messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. จัดกิจกรรม NXPO Town Hall Meeting พบปะพนักงานก่อนเริ่มทำงานแบบ Hybrid ตามมาตรการความปลอดภัยจากโควิด-19 ตั้งแต่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป

สอวช. จัดกิจกรรม NXPO Town Hall Meeting พบปะพนักงานก่อนเริ่มทำงานแบบ Hybrid ตามมาตรการความปลอดภัยจากโควิด-19 ตั้งแต่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป

วันที่เผยแพร่ 1 ตุลาคม 2021 808 Views

(30 กันยายน 2564) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดกิจกรรม NXPO Town Hall Meeting สร้างความมั่นใจให้ทุกคนกลับมาทำงานอย่างปลอดภัย ด้วย “มาตรการความปลอดภัยจากโควิด-19 สำหรับ สอวช.” (NXPO Covid Free Setting) โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณการเปิดสำนักงาน เตรียมพร้อมในการทำงานแบบไฮบริด Work from anywhere: W@A ซึ่งที่ผ่านมา สอวช. ได้มีมาตรการให้พนักงาน Work from home มาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน และหลังจากนี้จะปรับการทำงานให้พนักงานสามารถกลับเข้ามาทำงานที่สำนักงานได้ ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สำนักงานมีการเตรียมความพร้อมตามมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้พนักงานทุกคนกลับมาทำงานอย่างสบายใจ และสามารถกลับมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแชร์ประสบการณ์ร่วมกันอย่างปลอดภัย โดยแบ่งเป็น 2 มิติ คือ ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัย (COVID Free Environment) มีการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม เช่น ลูกบิดประตู ห้องน้ำ และอุปกรณ์ต่างๆ ทุก 1-2 ชั่วโมง มีการจัดระบบกรองอากาศ ทำความสะอาดด้วยการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งสำนักงาน และระบายอากาศห้องประชุมหรือพื้นที่ใช้ร่วมกันทุกเย็น จัดบริการแอลกอฮอล์ประจำจุดต่างๆ จัดอาหารและเครื่องดื่มสำหรับการประชุมโดยใช้อุปกรณ์เฉพาะบุคคล จัดเตรียมภาชนะแบบใช้ครั้งเดียว เช่น แก้วกระดาษ ช้อนส้อม ไว้บริการตามจุดต่างๆ และการทำความสะอาดภาชนะอาหาร เครื่องดื่ม ด้วยเครื่อง UV และจัดใส่บรรจุภัณฑ์แยกเพื่อความสะอาด

ส่วนมิติที่สอง ด้านพนักงานปลอดภัย (COVID Free Personnel) พนักงานที่เข้าสำนักงานได้ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส และพนักงานที่เข้าสำนักงาน ต้องตรวจ Antigen test kit (ATK) ทุก 14 วัน งดรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงาน และระหว่างพัก เน้นการประชุมออนไลน์ร่วมกับบุคคลภายนอก เป็นต้น

นอกจากนี้ สำนักงานยังคงมีความห่วงใยและอยากส่งต่อกำลังใจให้กับบุคลากร สอวช. ให้สามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน จึงได้ตั้งใจจัดทำ Covid Free setting Kits เพื่อมอบให้กับบุคลากร สอวช. ทุกคน คนละ 1 ชุด ประกอบด้วย ถุงผ้าตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy), Alcohol Pad, Alcohol Spray, ชุดกล่องข้าวพร้อมช้อนส้อม และแก้วน้ำ, Vitamin C หน้ากากอนามัย และ Antigen test kit

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการทำงานแบบ WFH ทำให้สำนักงานได้เห็นถึงการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการปรับตัวของบุคลากรเองที่ยังสามารถทำงานในสถานการณ์ที่ต้องทำงานที่บ้านได้เป็นอย่างดี รวมถึงการปรับเปลี่ยนของระบบ ที่ทำให้เห็นถึงความสามารถของสำนักงานในเรื่องของ Digital Transformation ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการทำงานนอกสถานที่

“ในการทำงาน W@A แม้ว่าเราจะมีระบบรองรับ มีเทคโนโลยีสำหรับการทำงานการประชุมที่พร้อม แต่อีกด้านหนึ่งที่ผมมีความเป็นห่วงกับการทำงานรูปแบบดังกล่าวคือเรื่อง Competencies และ Learning ของพนักงานเพราะการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญมาก การนั่งทำงานหรือประชุมหน้าคอมพิวเตอร์อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ให้กับตัวเอง และมีโอกาสจะทำให้เราสูญเสียเรื่องการเรียนรู้ ใน 2 มิติ คือ 1. มิติวิชาการ ที่ต้องอาศัย Learning by Doing และ 2. มิติการนำเสนอ (Presentation) ต่อหน้าคนจำนวนมาก เพราะการเรียนรู้ที่ดีต้องเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ เพราะฉะนั้น หากใช้รูปแบบการทำงาน WFH หรือ W@A แต่ไม่สามารถปลดล็อกข้อจำกัดในการเรียนรู้ดังกล่าวได้ ก็จะเกิด Competencies Lost ในด้านการเรียนรู้ในที่สุด จึงอยากจะเน้นย้ำว่า อย่าให้รูปแบบการทำงานมาเป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ของเรา ซึ่งสำนักงานเองก็จะมองหาแนวทางพัฒนาระบบเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการทำงานทั้งในรูปแบบ WFH หรือ W@A หรือแม้แต่การทำงานในสำนักงานด้วย” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ด้านการพัฒนาให้เกิดระบบการทำงานรองรับการทำงานนอกสถานที่ของสำนักงาน มองว่าเป็นโอกาสในวิกฤต ที่เราจะร่วมกันนำพา สอวช. ไปสู่ Digital Transformation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตและช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานภายในองค์กรให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ทั้งระบบบัญชีและการเงิน, ระบบการลา, การทำงานจากที่บ้าน W@A, e-saraban รวมถึงระบบ Shared Service, Odoo และ NXPO All Smart Application ที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน และอีกหลายระบบที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ซึ่งก็เป็นเป้าหมายและเจตนารมย์ของ สอวช. ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านการทำงานขององค์กรให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล โดยต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในองค์กรที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญไปสู่เป้าหมาย

สำหรับการทำงานของ สอวช. ในปีที่ผ่านมา แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และต้องทำงาน WFH แบบเต็มเวลา แต่พนักงานทุกคนสามารถปรับตัวในการดำเนินงาน ขับเคลื่อนผลงานในส่วนที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. รวมถึงการดำเนินงานตามหลายมติสำคัญของที่ประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และในส่วนของการบริหารจัดการของสำนักงาน นอกจากการเตรียมการเปลี่ยนผ่านไปสู่องค์กรที่เป็นรูปแบบดิจิทัลแล้ว ยังได้เริ่มทำเรื่องการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management  Quality Award : PMQA) เพื่อทำให้เป็น สอวช. เป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ และยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล รวมไปถึงการดูแลความเสี่ยงขององค์กรในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมให้ สอวช. ขยับการพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ

ดร. กิติพงค์ ได้กล่าวปิดท้ายว่า “เราต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาทักษะเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงแบบไม่หยุดนิ่ง อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเปิดใจยอมรับและพร้อม กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ โดยหวังว่าเราจะทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข และมีการพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง”

Tags:

เรื่องล่าสุด