messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » อดีต รมว.อว. เสริมความรู้หลักสูตรนโยบาย อววน. แนะวางทิศทางนโยบายให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ชูแนวคิด บีซีจี เป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศอย่างทั่วถึงและยั่งยืนหลังโควิด-19

อดีต รมว.อว. เสริมความรู้หลักสูตรนโยบาย อววน. แนะวางทิศทางนโยบายให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ชูแนวคิด บีซีจี เป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศอย่างทั่วถึงและยั่งยืนหลังโควิด-19

วันที่เผยแพร่ 13 กันยายน 2021 661 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น เฉพาะทางด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 6 – 23 กันยายน 2564 เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ได้มีโอกาสรับทราบนโยบายและมาตรการ รวมถึงกลไกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบ อววน. และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เข้าร่วมอบรมจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และการสร้างเครือข่ายในการทำงานในอนาคต หนึ่งในหัวข้อของการอบรมที่น่าสนใจ คือ หัวข้อ “ความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ” ได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้บรรยาย โดย มีผู้เข้าร่วมการอบรมมากกว่า 50 คน

ดร.สุวิทย์ กล่าวถึงแง่มุมของขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่ต้องเป็นขีดความสามารถที่นำพาไปสู่ความยั่งยืน เป็นการแข่งขันที่ไม่ใช่เพียงแต่เราที่ได้รับประโยชน์ เพราะจากนี้ไปเมื่อโลกเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว เมื่อสุขก็จะสุขด้วยกัน ทุกข์ก็จะทุกข์ด้วยกัน นิยามของขีดความสามารถในการแข่งขันจึงอาจจะต้องถูกปรับใหม่ การบรรยายในครั้งนี้จึงเป็นการถ่ายทอดให้เห็นภาพใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงของโลกไปจนถึงการปรับตัวในบริบทของประเทศไทย

ประเด็นสำคัญที่ ดร.สุวิทย์ เล่าถึงในส่วนแรกคือเรื่อง Global Metamorphosis การที่เปลือกเดิมของโลกแตกออกไปเกิดเป็นโลกใหม่ขึ้น ซึ่งโลกใบใหม่นี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในเชิงโครงสร้างและนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมตามมา จากในอดีตเปรียบโลกว่ามีลักษณะคงรูป (Solid Phase Civilization) อยู่แบบประเทศใครประเทศมัน แต่ละภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาครัฐ มีความสัมพันธ์กันในแนวตั้ง แต่เมื่อเกิดโลกาภิวัตน์ การเข้ามาของดิจิทัล และเทคโนโลยี ทำให้โลกของค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบอารยธรรมบนโลกที่เลื่อนไหลได้ (Liquid Phase Civilization) แต่ละภาคส่วนมีความทับซ้อนคาบเกี่ยวกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป เราอยู่ในโลกที่เป็นมนุษยศาสตร์ดิจิทัล (Digital Humanities) การทำนโยบายจึงต้องตอบโจทย์บริบทนี้ด้วย โดยเฉพาะมุมมองในการเปลี่ยนทิศทางจากโลกใบเดิมไปเป็น VUCA World (V: Volatility, U: Uncertainty, C: Complexity, A: Ambiguity) จากในอดีตเป็นโลกที่มีเสถียรภาพ (Stability) ความแน่นอน (Certainty) ความเรียบง่าย (Simplicity) และความกระจ่างชัด (Clarity) ถูกแทนที่ด้วยโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความกำกวม (Ambiguity) การกำหนดนโยบายจึงต้องคำนึงถึงการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาใช้ในบริบทที่อยู่ภายใต้ VUCA World นี้ด้วย

จุดที่ถือว่าเป็นความท้าทายในโลกที่เชื่อมต่อกันสนิทนั้น สามารถทำให้เกิดผลกระทบได้ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ในอนาคตประเด็นที่สำคัญคือการปฏิรูปในภาพรวม ที่ต้องมองในบริบทโลก ไม่ใช่แค่ในระดับท้องถิ่น โดยมีส่วนที่ต้องคำนึงถึงใน 4 มิติ ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ต้องลงไปดูว่าส่วนใดที่เป็นวาระที่ต้องให้ความสำคัญในระดับโลก หรือระดับชาติ 2) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้การใช้ทรัพยากรมีความยั่งยืนไปสู่รุ่นต่อไปได้ 3) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) แม้จะมองไม่เห็นแต่เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งประเทศไทยเองยังมีความเข้าใจในเรื่องนี้น้อยมาก และ 4) เรื่องของการผนึกกำลังของผู้คน พลังในการร่วมมือกัน (Common Creating) โดยเฉพาะในโลกที่มีอินเทอร์เน็ต หากมีนโยบายที่ดีจะทำให้คนเกิดการผนึกกำลังทางปัญญา (Collaborative Intelligence) ทำให้โลกพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น การทำนโยบายจึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างแพลตฟอร์มการร่วมมือกันแบบเปิด เพื่อให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ ข้อมูลที่เกิดประโยชน์ร่วมกัน

บทบาทของ วทน. จะเป็นบทบาทที่โดดเด่นในการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ผ่านการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้สอดรับกับโลกใบใหม่ หลังจากนี้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีจะนำมาใช้เพื่อความยั่งยืน เพื่อมวลมนุษยชาติเป็นสำคัญ ผลผลิตด้านนวัตกรรมที่ออกมาก็จะต้องเป็นนวัตกรรมที่ทั่วถึงครอบคลุม ตอบสนองความเป็นอยู่ของประชากรทั้งหมด ไม่ใช่แค่คนบางกลุ่มอีกต่อไป เมื่อกรอบความคิดเปลี่ยนไป มีการนำ วทน. มาเป็นต้นน้ำในการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจและสังคม โจทย์ที่สำคัญต่อมาของ วทน. คือการเปลี่ยนรูปแบบสังคมจากสังคมสมัยใหม่ (Modern Society) ไปสู่สังคมที่เท่าเทียม (Equitable Society) ที่ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่ในประเทศ แต่ในระหว่างประเทศด้วย อะไรที่จะเข้าไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่ความยั่งยืนได้ การทำนโยบายต้องเริ่มมองจากความเป็นไปได้ และมองหาโอกาสที่จะเกิดขึ้นในแง่มุมนี้

จากการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์จะนำไปสู่แพลตฟอร์มด้านนโยบายที่เปลี่ยนไป อย่างน้อยใน 5 เรื่อง 1) ด้านนวัตกรรม เมื่อปรับมุมมองจากวิกฤตให้เป็นโอกาส จะทำให้เห็นโอกาสของการเกิดนวัตกรรมและสร้างให้เกิดความสามารถด้านนวัตกรรมตามมา 2) ความไม่แน่นอนของความต้องการและความไม่แน่นอนของเทคโนโลยี ต้องปรับให้อุปสงค์อุปทานของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสอดคล้องกัน 3) การปรับเปลี่ยนจากการลอกเลียนแบบ มาเป็นการริเริ่มคิดค้นสิ่งใหม่ด้วยตัวเอง กระตุ้นให้คนสร้างนวัตกรรมอยากทำนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา 4) การเปลี่ยนจากการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติมาเป็นการสร้างขึ้นเอง และบางอย่างก็สามารถร่วมมือกันทำกับคนอื่นได้ ให้ออกมาเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง 5) การวางนโยบายให้เทคโนโลยีเปรียบเสมือนสาธารณูปโภค ทำให้ทุกคนมองว่าสามารถนำไปใช้ได้ ใกล้ตัว เข้าถึงได้ทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพ SME ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ เมื่อคนได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าก็จะสร้างประสิทธิภาพทางสังคมให้เกิดขึ้นได้

ในมุมของการนำ วทน. มาเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า บีซีจีเป็นกลไกขับเคลื่อนใหม่ที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่งของประเทศไทยในโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากเป็นโครงสร้างเชิงระบบที่ตอบโจทย์ได้ทั้งความยั่งยืน และความเท่าเทียม เป็นการเติบโตอย่างครอบคลุม ทุกคนมีโอกาสร่วมขับเคลื่อนประเทศจากพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมที่เรามีอยู่เดิม โดยการทำให้เกิดโมเดลบีซีจี ในเชิงพื้นที่ กระจายตัวอย่างทั่วถึงในแต่ละภูมิภาค ให้ความสำคัญกับการสร้างศักยภาพในพื้นที่ยากจน ที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศได้ และเมื่อมีนโยบายที่ชัดเจนจะสามารถนำ วทน. มาขับเคลื่อนผ่าน บีซีจี ให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้น โดยการเติมองค์ความรู้ และนวัตกรรม เน้นการเสริมพลังในระดับท้องถิ่น เพื่อสร้างความก้าวหน้ารุ่งเรืองไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ บีซีจี ยังยึดโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่เป็นเป้าหมายร่วมของโลก ซึ่งประเทศไทยมีหลักคิดที่ไปตอบโจทย์ในเรื่องนี้อยู่แล้วคือปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) บีซีจีจะช่วยเชื่อมหลักคิดของ SEP ไปสู่ SDGs ทำให้เราอยู่ในโลกได้อย่างยั่งยืน โดยมีกลไกตัวสำคัญที่ทำให้ขับเคลื่อนได้อย่างดี เกิดผลในทางบวกคือ วทน. ที่เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ แพลตฟอร์มนโยบาย ไปจนถึงแนวทางการนำไปปฏิบัติจริง

Tags:

เรื่องล่าสุด