messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ใบยา ไฟโตฟาร์ม สตาร์ทอัพสัญชาติไทย เผยความก้าวหน้าการผลิตวัคซีนโควิด-19 พร้อมทดสอบในมนุษย์เฟส 1 สิ้นเดือนกันยายนนี้ ชี้ไทยมีศักยภาพและโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เห็นโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตยาในอนาคต

ใบยา ไฟโตฟาร์ม สตาร์ทอัพสัญชาติไทย เผยความก้าวหน้าการผลิตวัคซีนโควิด-19 พร้อมทดสอบในมนุษย์เฟส 1 สิ้นเดือนกันยายนนี้ ชี้ไทยมีศักยภาพและโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เห็นโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตยาในอนาคต

วันที่เผยแพร่ 3 กันยายน 2021 2536 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยรับมือกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อมองหาและสร้างโอกาสให้กับประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรง ในรายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 4 พูดคุยในประเด็น “ความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยด้วยกลไกการบ่มเพาะจากสถาบันอุดมศึกษา” ได้รับเกียรติจาก ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Co-founder และ CEO บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และ รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ Co-founder และ Chief Technology Officer (CTO) บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด มาร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.

รศ.ดร.วรัญญู เล่าถึงแนวทางการผลิตวัคซีนของบริษัท ใบยาฯ ด้วยการใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ จากการผลิตเฉพาะโปรตีน หรือชิ้นส่วนของไวรัสที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ที่เรียกว่าซับยูนิตวัคซีนหรือโปรตีนวัคซีน โดยบริษัทฯ ใช้พืชทั้งต้นจากต้นยาสูบ พันธุ์ที่มีปริมาณนิโคตินต่ำในการผลิต ด้วยการปลูกพืชขึ้นมาและทำการส่งถ่ายยีนส์เฉพาะชิ้นส่วนที่สามารถนำไปเป็นโปรตีนของไวรัสที่ต้องการได้ ซึ่งจุดเริ่มต้นของการตั้งบริษัท เกิดจากการที่เรียนจบด้านวิทยาศาสตร์ และได้มาเป็นอาจารย์ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เริ่มมองเห็นว่าเด็กที่จบในสายนี้ไปไม่มีใครทำงานในด้านการพัฒนายา จึงคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีหากสามารถเริ่มพัฒนาวัคซีนหรือยาใหม่ๆ ได้เองในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ เช่นเดียวกับ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา ที่เรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เกี่ยวกับนโยบายประกันสุขภาพ และการเข้าถึงยา ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงยาที่มีราคาแพงได้ ดังนั้นหากสามารถผลิตยาได้เอง ก็น่าจะเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้ประเทศ ทำให้ประเทศมีเงินเยอะขึ้น และทำให้คนไทยเข้าถึงยาได้มากขึ้น

“ความจริงแล้วประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลิตวัคซีนได้เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีค่อนข้างสูงในเวลาต่อมา ทำให้มีระยะหนึ่งที่เราอาจจะตามประเทศอื่นไม่ทัน แต่โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศไทยยังคงมีอยู่ และยังมีศักยภาพจากการลงทุนในการวิจัยและการพัฒนาที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานในประเทศ ซึ่งบริษัทฯ ก็ได้ใช้โครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นในการช่วยพัฒนาวัคซีน และเตรียมพร้อมรับการระบาดในครั้งถัดไป โดยวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตขึ้นกำลังจะนำเข้าทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ในช่วงสิ้นเดือนกันยายนนี้ ซึ่งในปัจจุบันเรามีโรงงานผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืชที่ได้มาตรฐานแล้วที่จะใช้ผลิตสำหรับมนุษย์เป็นแห่งแรกในเอเชีย ในขณะเดียวกันก็ได้มีการเตรียมวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่มีการปรับสูตร ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น ซึ่งต้องรอดูผลการศึกษาในเฟส 1 เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงต่อไป โดยคาดหวังว่าประมาณไตรมาส 3 ปี 2565 จะมีวัคซีนฉีดให้คนไทยได้ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมยาและวิทยาศาสตร์ของไทย” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว

สำหรับความท้าทายในการเริ่มจัดตั้งบริษัทฯ และเริ่มดำเนินการผลิตวัคซีนจริง ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวว่า การผลิตวัคซีนขึ้นมาแต่ละตัวต้องอาศัยการทำงานแบบสหวิชาชีพ ถึงแม้จะมีนักวิทยาศาสตร์ในทีมแล้ว ขณะเดียวกันก็ยังต้องการองค์ความรู้ในการผลิตระดับอุตสาหกรรม ความรู้เรื่องเภสัชกรรม การผลิต การประกันคุณภาพ รวมถึงการออกแบบการศึกษาในสัตว์ทดลอง เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายในการขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อการนำไปใช้จริง ในการทำงานจึงต้องมีคนจากหลากหลายสาขาเข้ามาทำงานร่วมกัน ขณะที่ รศ.ดร.วรัญญู เผยว่า การได้เริ่มตั้งบริษัทฯ ผลิตวัคซีนขึ้นเอง ทำให้มองระบบการทำงานต่างไปจากเดิม หันมาให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมการทำวิจัยก่อนการผลิตจริง ทำให้เริ่มทำการวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ใบยาฯ ทั้ง 2 ท่าน ยังคงทำหน้าที่เป็นอาจารย์ควบคู่ไปกับการทำบริษัทสตาร์ทอัพ โดยต้องใช้การผสมผสานการทำงานเข้าด้วยกัน ด้วยการให้นิสิตที่สอนได้เข้ามาทดลองในห้องปฏิบัติการ พัฒนายาและวัคซีนในบริษัทฯ นำโปรเจกต์มาเสนอกับบริษัทฯ ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยให้เด็กได้ลองทำจริง และอาจารย์เองได้นำไปประยุกต์ใช้ในการสอน ทำให้วันนี้นิสิต นักศึกษาเริ่มเห็นเส้นทางอาชีพในสายไบโอเทคสตาร์ทอัพมากขึ้น เมื่อจบไปอาจไปทำให้เกิดสตาร์ทอัพอื่นๆ ในประเทศได้มากขึ้น จากประสบการณ์จริงที่เด็กได้รับระหว่างเรียน

ในด้านการระดมทุนของบริษัท ใบยาฯ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวว่า แนวคิดการระดมทุนเป็นวิธีการเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการ โดยเงินก้อนแรกมาจากเงินทุนส่วนตัวของเรา 2 คนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัท และมีการสนับสนุนห้องปฏิบัติการจากมหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อมีผลงานที่คนเริ่มให้ความสนใจก็ได้มีการระดมทุนในหลากหลายรูปแบบทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาชน เพราะการผลิตยาตัวนึงใช้เงินค่อนข้างมาก ซึ่งวิธีการระดมทุนเป็นวิธีเพื่อให้สามารถทำงานวิจัยในช่วงที่เร่งด่วนได้อย่างรวดเร็วอย่างในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีการทำ Crowdfunding ผ่านมูลนิธิของมหาวิทยาลัย หรือ CU Enterprise รวมถึงได้ทุนสนับสนุนจากภาครัฐในการทำ Critical Try ในการทดลองเฟส 1 และคาดว่าจะได้รับทุนต่อเนื่องในเฟสที่ 2-3 ต่อไปด้วย เพื่อให้บริษัทฯ มีการเติบโตได้อย่างมั่นคงต่อไป

เมื่อมองถึงการเติบโตในอนาคต รศ.ดร.วรัญญู กล่าวว่า บริษัทฯ ยังมีผลิตภัณฑ์ตัวยาและวัคซีนอีกหลายอย่างที่อยากทำ และถ้าเราเริ่มทำตัวแรกได้ ก็จะพัฒนายาหรือวัคซีนตัวอื่นได้ต่อไป เพื่อมารองรับการรักษาโรคอีกมากมายที่บริษัทใหญ่ยังไม่ได้ผลิตขึ้น แต่เราต้องผลิตได้เองตั้งแต่ต้นน้ำ และเมื่อทำไปอย่างต่อเนื่อง มั่นคง มีประสบการณ์มากขึ้น ถ้าเกิดโรคระบาดขึ้นอีกในอนาคต เราก็จะสามารถผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้ดี รวดเร็วและมีปริมาณมากขึ้น หากเราสามารถนำเข้าควบคู่ไปกับการผลิตเองด้วย คนไทยก็จะเข้าถึงยาหรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น คิดว่าระบบที่สร้างขึ้นนี้ จะช่วยสร้างความมั่นคงทางสุขภาพในประเทศเราและประเทศในภูมิภาคของเราให้ดีขึ้นได้ต่อไป

เมื่อถามว่าบริษัท ใบยาฯ มีความฝันว่าจะพัฒนาไปให้เทียบเท่ากับบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างไฟเซอร์ หรือบริษัทยาชั้นนำอื่นๆ หรือไม่ ดร.สุธีรา กล่าวว่า ทุกครั้งที่ทำงานมีการตั้งเป้าหมายที่สูงไว้เพื่อไปให้ถึง อย่างน้อยก็ได้เริ่มทำโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เห็นว่าคนไทยทำได้ และประเทศไทยยังมีความหวัง เหมือนโครงสร้างของคนรุ่นก่อนที่ทำมาเพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีให้กับเราในปัจจุบัน ถ้าเราสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ก็จะทำให้ลูกหลานของเราในรุ่นต่อไปพัฒนาสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไปได้ไกลกว่านี้

ดร. กิติพงค์ ได้กล่าวปิดท้ายถึงการทำงานของ สอวช. ที่ได้มีส่วนในการอำนวยความสะดวก สร้างให้เกิดระบบนิเวศที่ดีในการดำเนินการเหล่านี้ โดยเฉพาะการผลักดันแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เช่น แนวทางส่งเสริมการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน, การส่งเสริมการจัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัย รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. นอกจากนี้ ยังร่วมกันกับ Innovation Club ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยขับเคลื่อนเรื่องสตาร์ทอัพ หาแนวทางแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สามารถทำงานและระดมทุนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งการพูดคุยในครั้งนี้ สอวช. จะเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้ เพื่อมองหาโอกาสสำหรับประเทศไทย ในการต่อยอดในเชิงนโยบาย เพื่อสร้างให้เกิดโอกาสกับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในสายวิทยาศาสตร์ ให้มีเส้นทางเดินต่อในสายอาชีพในอนาคต

ขอบคุณภาพจาก บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด

Tags:

เรื่องล่าสุด