messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » STEMLAB ห้องแล็บในฝัน สร้างนวัตกรรมเหนือชั้นในโรงเรียน

STEMLAB ห้องแล็บในฝัน สร้างนวัตกรรมเหนือชั้นในโรงเรียน

วันที่เผยแพร่ 22 กันยายน 2021 4124 Views

ขึ้นชื่อว่า “ห้องแล็บ” เชื่อว่าทุกคนคงเคยผ่านประสบการณ์สมัยเรียนที่ต้องเข้าไปทดสอบ ทดลองทฤษฎีต่างๆ กันอยู่แล้ว แต่วันนี้จะมาแนะนำให้รู้จัก STEMLAB แล็บที่จะตอบโจทย์ให้เด็กๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผลิตชิ้นงานออกมาเป็นนวัตกรรม

นับเป็นแล็บยุคใหม่ที่ตอบโจทย์ในการพัฒนากำลังคนของไทยให้สอดรับกับเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ที่ต้องก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างรวดเร็ว

STEMLAB เป็นการพลิกโฉมแล็บแบบดั้งเดิมที่โดยปกติจะเน้นแค่เรื่อง S (Science) และ M (Mathematic) ที่ให้ทดลอง หรือคำนวณตามทฤษฎีและสรุปผลเป็นรายงานหรือโครงงานบนบอร์ดเท่านั้นแต่ STEMLAB จะเพิ่มการเรียนรู้และการลงมือทำจริงโดยการเพิ่ม T (Technology) และ E (Engineering) เข้าไป เพื่อให้แล็บเป็นเสมือนห้องสมุดที่สามารถพัฒนาทักษะ STEM ให้กับผู้ใช้งานได้อย่างครบถ้วน และสามารถนำความรู้ที่ได้จากห้องแล็บนี้ไปต่อยอดสร้างชิ้นงานที่ตนเองสร้างสรรค์ได้จริง ผ่านอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมที่มีอยู่ครบใน STEMLAB

STEMLAB เกิดขึ้นในปี 2560 โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อว.) สํานักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี

ด้วยการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ STEMLAB ต้นแบบ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่เน้นส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในโรงเรียน โดยเครื่องมือของห้อง STEMLAB เป็นเครื่องมือชนิดพิเศษที่ทันสมัย ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบและสร้างชิ้นงานอย่างอัตโนมัติที่สามารถทลายกําแพงข้อจํากัดของโครงงานที่เคยยากเกินไปให้สามารถทําได้ง่ายและรวดเร็ว

อีกทั้งยังมีวิศวกรประจำแล็บที่จะช่วยดูแลให้คำแนะนำกับผู้ใช้งาน ช่วยให้เกิดโครงงานที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น จากที่เคยเป็นโครงงานที่เน้นไปที่การสังเกตและสรุปผลการทดลอง เปลี่ยนมาเป็นโครงงานที่สร้างชิ้นงานออกมาใช้ได้จริง ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนสามารถฝึกฝนการเป็นนักนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปต่อยอดในระดับอุดมศึกษาได้ต่อไป

ยกตัวอย่างน้องๆ ระดับมัธยมศึกษาที่ใช้ประโยชน์จาก STEMLAB ในการสร้างดาวเทียมกระป๋อง และสามารถปล่อยดาวเทียมดังกล่าวสู่ชั้นบรรยากาศด้วยบอลลูนฮีเลียมขนาดใหญ่ โดยส่งดาวเทียมไปอยู่ที่ระดับความสูงกว่า 30 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเล (จำลองเสมือนอวกาศ) เพื่อไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืชในชั้นบรรยากาศ โดยน้องๆ ต้องเลือกเซนเซอร์ และเขียนโปรแกรมเพื่อเก็บข้อมูลให้กับดาวเทียมเองโดยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์จาก STEMLAB เป็นต้น

จนถึงปัจจุบัน โครงการ STEMLAB ต้นแบบ สอวช. ได้ขยายผลไปใน 164 สถานศึกษาทั่วประเทศ โดยหนึ่งในนั้นเป็นการดำเนินงานร่วมกับสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการขยายผลห้องปฏิบัติการดังกล่าวไปในชื่อโครงการโรงประลองต้นแบบวิศวกรรม หรือ Fabrication Lab จํานวน 150 สถานศึกษาทั่วประเทศ และยังได้ขยายผลโดยความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง

และเร็วๆ นี้ จากการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่าง สอวช. และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กสทป.) จะมีแผนจะขยายผล STEMLAB อีก 25 สถานศึกษาทั่วประเทศ แถมยังเพิ่มหลักสูตรในห้องแล็บเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมล้ำๆ อย่างเรื่อง Space, AI และ Quantum ด้วย

ประเทศไทยกําลังก้าวเข้าสู่ยุคขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าการทําอุตสาหกรรมเชิงปริมาณในอดีตเป็นอย่างมาก เพื่อจะนําพาประเทศไทยให้หลุดจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางได้ในที่สุด

กุญแจสำคัญในการนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายได้คือการพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรม โดยต้องเริ่มเตรียมความพร้อมกำลังคนตั้งแต่วัยเรียน โดยเฉพาะทักษะด้าน STEM พร้อมกับสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรม ซึ่ง STEMLAB จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญอันจะนำไปสู่การสร้างกำลังคนที่มีศักยภาพในการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศต่อไป

Tags:

เรื่องล่าสุด