messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เชิญ 2 กูรู Smart Farming ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตรอัจฉริยะ สร้างนวัตกรรมแบบเปิด ส่งเทคโนโลยีเข้าถึงเกษตรกร และผู้ประกอบการ เอกชนแนะรัฐสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรไทย ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการบริหารจัดการน้ำเต็มรูปแบบ

สอวช. เชิญ 2 กูรู Smart Farming ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตรอัจฉริยะ สร้างนวัตกรรมแบบเปิด ส่งเทคโนโลยีเข้าถึงเกษตรกร และผู้ประกอบการ เอกชนแนะรัฐสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรไทย ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการบริหารจัดการน้ำเต็มรูปแบบ

วันที่เผยแพร่ 24 กันยายน 2021 1072 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยรับมือกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อมองหาและสร้างโอกาสให้กับประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรง ในรายการ Future Talk by NXPO ต่อเนื่องในครั้งที่ 5 พูดคุยในประเด็น “Smart Farming ส่งเกษตรกรไทยก้าวไกลด้วยเทคโนโลยี” ได้รับเกียรติจาก ดร. องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) และนายนริชพันธ์ เป็นผลดี ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยระบบเกษตรดิจิทัล (DAT) ผู้วิจัยระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense จากเนคเทค สวทช. มาร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.

ดร. องอาจ เล่าถึงการดำเนินกิจการของบริษัท ซันสวีทฯ ผู้ประกอบการทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร ทั้งการผลิตและส่งออก มีการเพาะปลูกแบบเกษตรอัจฉริยะ (smart farming) ในลักษณะเกษตรพันธสัญญาหรือ contract farming โดยพื้นที่โรงงานและบริษัทตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง แช่แข็ง และสุญญากาศ ไปยังต่างประเทศประมาณ 50-70 ประเทศ มีจำนวนลูกค้ากว่า 200 ราย และมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกวัตถุดิบประมาณ 150,000 ตันต่อปี โดยมีเกษตรกรอยู่ใน contract farming ทั่วพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบนรวมกว่า 20,000 ครอบครัว

ในมุมการมองภาพอนาคตของเกษตรกรไทย ดร. องอาจ กล่าวว่า เป็นส่วนสำคัญมากเพราะประเทศไทยมีรายได้จากการเกษตรเป็นสัดส่วนถึง 30% และมีความเกี่ยวข้องกับประชากรจำนวนมากในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร แต่ปัญหาสำคัญคือประเทศไทยยังขาดแคลนการพัฒนาเรื่องการเกษตร อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องดีที่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และราคาไม่แพงเหมือนในอดีต อย่างบริษัท ซันสวีทฯ เอง ที่ได้เริ่มทำการเกษตรแม่นยำสูง (precision agricultural) ตั้งแต่ปี 2012 ในช่วงแรกหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่จำเป็น อีกทั้งเกษตรกรไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้อย่างแท้จริง เริ่มเข้าไปถึงเกษตรกรมากขึ้น และแก้โจทย์ให้ภาคการเกษตรได้ ทั้งการแก้ไขปัญหาเรื่องระบบน้ำ ดิน การให้ปุ๋ย หรือเรื่องของเมล็ดพันธุ์ หากไม่ได้นำเอาเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ต่างๆ ในยุคสมัยใหม่มาใช้ เกษตรกรจะดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างยากลำบาก

ด้านนายนริชพันธ์ ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ ได้คิดค้นเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เรียกว่า HandySense เป็นนวัตกรรมแบบเปิด (open innovation) ขึ้นมา ซึ่งทาง สวทช. และเนคเทคมีการผลักดันนวัตกรรมนี้ ให้เป็นนวัตกรรมที่เข้าถึงผู้ประกอบการและเกษตรกร เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการใช้เทคโนโลยีสำหรับภาคการเกษตร โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดนวัตกรรมนี้ นายนริชพันธ์ เปิดเผยว่า มาจากความตั้งใจส่วนตัวจากการที่พ่อแม่ปู่ย่าเป็นเกษตรกรที่ทำงานหนัก หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน จึงอยากสร้างเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้าไปช่วย และมองถึงเรื่องการทำการเกษตรแม่นยำสูง ที่มีข้อดีคือสามารถทำเกษตรในพื้นที่น้อยๆ แต่ได้ผลผลิตในปริมาณมาก หรือได้คุณภาพที่สูงขึ้น จึงทำให้เกิด HandySense ที่เป็นเซ็นเซอร์ในการตรวจสอบ ควบคุม ดูแลสภาพแวดล้อมในการปลูกพืชชนิดต่างๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงควบคุมกระบวนการให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ให้ธาตุอาหารต่างๆ ของพืช ซึ่งในปัจจุบันทำได้ถึงระดับ crop requirement หรือแบ่งความต้องการตามชนิดของพืชได้ อีกทั้งยังมีการเก็บข้อมูล ทำ Data Platform เพื่อที่ในอนาคตเกษตรกรจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้

เมื่อพูดถึงเป้าหมายของการทำเทคโนโลยี HandySense ในรูปแบบนวัตกรรมแบบเปิด สิ่งที่สำคัญที่สุด นายนริชพันธ์ กล่าวว่า คือการมองภาพความยั่งยืน ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เกษตรกรเริ่มเห็นประโยชน์ ทั้งเรื่องการเพิ่มผลผลิต การพยากรณ์ผลผลิต การรู้ช่วงเวลาในการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว เรื่องของการบริหารจัดการต่างๆ สิ่งที่ต้องมองเพิ่มเติม คือเรื่องของความยั่งยืน ด้วยการเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกรและผู้ประกอบการ เมื่อทำเป็นนวัตกรรมแบบเปิดการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ของผู้ประกอบการก็มีความเป็นไปได้ ทำให้เกษตรกรและนักพัฒนาเข้าถึงเทคโนโลยี และได้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ได้มาตรฐาน อีกสิ่งหนึ่งคือการสร้างชุมชนหรือระบบนิเวศ ที่ช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องการทำเกษตรอัจฉริยะ อยากให้เทคโนโลยีนี้ เป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่าย และเพราะเป็นนวัตกรรมแบบเปิด เราจึงเปิดเผยให้ทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการผลิต วัตถุดิบต่างๆ เทคโนโลยีการผลิต การออกแบบ รวมทั้งเราเอาอุปกรณ์ไปผ่านการทดสอบระดับมาตรฐาน เพื่อให้เหมาะกับบริบทของประเทศ นี่เป็นสิ่งที่เราส่งผ่านให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรให้สามารถนำไปใช้ได้เองทั้งหมด

ด้าน ดร. องอาจ ที่เริ่มนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาใช้ในธุรกิจกว่าสิบปี กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ทำตั้งแต่เรื่องน้ำ โดยได้ร่วมมือกับบริษัทด้านเทคโนโลยี ทำแอปพลิเคชันให้เกษตรกรใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ช่วยพยากรณ์สภาพภูมิอากาศได้ล่วงหน้า ตั้งแต่ 3 เดือนไปจนถึง 9 เดือน มีความแม่นยำ 60-70% ทำให้เกษตรกรรู้ว่าในอนาคตพวกเขาจะมีน้ำเพียงพอในการเพาะปลูกหรือไม่ และในปัจจุบันใช้น้ำได้เหมาะสมหรือไม่ อีกส่วนหนึ่งมีการทำแอปพลิเคชันการจองปลูก เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการปลูกพืชผลทางการเกษตรได้อย่างเป็นระบบ ในส่วนการส่งขายสินค้า มีระบบส่งโดยใช้การจองผ่านโทรศัพท์มือถือเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกษตรกรทำได้ เข้าถึงได้ง่าย และเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในการทำการเกษตรได้อย่างครบวงจร ซึ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยใช้เทคโนโลยีและด้วยการบริหารการจัดการที่ดี สุดท้ายแล้วจะเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการผลิตได้มากขึ้น และทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างมั่นคง

ดร. องอาจ ได้กล่าวเสริมว่า ต้องการผลักดันให้สิ่งที่ทำอยู่ ขยายผลไปในกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อยากให้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ มากกว่าการซื้อพืชผลการเกษตรที่เป็นไปตามภาวะการตลาดอย่างเดียว สำหรับกลุ่มเกษตรกร เริ่มใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้มากขึ้น แต่ยังต้องมีการกระตุ้นให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีในวงกว้าง ให้เกษตรกรเห็นประโยชน์จากการใช้งานจริง ในส่วนของภาครัฐ ต้องมองในเรื่องระบบบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการเกษตรของประเทศ ในการแก้ไขเรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วม ที่ปัจจุบันแก้ไขได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ซึ่งการลงทุนนั้นคุ้มค่า ทั้งด้านการเงินและสังคม รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการลงทุนในส่วนนี้ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ  โดยเฉพาะเรื่องน้ำชลประทาน ทั้งภาคการเกษตร น้ำกิน น้ำใช้ ของประเทศอย่างถาวร อีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญ คือสถาบันการศึกษา ต้องปรับให้เป็นการเรียนแบบลงไปในสนาม การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย การเรียนรู้ต่างๆ ต้องเปลี่ยนไปอยู่หน้างาน เชื่อว่าภาคเอกชนพร้อมเปิดกว้าง ร่วมมือกับทางภาคสถาบันการศึกษาในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปพร้อมกัน

นายนริชพันธ์ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำเกษตรอัจฉริยะในประเทศไทย เกษตรกรผู้ใช้งานยังเป็นกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มที่ปลูกพืชมูลค่าสูง หรือกลุ่มเกษตรพันธสัญญา ซึ่งมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรทั้งหมด ในมุมของการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการมองภาพในอนาคต เช่นตัวอย่างของบริษัท ซันสวีทฯ ที่มีแนวคิดเรื่องการใช้เทคโนโลยีไปตอบโจทย์ตั้งแต่กระบวนการผลิต กระบวนการบริหารจัดการ จนกระทั่งถึงการขาย ที่ครบวงจร เมื่อเกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ ก็จะไปตอบโจทย์ในเรื่องของรายได้ที่กลับมาหาตัวเกษตรกรเอง ส่วนในเรื่องการพัฒนาบุคลากร มองว่า ในอนาคตต้องพัฒนาไปพร้อมกับเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนเชื่อมโยงกันทั้งหมด สำหรับการพูดคุยในครั้งนี้ ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า สอวช. เองก็จะเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไว้ เพื่อเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย ในการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่อนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเทคโนโลยี นวัตกรรม เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการแข่งขันในอนาคต รวมถึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนได้ และสำหรับผู้ที่สนใจลงทะเบียนขอรับพิมพ์เขียว HandySense Open Innovation สามารถติดตามข้อมูลได้ผ่านเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/groups/handysense

Tags:

เรื่องล่าสุด