messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » มารู้จัก ทักษะ STEM มีติดตัวทำไม? สำคัญแค่ไหนต่อการพัฒนาประเทศ?

มารู้จัก ทักษะ STEM มีติดตัวทำไม? สำคัญแค่ไหนต่อการพัฒนาประเทศ?

วันที่เผยแพร่ 15 กันยายน 2021 36135 Views

เมื่อได้ยินคำว่า STEM หลายคนอาจจะนึกไปถึงสเต็มเซลล์หรือเรื่องราวทางการแพทย์ แต่เดี๋ยวก่อน! STEM ที่เราจะพามารู้จักในวันนี้คืออีกชุดทักษะสำคัญที่ขาดไม่ได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

แม้หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นชินกับคำนี้กัน วันนี้ สอวช. เลยอยากจะชวนมาหาคำตอบและทำความรู้จักกับทักษะ STEM ไปพร้อมกัน! เพราะนี่คือชุดทักษะหนึ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศไทย!

ทักษะ STEM คืออะไร?

STEM นั้นมาจากอักษรตัวแรกของ 4 ศาสตร์ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)

ทั้ง 4 ศาสตร์คือสาขาวิชาความรู้ที่สำคัญและสามารถเชื่อมต่อหรือบูรณาการแต่ละสาขาเพื่อนำมาใช้ในการทำงาน รวมถึงการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหา การตั้งคำถาม การค้นคว้าสิ่งใหม่ หรือการพัฒนานวัตกรรม

โดยคำว่า STEM เริ่มใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา จากปัญหาผลการทดสอบ PISA หรือโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for. International Student Assessment) ของประเทศและการประชุมของแต่ละภาคส่วน ทำให้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการศึกษาของศาสตร์ทั้ง 4 สาขา เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ

4 สาขาวิชาของ STEM

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า STEM ประกอบด้วย 4 ศาสตร์ ซึ่งก็สามารถแบ่งตามสาขาวิชาได้เช่นกัน ดังนั้นเรามาดูกันว่าแต่ละสาขาเกี่ยวกับอะไรบ้าง

1. วิทยาศาสตร์ (Science) สาขาวิชานี้จะเน้นความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติ โดยศึกษาผ่านกระบวนสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ ค้นคว้าอย่างมีขั้นตอน รวบรวมหลักฐาน ทดลองเพื่อพิสูจน์

2. เทคโนโลยี (Technology) สาขาวิชานี้เกี่ยวกับการประยุกต์ความรู้วิทยาศาสตร์มาใช้จริง รวมถึงการแก้ปัญหา การพัฒนาหรือคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่ช่วยตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ผ่านกระบวนการทํางานทางเทคโนโลยี

3. วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) สาขาวิชานี้จะนำความรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาใช้พัฒนาเครื่องจักร หรือการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้มนุษย์

4. คณิตศาสตร์ (Mathematics) สาขาวิชานี้จะเกี่ยวกับการคำนวณ การค้นคว้าสิ่งที่เป็นนามธรรม กระบวนการคิดทางคณิตศาสตร์ การถ่ายทอดความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ ถือเป็นศาสตร์ที่ช่วยเชื่อมอีก 3 ศาสตร์ให้เข้ากัน

ที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินชื่อของศาสตร์ทั้ง 4 สาขากันอยู่แล้ว และมักจะเรียนแยกกันตามวิชา แต่ทักษะ STEM จะเป็นการบูรณาการทั้ง 4 ศาสตร์เข้าด้วยกัน

การเรียนรู้ทักษะ STEM

ทักษะ STEM นั้นสามารถนำมาจัดทำเป็นรูปแบบการศึกษาที่เรียกว่า “สะเต็มศึกษา” หรือ “STEM Education” ซึ่งเป็นการศึกษาที่บูรณาการศาสตร์ความรู้ทั้ง 4 สาขาเข้าด้วยกัน

สะเต็มศึกษานั้นเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่เน้นการท่องจำแต่เน้นการปฏิบัติจริง เช่น การนำความรู้ไปแก้ไขปัญหาในชีวิต หรือการนำความรู้ไปช่วยในการทำงาน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถบูรณาการศาสตร์ทั้ง 4 ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

เรียกได้ว่าเปลี่ยนจากการท่องจำเนื้อหาในแต่ละศาสตร์ไปเป็นการเข้าใจความรู้เหล่านั้นให้เห็นเป็นภาพจริง รวมถึงพัฒนาทักษะการคิด การตั้งคำถาม การค้นคว้าข้อมูล และการวิเคราะห์ต่างๆ

ที่สำคัญสะเต็มศึกษานั้นไม่ใช่รูปแบบการศึกษาที่ซับซ้อน เพราะสามารถเริ่มสอนได้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้เรียนตั้งแต่เด็ก ช่วยให้เห็นคุณค่าของทั้ง 4 ศาสตร์ และทำให้ศาสตร์ที่ดูยากเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่นำมาใช้ได้จริง

ทักษะ STEM สำคัญอย่างไรต่อประเทศไทย

การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เรื่องของทักษะกำลังคนในประเทศถือว่าสำคัญเป็นอย่างมาก โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับสภาวะแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อาทิ ความท้าทายของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ความสามารถในการแข่งขัน ปัญหาผลิตภาพการผลิต เป็นต้น ซึ่งบริบทการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และเพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) เพิ่มมากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

แน่นอนว่า สอวช. เอง เห็นความสำคัญของการพัฒนาให้กำลังคนของประเทศมีทักษะ STEM เพิ่มมากขึ้น โดยที่ผ่านมาได้มีการทำการสำรวจข้อมูลตำแหน่งงานและสมรรถนะงานที่สำคัญ (Critical functional competency) ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2563-2567) โดยมุ่งเน้นที่ตำแหน่งงานระดับสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ที่ครอบคลุม 12 อุตสาหกรรม New S-curve ซึ่งข้อมูลการสำรวจดังกล่าว สามารถนำมาใช้อ้างอิงในการวางนโยบายด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงการกำหนดหลักสูตรในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนทั้งในรูปแบบการศึกษาระดับปริญญา และการฝึกอบรมระยะสั้น

นอกจากนี้ สอวช. ยังร่วมสนับสนุนการพัฒนาทักษะของบุคลากรภายในประเทศ ผ่านการกำหนดมาตรการการคลังเพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน โดยผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced technology) ไปหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ 2.5 เท่า รวมทั้งให้มีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม โดยผู้ประกอบการสามารถนำค่าจ้างไปหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า ทั้งนี้ สอวช. ในฐานะหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ในการเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ สกอ. และ สวทช. เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการการขึ้นทะเบียนหน่วยฝึกอบรมและรับรองการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม ซึ่งดำเนินงานผ่านรูปแบบศูนย์อำนวยความสะดวก (Clearing House) ที่เชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และสถาบันฝึกอบรมทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย

Tags:

เรื่องล่าสุด