messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ใบยา ไฟโตฟาร์ม จุดประกายสร้างสตาร์ทอัพจากรั้วมหาวิทยาลัย ด้วยกลไก Holding Company พร้อมให้กำลังใจเด็กรุ่นใหม่สายวิทยาศาสตร์ เตรียมความพร้อมพัฒนาไปสู่เส้นทางอาชีพ

ใบยา ไฟโตฟาร์ม จุดประกายสร้างสตาร์ทอัพจากรั้วมหาวิทยาลัย ด้วยกลไก Holding Company พร้อมให้กำลังใจเด็กรุ่นใหม่สายวิทยาศาสตร์ เตรียมความพร้อมพัฒนาไปสู่เส้นทางอาชีพ

วันที่เผยแพร่ 8 กันยายน 2021 1653 Views

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 4 ทางเฟซบุ๊กไลฟ์จัดโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้มีการพูดคุยในประเด็น “ความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยด้วยกลไกการบ่มเพาะจากสถาบันอุดมศึกษา” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Co-founder และ CEO บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และ รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ Co-founder และ Chief Technology Officer (CTO) บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด มาร่วมพูดคุย นอกจากจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการผลิตวัคซีนโควิด-19 แล้ว ยังเป็นการชี้ให้เห็นแนวทางการริเริ่มจัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ ถ่ายทอดให้เห็นแง่มุมการผันตัวจากอาจารย์มหาวิทยาลัยมาเป็น CEO บริษัทสตาร์ทอัพควบคู่ไปด้วย

รศ.ดร.วรัญญู เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการตั้งบริษัทโดยเกิดจากการที่เรียนจบด้านวิทยาศาสตร์ และได้มาเป็นอาจารย์ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เริ่มมองเห็นว่าเด็กที่จบในสายนี้ไปไม่มีใครทำงานในด้านการพัฒนายา จึงคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีหากสามารถเริ่มพัฒนาวัคซีนหรือยาใหม่ๆ ได้เองในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ เช่นเดียวกับ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา ที่เรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เกี่ยวกับนโยบายประกันสุขภาพ และการเข้าถึงยา ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงยาที่มีราคาแพงได้ ดังนั้นหากสามารถผลิตยาได้เอง ก็น่าจะเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้ประเทศ ทำให้ประเทศมีเงินเยอะขึ้น และทำให้คนไทยเข้าถึงยาได้มากขึ้น

สำหรับการเริ่มเปิดบริษัทสตาร์ทอัพ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ไม่เข้าใจในเรื่องการจัดตั้งบริษัท แต่สิ่งที่สร้างความมั่นใจในการริเริ่มเรื่องนี้คือนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 การทำ Spin-Off การสร้างสตาร์ทอัพ รวมถึงอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีนโยบายสนับสนุนในเรื่องนี้ และจากการศึกษามหาวิทยาลัยในต่างประเทศส่วนใหญ่มีโมเดลการดำเนินงานในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่ต้องนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยและสถาบันอุดมศึกษา หากมองในมุมของสตาร์ทอัพ บริษัท ใบยาฯ ถือว่าเป็น Sandbox Case เป็นกลุ่มแรกๆ ของมหาวิทยาลัยที่ Spin-Off ออกมาจัดตั้งบริษัท โดยยังได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยอยู่ บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในระหว่างนั้นนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็ให้การสนับสนุนในส่วนนี้ รวมถึงมีนโยบายเข้ามารองรับอย่างกลไกการจัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น

“บริษัทฯ ของเราเริ่มดำเนินการมาประมาณ 3 ปี ในช่วงแรกไม่มีอะไรเลย มีแค่ห้องปฏิบัติการที่ได้มาจากคณบดี คณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งเราก็ได้ดำเนินการเหมือนบริษัทจริง ค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นราคาที่เกิดขึ้นจริง ให้เข้ากับสถานการณ์จริง เริ่มต้นจากห้องปฏิบัติการขนาดเล็ก มีพนักงาน 2 คน Co-founder 3 คน รวมเป็น 5 คน จนถึงตอนนี้เรามีพนักงานมากกว่า 50 คน แต่เราก็ยังสู้ต่อ ยังหาแนวทางดำเนินกิจการของเราภายใต้บริษัทแห่งนี้ให้ไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการ” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว

ในมุมของการเป็นอาจารย์ควบคู่ไปกับการทำบริษัทสตาร์ทอัพ รศ.ดร.วรัญญู กล่าวว่า ต้องใช้การผสมผสานการทำงานอาจารย์กับงานบริษัทเข้าด้วยกัน ด้วยการให้นิสิตที่สอนได้เข้ามาทดลองในห้องปฏิบัติการ พัฒนายาและวัคซีนในบริษัทฯ นำโปรเจกต์มาเสนอกับบริษัทฯ ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยให้เด็กได้ลองทำจริง และอาจารย์เองได้นำไปประยุกต์ใช้ในการสอน ทำให้วันนี้นิสิต นักศึกษาเริ่มเห็นเส้นทางอาชีพในสายไบโอเทคสตาร์ทอัพมากขึ้น เมื่อจบไปอาจไปทำให้เกิดสตาร์ทอัพอื่นๆ ในประเทศได้มากขึ้น จากประสบการณ์จริงที่เด็กได้รับระหว่างเรียน

ในมุมบทบาทของ CEO ของบริษัทฯ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวว่า เราทำหน้าที่ดูเรื่องเป้าหมาย กลยุทธ์ แนวทางว่าจะพาบริษัทไปในทิศทางไหน มีสิ่งสำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อน แรงผลักดันของเราอยู่เสมอ คือเมื่อเรามีบริษัท เรามีพนักงาน เราจะทำอย่างไรให้คนที่เชื่อในตัวเรา คนที่ทำงานกับเรา พนักงานที่เราต้องจ่ายเงินเดือนสามารถอยู่รอดได้ เพราะถ้าเราไม่มีเงินจ่าย จะมีอีก 50 ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ เราคิดอยู่เสมอว่า ใครก็ตามที่มีลูกน้อง ถ้าทำงานดี ก็อยากให้อยู่ดีกินดี ดูแลครอบครัวตัวเองได้ คิดว่านี่เป็นเป้าหมายของเราที่อยากให้นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ไทยอยู่ดีกินดี ถ้าอยากทำนวัตกรรมต้องมีค่าตอบแทนที่ดี

ในช่วงสุดท้ายของการพูดคุย รศ.ดร.วรัญญู ยังได้ฝากถึงอาจารย์และน้องๆ ที่สนใจเรียนในสายวิทยาศาสตร์ หรืออยากทำวิจัย ให้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ถึงแม้การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ อาจเจอความคิดเห็นที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่อย่าให้สิ่งเหล่านั้นมาหยุดความตั้งใจของเรา สิ่งที่เราทำได้คือทำให้เห็นว่าเป็นไปได้ ถ้าเราไม่เลิก ไม่หยุดทำ เราก็จะไม่ล้มเหลว มองว่าประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สำหรับคนที่ทำงานหรือคนที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ ในอีก 10 ปีข้างหน้าเชื่อว่าจะมีบริษัทสตาร์ทอัพด้านไบโอเทค ดีพเทค เกิดขึ้นอีกมาก เพราะฉะนั้นน้องๆ ที่เรียนวิทยาศาสตร์หรือเรียนอะไรอยู่ก็ตาม ต้องทำตัวเองให้พร้อม วันที่เรียนจบออกไปจะมีโอกาสอีกมากมายรออยู่ ขอให้เรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ อดทนและตั้งใจ เช่นเดียวกับ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา ที่กล่าวว่า “เราพูดเสมอว่าเราไม่ได้เป็นเด็กเรียนเก่ง ไม่ได้เป็นเด็กเกียรตินิยม แต่เรายังเดินมาได้ไกลมากพอที่คนๆ หนึ่งจะฝันได้ เชื่อว่ามีคนเก่งกว่าเราอีกมากมาย ที่อาจต้องลองทำอะไรในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อจะทำให้ประเทศชาติ หรือสังคมนี้มีสิ่งที่เราอยากให้มีด้วยกัน เชื่อว่าถ้าเราพยายามที่จะเรียนรู้ใหม่ทุกวัน เราก็คงจะไปถึงเป้าหมายได้”

ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้กล่าวถึงบทบาทของ สอวช. ที่มีส่วนในการอำนวยความสะดวก สร้างให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมอย่างที่บริษัท ใบยาฯ ดำเนินการข้างต้น โดยเฉพาะการผลักดันแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เช่น แนวทางส่งเสริมการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน, การส่งเสริมการจัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัย รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. อีกทั้งยังร่วมกันกับ Innovation Club ที่จะช่วยในการขับเคลื่อนเรื่องสตาร์ทอัพ หาแนวทางแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สามารถทำงานและระดมทุนได้สะดวกมากยิ่งขึ้นด้วย

ขอบคุณภาพจาก บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด

Tags:

เรื่องล่าสุด