็นโครงการที่บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คนที่ร่วมโครงการนี้จึงได้รับโอกาสครั้งสำคัญ เป็นโอกาสที่คนรุ่นก่อนไม่มี  โครงการ U2T เป็นของพวกเราทุกคน ไม่ใช่ของผู้ใหญ่ ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง เพื่อให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้เห็น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้น้องๆ รุ่นต่อจะได้เข้ามามีส่วนร่วม และอาจขยายผลไปอีก 4,000 กว่าตำบลจนครบทั้งประเทศ  ตนขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน เพราะทุกคนคือผู้กล้า ที่กล้าคิด กล้าแสดงออก เพื่อนำประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เพื่ออนาคตของพวกเราทุกคน

ด้าน ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กล่าวแสดงความยินดีกับทุกทีมที่ผ่านการคัดเลือกและได้มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการ U2T หรือ โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่รวมพลังนำศักยภาพของกระทรวง อว. ในการทำงานร่วมกับชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการนำองค์ความรู้การวิจัย นวัตกรรม และทรัพยากรมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ และพัฒนาประเทศ สำหรับกิจกรรม U2T Matching Day ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ยกระดับความเข้มข้นขึ้น ซึ่ง สอวช. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการบ่มเพาะ และให้คำปรึกษากับแต่ละทีมอย่างใกล้ชิด ร่วมกันกับหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยในเครือข่าย โดยเน้นการเสริมสร้างโอกาสในการพัฒนานวัตกรรม การเข้าสู่เครือข่ายเพื่อสร้างและพัฒนาธุรกิจ ให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งการเตรียมการติดตามความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอด้วย

สำหรับ 2 ทีมที่ได้จับคู่กับ สอวช. เป็นทีมจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ทีม “SUGARTHON” จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชื่อผลงาน “น้ำอ้อยป่าตุ้ม” ในพื้นที่ตำบลป่าตุ้ม อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ที่มองเห็นปัญหาการผลิตน้ำอ้อยในพื้นที่ จึงต้องการให้เกิดการยกระดับมูลค่าสินค้า การแปรรูปและคุณภาพการผลิตให้มีมูลค่าสูงขึ้น ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน และยังช่วยสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาให้กับชุมชนอีกด้วย ส่วนอีกหนึ่งทีมคือทีม U2T ตำบลอาฮี “แกะปุ๊บ ซุปปั๊บ” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ในพื้นที่ตำบลอาฮี อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ซึ่งเห็นปัญหาการผลิตหน่อไม้แปรรูปในชุมชนที่มีจำนวนเกินกว่าความต้องการของตลาด จึงต้องการหาแนวทางในการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น ลดปัญหาการว่างงานในชุมชน และยังช่วยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นการสร้างองค์ความรู้ และการถ่ายทอดความรู้ด้านการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรอีกทางหนึ่งด้วย

Tags:

เรื่องล่าสุด