messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » นักวิจัยชี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม ช่วยสร้างความคล่องตัวในการนำผลงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ แนะเร่งผลักดันระบบนิเวศและมาตรการส่งเสริมหน่วยวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน

นักวิจัยชี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม ช่วยสร้างความคล่องตัวในการนำผลงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ แนะเร่งผลักดันระบบนิเวศและมาตรการส่งเสริมหน่วยวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน

วันที่เผยแพร่ 15 ตุลาคม 2021 1148 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ในรายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 6 ในประเด็น “ถอดกฎหมายฉบับสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม นำไทยก้าวข้ามประเทศกับดักรายได้ปานกลาง” หลังจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติฯ นี้เป็นกฎหมาย ไปเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่ง สอวช. และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รวมถึงหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ. ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยการพูดคุยในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. ศ.นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.ดร. พิมพ์ใจ ใจเย็น คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) มาร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ กล่าวถึงสาระสำคัญของ พ.ร.บ. นี้ว่า เป็นการพูดถึงการกำหนดความเป็นเจ้าของของผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในกรณีที่ใช้เงินสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเมื่อประมาณ 40 กว่าปีที่แล้วในสหรัฐอเมริกามีการออกกฎหมายที่ชื่อว่า Bayh-Dole Act ตามชื่อของสมาชิกวุฒิสภาที่ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากมองว่าเมื่อรัฐเป็นเจ้าของงานวิจัยและนวัตกรรม การที่จะเอาไปใช้ประโยชน์มีข้อติดขัดหลายอย่าง และไม่มีแรงจูงใจในการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ประโยชน์ จึงเสนอให้ยกผลงานให้ผู้รับทุนเป็นเจ้าของ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ ทำให้นักวิจัยมีแรงผลักดันในการสร้างผลงานดีๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลังจากสหรัฐอเมริกาเริ่มใช้กฎหมายนี้ พบว่ามีจำนวนสิทธิบัตรเพิ่มสูงขึ้นมาก การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยไปสู่ภาคเอกชนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัด ประเทศไทยเองมีการผลักดันเรื่องนี้มากว่า10 ปี เมื่อได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายก็เชื่อว่าจะช่วยทำให้สามารถนำเอาผลงานวิจัยและนวัตกรรมออกไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น

ด้าน ศ.นพ. เกียรติ ให้ความเห็นว่า การที่มีกฎหมายข้างต้นออกมา เห็นได้ชัดว่าจะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการเป็นเจ้าของสิทธิบัตร และการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ทำให้การดำเนินการต่างๆ คล่องตัวมากขึ้น สำหรับประเทศไทยกฎหมายนี้จะช่วยเข้ามาหนุนในด้านหนึ่ง แต่คิดว่ายังไม่เพียงพอ หากประเทศไทยจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดจากการมีสิทธิบัตรจำนวนมากขึ้น ต้องเป็นสิทธิบัตรระดับโลก หรือนานาชาติ ไม่ใช่สิทธิบัตรเฉพาะในประเทศ สิ่งที่ทำให้เกิดบรรยากาศการวิจัยของประเทศไทยได้นั้น จะต้องหนุนให้เกิดการขับเคลื่อนไปพร้อมกันแบบคู่ขนาน คือการทำให้มีระบบเอื้อให้นักวิจัยทำวิจัยแข่งขันในระดับโลกได้จริง และมีระบบเอื้อให้นักวิจัยมีความรู้ในเรื่องการต่อยอดทำให้สิทธิบัตรออกไปเป็นใบอนุญาตที่นำไปใช้ได้จริง แน่นอนว่า พ.ร.บ. นี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้นักวิจัยกล้าขอทุนรัฐบาลมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ระบบนิเวศในแต่ละสถาบัน และในระดับประเทศก็ยังคงต้องทำอยู่ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการจัดตั้งสถาบันหรือศูนย์วิจัยด้านการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน ให้สัดส่วนนักวิจัยส่วนใหญ่ไปอยู่ในภาคเอกชน เพราะสามารถนำผลงานไปใช้ได้จริงตั้งแต่แรก

“ประเทศไทยอาจจะต้องคิดต่าง การจัดตั้งทีมวิจัยอาจไม่ต้องใหญ่ มีขนาดเล็ก แต่มุ่งเฉพาะเจาะจงไปในประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียว และทำอย่างจริงจัง เมื่อมาดูข้อจำกัดหรืออุปสรรคของมหาวิทยาลัย สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการมี Block Grant เพื่อสร้างความคล่องตัวในการบริหารจัดการ อย่างการจัดตั้งหน่วยวิจัยที่ให้งบประมาณในลักษณะ Block Grant ไม่ต้องเสียเวลาขอทุน ไม่ดูกระบวนการ แต่ดูผลลัพธ์ที่ออกมา ต้องมีการกำหนดดัชนีชี้วัดผลงาน (KPI) ที่ชัดเจนว่าเมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณไปแล้วต้องทำอะไรบ้าง และแต่ละหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรทุนไปแล้ว สามารถรวมตัวกันทำงานในรูปแบบ Cluster Focus ได้ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างระบบนิเวศที่ดี สร้างให้มีสิ่งแวดล้อมที่อยากจะสร้างผลงานวิจัย รวมไปถึงการตั้ง Holding Company เช่น CU Enterprise ที่สร้างให้เกิดสตาร์ทอัพขึ้นหลายราย เพราะฉะนั้นหน้าที่จริงๆ ของหน่วยงานให้ทุนคือการสร้างระบบนิเวศ และเมื่อมาเสริมกับ พ.ร.บ. ที่ปลดล็อกออกมาเป็นกฎหมาย ถ้าระบบนิเวศโดยรวมง่ายขึ้นก็เป็นหนึ่งในการอำนวยความสะดวกให้นักวิจัยไม่ต้องกังวลในการขอทุนจากรัฐบาล” ศ.นพ. เกียรติ กล่าว

ในมุมของนักวิจัย อย่าง ศ.ดร. พิมพ์ใจ มองว่า การสร้างผลงานนวัตกรรมจากงานวิจัยเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ตัวอย่างผลงานวิจัยของสถาบันวิทยสิริเมธี เมื่อจัดระดับความพร้อมของเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรม (Technology Readiness Levels: TRL) ในช่วง 3 ปีแรก ผลงานส่วนใหญ่จะเป็นเทคโนโลยีที่จะอยู่ในต้นน้ำ แต่ในปีต่อๆ มา เริ่มเห็นความก้าวหน้าในการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์มากขึ้น มีการออกใบอนุญาต การจัดตั้งสตาร์ทอัพ รวมถึงการทำต้นแบบเพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ นอกจากความสำเร็จจากการผลักดัน พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมแล้ว การนำผลงานไปใช้ประโยชน์ ผ่านการจัดตั้ง Holding Company ยังมีส่วนช่วยอย่างยิ่งให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้จริงมากขึ้น นอกจากนี้ อยากฝากให้กำลังใจนักวิจัยทุกคนให้ยังคงมุ่งมั่นในการทำงานวิจัย หาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์และนำไปสู่นวัตกรรมต่อไป

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ ยังได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญว่า การปฏิรูประบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) จนได้มี พ.ร.บ. นี้ประกาศใช้ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบนิเวศให้กับนักวิจัย และเป็นการปลดล็อกครั้งใหญ่ที่จะทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้นในอนาคต ในส่วนของมาตรการอื่นๆ ที่จะช่วยขยับระบบนิเวศนี้ไปได้ อาทิ การจัดสรรงบประมาณในลักษณะ Block Grant ให้งบประมาณตรงไปที่หน่วยปฏิบัติ ไม่จำกัดแค่ในหน่วยงานรัฐเท่านั้น และใช้เกณฑ์ไปวิเคราะห์ว่าหน่วยงานนั้นให้ความสำคัญกับโครงการที่ตรงกับภารกิจ และกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งหน่วยงานจะต้องมีระบบบริหารจัดการงานวิจัยที่เข้มแข็ง, การจัดสรรงบประมาณแบบ Multi-year ทดลองกับส่วนที่เป็นทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) คือส่วนที่หน่วยบริหารและจัดการทุนรับเงินจากกองทุนไปบริหาร โดยกำหนดว่าจะมีการบล็อกเงินไว้ส่วนหนึ่งไม่เกิน 30% ของกองทุน ให้สามารถเสนอแผนที่เป็น Multi-year ได้ ลดความเสี่ยงของนักวิจัยจากการที่มีเงินทุนรองรับในระยะยาว เป็นต้น ถือเป็นความเคลื่อนไหวส่วนหนึ่ง ที่พยายามจะทำให้ภาคเอกชนที่เป็นนักรบตัวจริงในเชิงเศรษฐกิจให้สามารถขยับไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง และทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนประเทศนี้ด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริง

ด้าน ดร. กิติพงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .… ถือเป็นความก้าวหน้าของระบบการปฏิรูปทางด้าน อววน. โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นว่าระบบต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง คิดว่านี่เป็นจุดตั้งต้นที่ดี ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ที่สำคัญใน พ.ร.บ. นี้ ยังมีอีกมิติหนึ่ง ซึ่งมากกว่าที่สหรัฐอเมริกาเคยทำ คือได้กำหนดให้กองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) จัดงบประมาณประเภทส่งเสริมการนำเอานวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ด้วย ไม่ใช่ทุนในการทำงานวิจัยเท่านั้น แต่เป็นทุนที่นำเอานวัตกรรมไปใช้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใหม่มาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบว่ากลไกในการทำตรงนี้จะทำอย่างไร โดยเชื่อว่าการบริหารจัดการและการสร้างระบบนิเวศที่ดีเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำต่อไป

Tags:

เรื่องล่าสุด