messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “เอนก” แนะ สอวช. หาแนวทางขับเคลื่อนด้านมรดกทางวัฒนธรรมไทยและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชื่อมโยงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก

“เอนก” แนะ สอวช. หาแนวทางขับเคลื่อนด้านมรดกทางวัฒนธรรมไทยและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชื่อมโยงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก

วันที่เผยแพร่ 25 ตุลาคม 2021 963 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม

ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก กล่าวในที่ประชุมว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการจัดอันดับประเทศที่มีอิทธิพลทางด้านมรดกทางวัฒนธรรม จากรายงาน World’s Best Countries for Cultural Heritage Influence, 2021 โดย  CEOWORLD Magazine นิตยสารด้านธุรกิจที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ พบว่าประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก โดย ดร. เอนก มองว่า ประเทศไทยมีมรดกทางวัฒนธรรมมากมายที่ประเทศอื่นไม่มี และเป็นสิ่งที่ไม่ต้องลงทุนซื้อหา แต่สามารถต่อยอดเชื่อมโยงกับจุดแข็งอื่น ๆ ของไทยได้ เช่น อาหารไทย มวยไทย ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากชาติอื่น

“เราจะทำอย่างไรที่จะผลิตการวิจัย การอุดมศึกษา นวัตกรรม ให้เป็นสัดส่วนที่พอเทียบเคียงได้กับการถูกจัดอันดับเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ต้องไปช่วยกันคิดให้หนักขึ้น ในการถอดบทเรียนมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อทำเป็นตำรา บทเรียน และวิจัยร่วมกัน น่าจะทำให้เรามีอะไรที่จะไปเสนอแก่โลกได้ ที่ผ่านมาการเรียนการสอน วิธีคิดหลักสูตรของไทยได้จากการไปนำของต่างชาติมาแปล หรือไปเรียนมาจากต่างประเทศแล้วสอนกันต่อๆ ไป แต่ถ้าเราคิดในระดับอุดมศึกษา แล้วชักชวนประเทศ CLMV หรือประเทศจีน อินเดีย มาเรียนรู้ มาร่วมกันทำให้เป็น Asian Cultural Heritage ได้ก็จะทำให้เกิดคุณค่าด้านมรดกทางวัฒนธรรมสมกับที่เราได้อันดับ 5 ของโลก ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมนี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงสิ่งที่จำต้องไม่ได้ อย่างน้ำใจไมตรี ความโอบอ้อมอารี ที่คนไทยถ่ายทอดต่อกันมาอย่างยาวนานด้วย เราต้องระดมสมอง ระดมสติปัญญาช่วยกันคิดเรื่องนี้ และหาคนที่เราเห็นว่าจะมาช่วยเราคิดได้ ในการทำเรื่องที่สร้างสรรค์ ต้องไม่ตั้งกฎเกณฑ์มาก ต้องปล่อยความคิดให้ไหลลื่น คิดไปข้างหน้า อย่าไปเทียบกับคนอื่น แล้วมองว่าเราสู้เขาไม่ได้ มันจะไม่ทำให้เกิดพลัง สอวช. ต้องหาคนที่เก่งเรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์มาช่วย และต้องมีการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ให้มากขึ้น” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก กล่าว

ในส่วนความคิดเห็นของที่ประชุมได้เสนอให้มีการหาแนวทางที่จะช่วยผลักดันให้มรดกทางวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีให้สามารถประยุกต์เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าได้ จะทำอย่างไรให้การพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมที่ถือว่าเป็นจุดแข็งของประเทศนำไปสู่การขับเคลื่อนบูรณาการทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะ เพื่อทำให้เกิดนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลก ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญของ สอวช. ที่ต้องมองหาแนวทางในเรื่องนี้ โดยในแง่ของแนวคิดเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมของไทยจะต้องขยายกว้างออกไป ทั้งในระดับเอเชีย ระดับอาเซียน ที่จะต้องร่วมมือกัน รวมถึงควรให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนและโครงการผลิตอาชีพที่เน้นด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์มากขึ้น ในการดำเนินงานหรือวางแผนการขับเคลื่อนในด้านนี้จึงต้องอาศัยทีมเขียนแผนที่มีรายละเอียดชัดเจน มีความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไปได้ ซึ่งข้อเสนอในประเด็นนี้ ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้รับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมเพื่อนำไปดำเนินการต่อไป

สำหรับระเบียบวาระอื่นๆ ที่สำคัญ ดร. กิติพงค์ ได้เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของ สอวช. ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยได้สะท้อนให้เห็นภาพรวมการทำงานของ สอวช. ที่ทำงานตั้งต้นในระดับนโยบาย ก่อนจะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะมาขับเคลื่อนในเชิงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การทำงานจึงต้องทำร่วมกันกับหลายหน่วยงาน ในลักษณะที่เป็นแพลตฟอร์ม โดยใช้เป้าหมายใหญ่ของประเทศมาเป็นทิศทางวางแผนในเชิงนโยบาย

ในการทำงานมีแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ผ่าน 7 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) ระบบนิเวศนวัตกรรม เน้นเศรษฐกิจกระแสหลัก ทำอย่างไรให้ประเทศไทยออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน 2) เศรษฐกิจบีซีจี  ซึ่งมีการเลือกหยิบยกบางเรื่องขึ้นมาทำ เช่น การขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน 3) การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก 4) พลิกโฉมการอุดมศึกษา 5) ปฏิรูประบบ อววน. ทั้งเรื่องของการปรับระบบงบประมาณ การบริหารจัดการทุน การปฏิรูปในเชิงของกฎหมาย กฎระเบียบ 6) ระบบนวัตกรรมสังคม ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ และ 7) สร้างความเข้มแข็งของกระบวนการนโยบาย ซึ่งการทำงานผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปด้วย

ด้านผลงานสำคัญของ สอวช. ที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและประเทศ แบ่งได้เป็น 8 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1) พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา และเตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย เพื่อผลักดันให้ผู้ทำวิจัยได้เป็นเจ้าของผลงานวิจัย และทำให้เกิดการต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปสู่การใช้ประโยชน์มากขึ้น 2) ระบบบริหารและจัดการทุนด้านวิจัยและนวัตกรรมที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ และการจัดตั้งสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (องค์การมหาชน) (รวพ.) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ สร้างรากฐานไปสู่อุตสาหกรรมและกิจการแห่งอนาคต การพัฒนาพื้นที่ และยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานราก 3) แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับการลงทุนของประเทศ (วิศวกรและนักวิทย์ 20,000 คนต่อปี) รองรับการลงทุนมากกว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี 4) BCG Policy and Strategy มุ่งเน้น 3 ด้านคือ การสร้างตลาดนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์, การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศที่สร้างมูลค่าจากฐานสังคมคาร์บอนต่ำและการผลิตที่สะอาด, การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเศรษฐกิจจุลินทรีย์ 5) Strategic Foresight ด้านการอุดมศึกษา มีการจัดทำสมุดปกขาวระบบอุดมศึกษาไทยในบริบทของประเทศพัฒนาแล้ว, การจัดทำยุทธศาสตร์กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล, การทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ 6) Thailand Higher Education and Innovation Policy Accelerator (THIPA) ที่ดำเนินงานมุ่งเน้นการพลิกโฉมอุดมศึกษา ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น 7) การวิจัยเชิงระบบ: นวัตกรรมสังคม มนุษย์ และศิลปกรรม และ 8) การสร้างการรับรู้ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในสังคม ผ่านการใช้สื่อที่หลากหลาย เช่น การจัดรายการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก Future talk by NXPO ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพของ อววน. การผลิตสารคดีเพื่อการเรียนรู้ รายการ THE NEXT “คลื่นอนาคต” ร่วมกับ ThaiPBS เป็นต้น

Tags:

เรื่องล่าสุด