สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ Thai SCP Network จัดกิจกรรมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้โครงการบูรณาการและขับเคลื่อนภาคส่วนของไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน CE Innovation Policy Forum กลุ่มนโยบายและแผน หัวข้อ “เสนอแนะแนวทางในการขับเคลื่อนภาคส่วนของไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และนโยบายในการสร้างนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน” เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นความต้องการด้านการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และร่วมหาแนวทางในการขับเคลื่อนภาคส่วนของไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และนโยบายในการสร้างนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนหลังจากที่ได้ถกประเด็นสถานภาพปัจจุบันและอุปสรรคการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการสัมมนาครั้งที่ 1 และ 2 เมื่อวันที่ 2 และ 16 สิงหาคม 2564 และมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 120 ท่านที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวต้อนรับ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้กว่า 50 คน
ดร.กาญจนา กล่าวว่า เวทีนี้ สอวช. ได้ริเริ่มขึ้นมาสำหรับผู้สนใจและเครือข่ายที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจเป็นอย่างดี โดยได้จัดเป็นซีรี่ส์ที่มีความต่อเนื่อง เป็นพื้นที่ระดมสมองหารือกันในลักษณะกึ่งทางการจากผู้ที่เข้าร่วมล้วนมีการดำเนินงานที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีบทบาท สาขา (sector) และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ข้อมูลจากเวทีที่ได้ สอวช. จะรวบรวมไปผลักดันเป็นนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป ซึ่งขณะนี้มีช่องทางในการผลักดันหลายช่องทาง เช่น คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว อนุกรรมการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น ที่ผ่านมาภายใต้เวที CE Innovation Policy Forum มีการแบ่งเวทีออกเป็น 7 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรอาหาร กลุ่มการเงินและตลาดทุน กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กลุ่มการศึกษา และกลุ่มท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งความคิดเห็นที่ได้จากทุกกลุ่ม สอวช. จะรวบรวม วิเคราะห์ และจัดทำเป็นสมุดปกขาว และหยิบข้อเสนอที่น่าสนใจไปผลักดันในเวทีที่เหมาะสมต่อไป
สำหรับกลุ่มนโยบายฯ ครั้งนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเริ่มเห็นประเด็นที่ชัดเจนที่จะเป็นจุดคานงัดสำคัญทางนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะนำไปสู่การวางกรอบที่เหมาะสมในการสร้างตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงแนวทางที่แต่ละภาคส่วนต้องจัดเตรียมรองรับ การปลดล็อกกลไกที่จะช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR) ซึ่งเป็นอีกจุดคานงัดสำคัญที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับปฏิบัติเชิงระบบได้ รวมถึงการเตรียมความพร้อมกลไกด้านกฎหมาย เช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งหลายประเทศในอาเซียนเริ่มมีการขยับในการดำเนินการ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และในยุโรปมีมาตรการ EU Green Deal ทำให้มีการขับเคลื่อนเข้มข้นยิ่งขึ้น จึงอยากชวนมองกลับมาที่ประเทศไทยว่าเราจะมีแนวทางการขับเคลื่อนอย่างไรให้เท่าทันต่อสถานการณ์ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกระทบการค้าของประเทศต่อไปได้ อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีการขับเคลื่อนบ้างแล้วโดยภาคเอกชนได้ดำเนินการในลักษณะ EPR ตามความสมัครใจ แต่แท้จริงแล้วต้องมองให้ครบทั้งระบบนิเวศที่ไม่ได้มีแค่ผู้ผลิต แต่มีทั้งส่วนภาครัฐและผู้บริโภคด้วย ต้องดูว่าสำหรับบริบทประเทศไทยแล้วแบบใดเป็นแบบที่เหมาะสมและเกิดความยั่งยืนในการพัฒนาแบบองค์รวม
“เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ต้องมีการปรับโครงสร้าง วิธีคิด ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับระบบ ดูนโยบายที่จะมาสนับสนุนทั้งด้าน Demand Supply อย่างสอดคล้อง และวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นคานงัดสำคัญ สำหรับ สอวช. เอง ถือเป็นหน่วยงานต้นน้ำในกำกับของรัฐ จึงได้อาสามาสร้างแพลตฟอร์มกลางให้ได้พูดคุยเพื่อให้ได้กรอบการทำงาน ดูว่าผู้เล่นสำคัญคือใคร และจะทำให้เกิดการส่งต่อเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร โดย สอวช. จะมีการขึ้นรูปเป็นสมุดปกขาวกรอบการทำงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนเชิงระบบนิเวศ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ 2 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งความเห็นจากทุกฟอรั่มที่จัดขึ้นจะถูกหยิบยกมาเป็นข้อมูลประกอบสมุดปกขาวด้วย นอกจากนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอยู่ระหว่างทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะมีการนำข้อเสนอที่เป็นประโยชน์จากเวทีนี้เสนอเข้าไปผนวกรวมกับแผนดังกล่าว โดย สอวช. เองจะร่วมบูรณาการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเต็มที่ ซึ่งภาครัฐเองมีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างปัจจัยเอื้อเพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” ดร.กาญจนา กล่าว
สำหรับระบบนิเวศเพื่อสร้างให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สอวช. ได้ศึกษาและทบทวนกรณีศึกษาจากต่างประเทศ พบว่ามีการจัดการขยะที่เป็นระบบเป็นฐานเดิม พอมีการยกระดับทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว สำหรับประเทศไทย จากการศึกษา หากเรากำหนดให้มีการแก้ไขจุดหนึ่งอาจจะช่วยแก้ไขได้เพียงปัญหาเดียวและอาจนำไปสู่ปัญหาอย่างอื่นต่อ เราจึงพยายามมองเชิงระบบ โดยมองระบบนิเวศของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านนโยบาย ด้านปัจจัยเอื้อ ด้านผู้ประกอบการและด้านประชาชน โดยมองว่าผู้ประกอบการเป็นผู้เล่นสำคัญในการทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็ต้องสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ เช่น เปลี่ยนจากการผลิตผลิตภัณฑ์มาเป็นการบริการในบางเรื่อง สร้างวงจรผลิตภัณฑ์ใหม่ เนื่องจากต้องมีการออกแบบหมุนเวียน รวมไปถึงเรื่องของ New Feed Stock โดยสร้างผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบรอบสอง (Secondary Material) ให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นพวกวัสดุเหลือใช้หรือของเสียต้องสร้างวงจรให้กลับคืนมาเพื่อเป็นวัตถุดิบเข้าระบบต่อไป ในส่วนนี้กลไก EPR เป็นกลไกส่วนใหญ่ที่ต่างประเทศใช้กัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเอื้อจะต้องมีความสอดรับกับระบบนิเวศที่ออกแบบและการปฏิบัติของผู้ประกอบการ ซึ่งภาคนโยบายมีส่วนสำคัญในส่วนนี้ และในขณะนี้ได้มีการกำหนดเป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับประเทศแล้ว นอกจากภาคนโยบายที่มีส่วนสำคัญแล้ว ต้องมีการสร้างให้เกิดระบบในภาคประชาชนด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับการจัดฟอรั่มในวันนี้ ที่จะทำให้เกิดระบบนิเวศจากมุมมอง ข้อมูลที่ได้รับ เพื่อส่งต่อเข้าไปเป็นหนึ่งในรายละเอียดของนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป
เริ่มการเสวนา นายนภดล ศิวะบุตร ประธานคณะทำงานด้านพัฒนากลไกการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้แลกเปลี่ยน 6 มุมมองจากภาคเอกชนเกี่ยวกับข้อเสนอด้านความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต หรือ EPR เพื่อการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ ว่า 1. EPR ควรบริหารโดยภาคเอกชนเป็นหลัก 2. ภาครัฐสนับสนุนนโยบาย มาตรการและบังคับใช้ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม 3. ท้องถิ่น เป็นผู้สนับสนุนระบบรองรับการจัดเก็บและแยกประเภท 4. ประชาชนมีบทบาทในการคัดแยกใช้กฎหมายเข้ามาบังคับ 5. มีมาตรการจูงใจ ระบบ EPR ในช่วงแรก (Voluntary) และ 6. มีมาสเตอร์แพลนกำหนดทิศและลดทอนความไม่แน่นอนของนโยบาย
ด้านนายสุพจน์ ชัยวิไล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด ผู้ประกอบการด้านการผลิตสิ่งทอจากรีไซเคิล PET เล่าถึงการดำเนินงานของบริษัทในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ตอนนี้บริษัทมีการผลิต PPE ค่อนข้างเยอะ ซึ่งปกติทำผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ จากรีไซเคิล PET ด้วย ข้อดีของ PPE ที่บริษัทดำเนินการคือสามารถ Reuse ได้ ซึ่งปกติในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปใช้ PPE ในลักษณะนี้อยู่แล้ว ซึ่งประโยชน์ของการ Reuse คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะใช้งานได้ยาวนานขึ้น โดยสามารถซักได้มากกว่า 100 ครั้ง สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณได้ และด้วยสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ทำให้การผลิต PPE ไปช่วยส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานเพื่อให้สามารถผลิตชุด PPE ได้ทันต่อความต้องการอีกด้วย ทั้งนี้ยังมีข้อจำกัดและอยากให้ภาครัฐสนับสนุนจากการนำขวด PET กลับมารีไซเคิลและขายตลาดบนได้ ซึ่งจะทำให้มีการสนับสนุนซาเล้งและการเก็บของเก่ากลับมาเพื่อรีไซเคิลได้จากกลไกราคาที่เพิ่มขึ้น
“สำหรับข้อเสนอแนะในด้านการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ รวมถึงด้านการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ CE มองว่าในระยะสั้นคือต้องทำให้เกิดกระแสอย่างในปัจจุบันที่โครงการเก็บขวดช่วยหมอ ที่ทำให้ภาคเอกชนเกิดความร่วมมือภายใต้เป้าหมายเดียวกัน อย่างไรก็ตามในรูปแบบนี้จะไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนจึงต้องมีการพัฒนาในส่วนระยะยาวคือการปลูกฝังผ่านการจัดหลักสูตรภาคบังคับทั่วประเทศทุกโรงเรียน มีการสร้างแรงจูงใจผ่านการให้ค่าตอบแทนจากการคืนขวด ผลักดันให้เกิดกฎหมายมาบังคับใช้ซึ่งต้องปรับให้เหมาะสมกับประเทศไทย เพิ่มแต้มต่อในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสำหรับการรีไซเคิลและอัพไซเคิล ตั้งศูนย์รวมของที่ยังใช้ได้แต่ต้องการทิ้ง ช่วยเหลือในเรื่องมาตรฐานและสิทธิพิเศษต่างๆ ระหว่างประเทศให้สามารถเข้าถึงได้ทุกภาคส่วน เพิ่มโอกาสในการขายและแข่งขันในผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงสนับสนุนให้มีการทำเรื่องการรีไซเคิลและอัพไซเคิลในชุมชนเพื่อลดปัญหาจากการขนส่ง โดยให้สามารถดำเนินการได้ในพื้นที่และสร้างรายได้ให้ชุมชนไปในตัว ตลอดจนผลักดันให้มีการคัดแยกของเหลือใช้จากแห่งหนึ่งไปจับคู่กับอีกแห่งหนึ่งที่มีความต้องการวัสดุเหลือใช้นั้นๆ เป็นต้น” นายสุพจน์ กล่าว
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยชำนาญการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจากการศึกษาการจัดการบรรจุภัณฑ์ว่า จากสถานการณ์โลกหลังโควิด-19 พบว่าปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติก ในปี 2564 มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากก่อนช่วงโควิด-19 (ปี 2562) ถึง 29% จึงทำให้แนวโน้มขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังมีปัญหาขยะบกตกทะเลทำให้กระทบแหล่งท่องเที่ยว ปัญหาอัตราการรีไซเคิลที่ขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตันต่อปี มีอัตราการรีไซเคิลเฉลี่ยอยู่ที่ 17-25% โดยขวด PET มีอัตราการรีไซเคิลกว่า 60% ที่น่าเป็นห่วงคือพลาสติกในกลุ่มที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ยากต่อการรีไซเคิล ซึ่งมองว่าแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการขยะคือ แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ต้องอาศัยการเปลี่ยน 3 ส่วนไปพร้อมกันคือ 1. กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย 2. เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ และ 3. มาตรการทางสังคม เช่น การสร้างบรรทัดฐานทางสังคม หรือจิตสำนึก เป็นต้น โดยที่ผ่านมาตนได้มีการศึกษาข้อมูลเฉพาะกลุ่มจากทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการผลักดันเชิงนโยบาย โดยในระยะสั้น ไม่เกิน 3 ปี มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างให้เกิดการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ผลักดันให้ อปท. พัฒนาระบบเก็บขยะแยกประเภท ผลักดันให้เกิด EPR ภาคสมัครใจ ใช้มาตรการทางการคลังในการเก็บภาษีพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงออกกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเรื่องนี้คาดว่าอาจใช้เวลาถึง 5 ปี
“ปัญหาขยะวิกฤตเกินกว่าจะแก้ไขโดย อปท. เพียงหน่วยเดียว เศรษฐกิจหมุนเวียนและ EPR จะช่วยให้เกิดการแก้ไขในลักษณะ Value Chain ซึ่งต้องมีการร่วมมือกัน ถึงเวลาที่ภาคเอกชนจะต้องยกระดับการดำเนินการด้าน CSR หรือ PR มาเป็น EPR แบบร่วมแรงร่วมใจ สำหรับผู้บริโภคก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องช่วยแยกขยะอย่างจริงจัง และภาครัฐเองต้องปฏิรูประบบบริหารจัดการ ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การเกิดระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกในประเทศไทย” ดร.สุจิตรา กล่าว