messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ดร.เอนก มอบ สอวช. ปั้น Soft Power มรดกทางวัฒนธรรม แนะจับมือ อินเดีย และกลุ่มประเทศ CLMV ผลักดันสู่ “Asian Cultural Heritage”

ดร.เอนก มอบ สอวช. ปั้น Soft Power มรดกทางวัฒนธรรม แนะจับมือ อินเดีย และกลุ่มประเทศ CLMV ผลักดันสู่ “Asian Cultural Heritage”

วันที่เผยแพร่ 26 ตุลาคม 2021 790 Views

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยได้หยิบยกประเด็นที่ประเทศไทยติดอันดับ 5 ของประเทศที่มีอิทธิพลด้านมรดกวัฒนธรรมของโลก ประจำปี 2564 จากรายงาน World’s Best Countries for Cultural Heritage Influence, 2021 โดย  CEOWORLD Magazine   ซึ่งเป็นนิตยสารด้านธุรกิจที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ โดยการจัดอันดับได้วิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูลของ 165 ประเทศใน 9 ด้าน ได้แก่ สถาปัตยกรรม มรดกงานศิลป์ แฟชั่น อาหาร ดนตรี วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และการเข้าถึงทางวัฒนธรรม  ซึ่งประเทศที่คว้าอันดับ 1 คือ อิตาลี รองลงมาได้แก่ กรีซ สเปน อินเดีย และไทย โดย ดร.เอนก มองว่า ประเทศไทยมีมรดกทางวัฒนธรรมมากมาย ที่ประเทศอื่นไม่มี และเป็นสิ่งที่ไม่ต้องลงทุนซื้อหา แต่สามารถต่อยอดเชื่อมโยงกับจุดแข็งอื่น ๆ ของไทย เช่น อาหารไทย มวยไทย ที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างจากชาติอื่น จะเห็นได้ว่าแม้จะมีกีฬามวยทั่วโลก แต่กางเกงมวยไทยขายดีที่สุดในโลก 

“ถ้าประเทศไทยจับมือกับ CLMV และ อินเดียในรูปของ Asian Cultural Heritage ก็จะทำให้มีพลังในการขับเคลื่อนในระดับภูมิภาค อยากให้ สอวช. ทำในเรื่องนี้ ในการถอดบทเรียนมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อทำเป็นตำรา บทเรียน และวิจัยร่วมกัน น่าจะมีอะไรที่เสนอแก่โลกได้ ที่ผ่านมาในมหาวิทยาลัยก็มีเป็นตำราบ้าง แต่เป็นการแปลจากตำราต่างประเทศ ไม่ได้เขียนขึ้นมาเอง ถ้าเราจัดทำเนื้อหาเองก็จะดีกว่า”

ในที่ประชุม ยังได้ยกตัวอย่างประเทศเกาหลี ที่สามารถสอดแทรก มรดกทางวัฒนธรรมเข้าไปเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจ เช่น เหล้าโชจู และสินค้าอีกหลายชนิดที่ได้รับความนิยมในระดับโลก หรือแม้แต่ปรากฎการณ์ ลาลิษา ก็ทำให้ประเทศไทยดูมีคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมขึ้นมาในสายตาชาวโลก ทั้งที่เราไม่ได้ลงทุนอะไรกับเขาเลย  เราจะทำยังไง จะปล่อยผ่าน หรือจะคว้าโอกาสนี้ไว้ เพื่อให้สมกับที่เราติดอัน 5 ของโลกที่มีอิทธิพลด้านมรดกทางวัฒนธรรม

“เราต้องระดมสมองเรื่องนี้อย่างจริงจัง การทำงานสร้างสรรค์ ต้องไม่ตั้งกฎเกณฑ์มาก ต้องปล่อยความคิดให้ไหลลื่น คิดไปข้างหน้า อย่าไปเทียบกับคนอื่น แล้วมองว่าเราสู้เขาไม่ได้มันจะไม่ทำให้เกิดพลัง ต้องถอดบทเรียนความล้มเหลวและความสำเร็จของเขานำมาปรับใช้ สอวช. ต้องหาคนเก่ง มาช่วยทำงาน ซึ่งก็เชื่อว่าจะสามารถทำได้ หากมีค้นคว้าและศึกษามากขึ้น” ดร.เอนก กล่าว

จากนั้น ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางและได้สนับสนุนแนวคิดของ ดร.เอนก และได้หยิบยกผลสำรวจล่าสุดที่กรุงเทพมหานคร ติดอันดับ 1 ของเมืองที่เหมาะกับการทำงานและพักผ่อน หรือ Workation โดยเป็นการสำรวจของเว็ปไซต์ Holidu.co.uk ซึ่งเป็นเว็ปไซต์สำหรับการค้นหาสถานที่พักผ่อนของประเทศอังกฤษ ซึ่งได้จัดอันดับ 150 เมืองสำหรับการทำงานพักผ่อนโดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ปรากฏว่า กรุงเทพมหานคร ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองสำหรับการทำงานและพักผ่อนเป็นอันดับ 1 ของโลก และ ภูเก็ต ติดอันดับที่ 10

นอกจากนี้ ยังมองว่า สอวช. มีความเหมาะสมที่จะเป็นแกนหลักในการ ผสมผสาน วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ให้เข้ากับ Cultural Heritage หรือ มรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ขับเคลื่อนประเทศไปสู่ มรดกทางวัฒนธรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจได้ ดูจาก Soft power ของประเทศเกาหลี ที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งที่เมื่อ 10 ปีที่แล้วสินค้า เกาหลีเองยังไม่มีชื่อเสียงอะไรนอกจากโสม จนกระทั่งรัฐบาลสนับสนุนให้จัดทำภาพยนตร์ ซีรีย์ ขายไปทั่วโลก รวมถึงใน Netflix โดยสอดแทรกมรดกทางวัฒนธรรม ทั้ง อาหาร เสื้อผ้า เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ที่เป็นเอกลักษณ์ จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก ประเทศไทยแม้จะมีบ้าง แต่ที่นำเข้าไปสู่ Netflix ยังเป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้สอดแทรกมรดกทางวัฒนธรรมเข้าไปเท่าไรนัก ถ้าเป็นไปได้ควรจะบูรณาการการทำงานกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับงานศิลปะ ซึ่งมีเขียนไว้ในแผน ววน. แล้ว สกสว.เองก็ได้ใส่งบประมาณมาให้แล้วด้วย หากสามารถดึงคนเก่งมาทำงานเชิงสร้างสรรค์ ก็จะสามารถต่อยอดได้

Tags:

เรื่องล่าสุด