นอกจากด้านการศึกษาและการเกษตรแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังทรงมีความห่วงใยประชาชนชาวไทยในด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่าง ๆ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ และแพทย์อาสาสมัคร โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลราษฎรผู้ป่วยไข้ได้ทันที
โครงการในพระราชดำริด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่พระองค์ได้ทรงริเริ่มขึ้น อาทิ โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน ได้ทรงพระราชทานโครงการแพทย์หลวงพระราชทาน เมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยที่มีการจัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือเครื่องใช้เพื่อตรวจรักษาราษฎรในถิ่นทุรกันดารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และอบรมหมอหมู่บ้านเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน และถ้าจำเป็นก็จัดส่งไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ
หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อรถยนต์ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทำฟัน มีทันตแพทย์อาสาออกปฏิบัติงาน โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2512 มีการส่งทันตแพทย์อาสาสมัครออกช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันแก่เด็ก นักเรียน และประชาชนที่อยู่ในท้องที่ทุรกันดาร
จะเห็นได้ว่าโครงการในพระราชดำริทุกโครงการ ล้วนแต่แสดงถึงความตั้งพระราชหฤทัยในการแก้ไขปัญหาให้กับราษฎรอย่างแท้จริง โดยพระองค์ทรงคำนึงถึงตั้งแต่การสร้างรากฐานที่ดีทางด้านการศึกษา ไปจนถึงการประกอบอาชีพ และการเข้าถึงการรักษาพยาบาลยามป่วยไข้ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก: http://nih.dmsc.moph.go.th/jariyatam/home5.html