messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมเวที The Concluding Event of the OECD Thailand Country Programme เผยรายงานโรดแมปอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี สำหรับประเทศไทย

สอวช. ร่วมเวที The Concluding Event of the OECD Thailand Country Programme เผยรายงานโรดแมปอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี สำหรับประเทศไทย

วันที่เผยแพร่ 23 กันยายน 2021 1068 Views

(20 กันยายน 2564) ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเป็นวิทยากรผ่านระบบการประชุมทางไกล ในงาน The Concluding Event of the OECD Thailand Country Programme ซึ่งเป็นงานเผยแพร่การดำเนินโครงการภายใต้ Country Programme จัดโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

OECD-Thailand Country Program เป็นโครงการระหว่างรัฐบาลไทยและ Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) มีระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี (พ.ศ. 2561 – พ.ศ. 2564) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ใน 4 เสาหลัก ได้แก่ 1) ธรรมาภิบาลภาครัฐและความโปร่งใส (Governance & Transparency) 2) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน (Business Climate & Competitiveness) 3) ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) และ 4) การเติบโตอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth)

ซึ่ง สอวช. ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว ในเสาที่ 3 ประเทศไทย 4.0 เพื่อรายงานข้อมูลวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศไทย ใน EC-OECD STI Policy Compass และจัดทำการศึกษาสถานภาพและโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ Biorefinery ในระดับเล็กของประเทศไทย โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นระเบียบวาระแห่งชาติที่รัฐบาลกำลังผลักดันเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

การประชุมนี้ ประกอบไปด้วย การหารือทวิภาคีระหว่าง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับ นาย Mathias Cormann เลขาธิการ OECD การนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ดำเนินโครงการภายใต้ Country Program และการสรุปโครงการและผลการดำเนินงาน

ในช่วงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากโครงการ Country Programme นั้น ดร.กาญจนา ได้กล่าวถึงการรายงานข้อมูล วทน. ของประเทศไทย ใน EC-OECD STI Policy Compass ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และได้นำเสนอผลจากรายงานเรื่อง Guidance for a biorefining roadmap for Thailand ซึ่งเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีขนาดเล็กในระดับชุมชน โดยเกษตรกรสามารถส่งชีวมวลในท้องถิ่นให้เป็นวัตถุดิบที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงกว่าการขายพืชผลเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ในรายงานยังได้ระบุมาตรการเชิงนโยบายหลายประการ โดยได้อธิบายถึงมาตรการทั่วไปในอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี และมาตรการที่เฉพาะเจาะจงสำหรับประเทศไทย สำหรับข้อเสนอมาตรการที่เฉพาะเจาะจงสำหรับประเทศไทย ได้แก่ การเพิ่มการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางนโยบายและการแลกเปลี่ยนความรู้ของผู้เชี่ยวชาญในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ขณะเดียวกัน การปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ ก็เป็นประเด็นสำคัญ เช่น การจัดผังเมือง การจัดสรรส่วนแบ่งกำไรกับเกษตรกร การบริหารการใช้สอยที่ดิน และการสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานสาธิตหรือโรงงานต้นแบบในพื้นที่ EEC เป็นต้น

ติดตามรายละเอียด EC-OECD STI Policy Compass ได้ที่ https://stip.oecd.org/stip.html

รายงานเรื่อง Guidance for a biorefining roadmap for Thailand สามารถดาวน์โลดได้ที่

https://www.oecd.org/fr/innovation/guidance-for-a-biorefining-roadmap-for-thailand-60a2b229-en.htm

Tags:

เรื่องล่าสุด