messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ตัวแทนภาคเกษตร แนะพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ ดันเกษตรกรจากผู้ผลิตสู่ผู้ประกอบการ เน้นการพัฒนาคนและระบบ โดยอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนแก้ปัญหาเกษตรกรจากฐานราก

ตัวแทนภาคเกษตร แนะพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ ดันเกษตรกรจากผู้ผลิตสู่ผู้ประกอบการ เน้นการพัฒนาคนและระบบ โดยอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนแก้ปัญหาเกษตรกรจากฐานราก

วันที่เผยแพร่ 18 กันยายน 2021 722 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดการฝึกอบรมระยะสั้น ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านนโยบายโดยเฉพาะนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ตลอดจนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ หวังสร้างบุคลากรให้มีความรู้และมีพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น สำหรับการบรรยายในหลักสูตรนโยบายการพัฒนากำลังคนและการศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ (Manpower & Education Policy for National Development) ในหัวข้อ “การพัฒนากำลังคนภาคเกษตรและชุมชน” ได้รับเกียรติจาก นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เป็นผู้บรรยาย โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 40 คน

นายประพัฒน์ กล่าวว่า กับดักการพัฒนาภาคการเกษตรไทยเกิดขึ้นจาก 6 สาเหตุหลัก ได้แก่ 1) รูปแบบวิธีการทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม 2) การเพาะปลูกชนิดพันธุ์พืชที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำ ขาดการพัฒนาพันธุกรรมเดิม เพิ่มชนิดพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพ 3) ผลผลิตต่ำแต่ต้นทุนสูง 4) ภาวะขาดทุนและหนี้สินที่เพิ่มพูน 5) การสูญเสียที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของอาชีพเกษตรกรรม และ 6) การเป็นภาคการผลิตที่ปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่และสถานการณ์ใหม่หลังโควิด-19 ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาคือการทำการเกษตรด้วยวิธีคิดของการประกอบการ เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานเข้าสู่กระบวนการเดียวกันและต่อเนื่องกัน โดยตัวเกษตรกรมีบทบาทตลอดห่วงโซ่ หรือตลอดกระบวนการนั้นๆ ก้าวผ่านกับดักการพัฒนาภาคเกษตร เพื่อนำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้

ในการสร้างความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่อุปทาน เริ่มจากการผลิต ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต ผลิตสินค้าเกษตรชนิดที่แตกต่าง พัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และยังต้องคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและการนำวัสดุเหลือใช้หมุนเวียนมาใช้ใหม่ ในภาคโลจิสติกส์ ต้องนำเทคโนโลยี/ดิจิทัล มาใช้ในการรวบรวม จัดเก็บ และกระจายสินค้า ร่วมมือกับภาคีพันธมิตรให้บริการขนส่งช่องทางต่างๆ รวมถึงพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ป้องกันความเสียหายจากการขนส่ง ในขั้นตอนของการแปรรูป ต้องมีการพัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้า ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (Bio-Economy) เข้ามาช่วย และสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์แปรรูป ส่วนสุดท้ายในด้านการตลาด ควรเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ ควบคู่ไปกับการขยายตลาดออฟไลน์กับทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานที่ราชการ ครอบคลุมถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

นายประพัฒน์ ยังได้กล่าวถึงบันได 3 ขั้นของการพัฒนาภาคการเกษตรไทย ตั้งแต่ขั้นที่ 1 คือระดับครัวเรือนเกษตรกร ในการยกระดับผลิตภาพในการผลิตที่สอดคล้องกับทักษะและศักยภาพของครัวเรือน สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขั้นที่ 2 ระดับชุมชน (ตำบล) การมีแผนการผลิตทางการเกษตรเพื่อพัฒนารูปแบบและขนาดที่เหมาะสม มีแผนการจัดการและการประกอบการทั้งด้านปัจจัยการผลิตและผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว ขั้นที่ 3 ระดับเติบโต คือการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาด มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถขยายผลไปในภาคการศึกษารวมถึงการทำนโยบายต่อไป โดยนายประพัฒน์ ได้เน้นย้ำว่า “ต้องพัฒนาหลักสูตร/การเรียนรู้ด้านการประกอบการของเกษตรกรและชุมชน เพื่อยกระดับประชาชนฐานล่างขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีแต่แนวทางนี้เท่านั้นที่จะลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจนที่ระดับครัวเรือนได้จริง”

ด้านนายเอ็นนู กล่าวถึงการเขียนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ที่พูดถึงการยกระดับศักยภาพเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการ จากในอดีตที่คิดว่าเกษตรเป็นเพียงภาคส่วนผู้ผลิตและจะมีคนอื่นมาจัดการเรื่องการแปรรูป มีผู้ทำเรื่องการส่งออก หรือมีพ่อค้ามารับสินค้าไปขาย ต้องมีการปรับเปลี่ยนมุมมอง เขียนแผนแม่บทเปลี่ยนเกษตรให้เป็นผู้ประกอบการ โดยยุทธศาสตร์ชาติในด้านที่ 4 มีประเด็นหลักอยู่ 4 ส่วน ได้แก่ 1) การลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ 2) การกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี 3) การเสริมสร้างพลังทางสังคม และ 4) การเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น ในการพัฒนา การพึ่งตนเอง และการจัดการตนเอง ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดึงทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคสถาบันการศึกษา ภาควิชาการ เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา

ในส่วนของการพัฒนากำลังคนภาคเกษตรและชุมชนที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง นายเอ็นนู มองว่าการวางแนวคิดของภาครัฐในอดีตงบประมาณส่วนใหญ่ไปลงที่ Function based approach คือการปฏิบัติงานตามหลักภารกิจตามหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นหลัก รองลงมาคือ Area based approach การปฏิบัติงานตามหลักภารกิจพื้นที่/ท้องถิ่น ภูมิภาค ส่วนที่อยู่ในสัดส่วนน้อยที่สุดคือ Agenda based approach ที่เป็นการปฏิบัติงานตามหลักภารกิจยุทธศาสตร์ แนวทางปฏิรูปภาครัฐ นโยบายเร่งด่วน แต่ในปัจจุบันจากยุทธศาสตร์ชาติ ไปสู่แผ่นแม่บท แผนปฏิรูป แผนพัฒนาลงมาเป็นแผนกระทรวงต้องเป็นทีมเดียวกัน และต้องมีความยืดหยุ่น ล้มแล้วลุกไว ตามแนวทางพร้อมรับ ปรับตัว เปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโต และในอนาคตอันใกล้ต้องมีการปรับให้สัดส่วน Function based approach เล็กลง พื้นที่ Area based approach ต้องใหญ่ขึ้น สอดคล้องกับ Agenda based approach ที่ต้องขยายขึ้นเช่นกัน โดยในส่วนของ Area based ต้องเน้นการพัฒนาคนให้เป็น Active Citizen มีความรับผิดชอบต่อสังคมและพร้อมเรียนรู้ ขณะเดียวกัน Function based ก็ต้องนำเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลและนวัตกรรมเข้ามาในการปฏิบัติด้วย

สำหรับการพัฒนากำลังคนภาคเกษตรและชุมชนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) รวมถึงการวิจัย สามารถแบ่งเกษตรกรออกเป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 คือระดับก้าวหน้า เป็นกลุ่มที่ไม่ต้องพึ่งใคร เป็นปราชญ์ชาวบ้าน เป็นต้นแบบ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ในประเทศไทยมีอยู่ไม่เกิน 10% ระดับที่ 2 คือระดับรอปรับ มีสัดส่วนประมาณ 40% เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ ที่พร้อมจะเติบโตขึ้น พร้อมรอการปรับเปลี่ยน แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้พัฒนาขึ้นไปได้ ในระดับที่ 3 คือระดับรับสงเคราะห์ อีกประมาณ 40% ที่ยังเป็นกลุ่มรายเล็ก ยังมีปัญหาในการประกอบอาชีพอยู่ ส่วน 10% ที่เหลือคือกลุ่มที่สุดท้ายต้องออกจากภาคการเกษตรไป เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ในการพัฒนาภาคการเกษตรใน 3 ระดับแรกนั้นจึงควรเน้นการพัฒนาคนเป็นหลัก และพัฒนาระบบตามมา เริ่มจากการสร้างค่านิยมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับเกษตรกร สร้างเครือข่ายเกษตรและชุมชน สร้างการเรียนรู้ รวมถึงแหล่งเรียนรู้ เช่น สื่อต้นแบบ โดยมีการเชื่อมโยงกับภายนอก นอกจากนี้ในการบริหารยังต้องใช้วิธีคิดของภาคีพัฒนา มีเกษตรต้นแบบ เกษตรมืออาชีพ รวมถึงศูนย์วิจัย ศูนย์เรียนรู้ให้กับเกษตรกรด้วย ส่วนการพัฒนาระบบนั้นต้องครอบคลุมตั้งแต่ระบบการผลิตและแปรรูป, ระบบการตลาดและโลจิสติกส์, ระบบการเรียนรู้และข้อมูล, ระบบ วทน. และวิจัย, ระบบนโยบายและกลไกขับเคลื่อน, ระบบการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนระบบการเงินและทุน พร้อมทั้งยกตัวอย่างระบบเกษตรที่หลากหลายและมีความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ตัวอย่างของจังหวัดเชียงใหม่ ผู้นำชุมชนที่ได้รับรางวัลแมกไซไซอย่างคุณประยงค์ รณรงค์ เป็นต้น

Tags:

เรื่องล่าสุด