(11 พฤศจิกายน 2564) สำนักงานสภานโนยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมแสดงเจตจำนงในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ Thailand Synthetic Biology Consortium ร่วมกับ 16 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยการสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (III), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยนเรศวร, สถาบันวิทยสิริเมธี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน), บริษัท ไบโอ บัดดี้ จำกัด, และ บริษัท เทสท์บัด จำกัด เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการผลักดันและขับเคลื่อนนวัตกรรม อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology: SynBio) ในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ บีซีจี ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนของรัฐบาล อีกทั้งงานที่จัดขึ้นนี้ยังเป็นการเปิดตัว SynBio Consortium ครั้งแรกของประเทศไทย เป็นความร่วมมือกันครั้งสำคัญของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรการศึกษา และองค์กรภาคเอกชน ในการเปิดประตูสู่โอกาสสำคัญของเศรษฐกิจชีวภาพสู่การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve)
สำหรับพันธกิจการจัดตั้งเครือข่าย Thailand Synthetic Biology Consortium ประกอบด้วย 1) เพื่อจัดตั้งเป็น Thailand Synthetic Biology Consortium เพื่อพัฒนาความร่วมมือทั้งในด้านงานวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ 2) เพื่อสร้างเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และการเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาและใช้เทคโนโลยี Synthetic Biology ในระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทย 3) เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อน บีซีจี โมเดล ผ่านเครือข่าย Thailand Synthetic Biology Consortium 4) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและกำหนดทิศทางร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Synthetic Biology 5) เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัยในสาขาเทคโนโลยี Synthetic Biology ทั้งภายในและระหว่างประเทศเพื่อต่อยอดและสร้างนวัตกรรม และส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้แพร่หลายต่อไป
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร. อะจิคุมาร์ พารายิล ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Manus Bio Inc. บริษัทผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงของสหรัฐอเมริกา มาแชร์มุมมองและแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ในระดับโลก จากนั้น ดร. คอสทัส วาวิสทัส ผู้จัดการภาคีเครือข่าย SINERGY เครือข่ายความร่วมมือในการผลักดัน ขับเคลื่อนนวัตกรรมและอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ ประเทศสิงคโปร์ ก็ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนถึงนวัตกรรมจากเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ที่ประเทศสิงคโปร์ใช้ในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็น Global Bioeconomy Hub (ศูนย์กลางทางเศรษกิจของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ)
นอกจากนี้ ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. ได้กล่าวบรรยายผ่านระบบออนไลน์ ในหัวข้อ SynBio Ecosystem Development Roadmap ซึ่งแผนที่นำทางที่จัดทำขึ้นเพื่อเป้าหมายร่วมในการพัฒนาขับเคลื่อน Synthetic Biology รวมถึงนวัตกรรม อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแผนที่นำทางนี้มีผู้ร่วมให้ความเห็นทั้งในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) บริษัทสตาร์ทอัพ บริษัทขนาดใหญ่ สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย โดยพบว่าสำหรับประเทศไทย SynBio ยังมีโอกาสในการพัฒนาไปได้อีกมาก ส่วนสำคัญคือการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ บีซีจี ที่เป็นวาระสำคัญของประเทศไทย
ในส่วนของแผนที่นำทาง ทำขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการทำงานร่วมกัน และมองเป้าหมายไปถึงปี 2030 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ในช่วงแรก (1-3 ปี) คือการสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building) การมีแพลตฟอร์มความร่วมมือ (Collaboration Platform) รวมถึงพยายามแสดงให้เห็นโอกาสทางธุรกิจ ในระยะกลาง (3-5 ปี) มองถึงการยกระดับโอกาสในการผลิตและมาตรฐานการผลิต ส่วนในระยะยาว (5 ปีขึ้นไป) คาดหวังว่าจะสร้าง Deep Tech Startup หรือ Deep Tech Enterprise ขึ้นมา เพื่อในอนาคตจะเป็นฐานสำคัญในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้น
“หลักหมุดหมายสำคัญที่ต้องการให้เกิดขึ้นในระยะ 10 ปีนี้ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1) การจัดตั้ง SynBio Academy ใช้จุดแข็งของมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ดูถึงเรื่องการทำหลักสูตร มี Training Course นำความรู้จากหลายศาสตร์มาทำงานร่วมกันและดูถึงเรื่องการเชื่อมโยงกับต่างประเทศด้วย ที่สำคัญต้องสร้างความรู้ความเข้าใจว่า SynBio คืออะไร สร้างการมีส่วนร่วมให้คนเข้าใจ ซึ่งจะส่งผลในการสร้างความต้องการ และโอกาสทางการตลาดด้วย 2) Investment & Strategic Funding มองถึงการให้การสนับสนุนในการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงการสร้างแรงจูงใจ ที่เตรียมจะหารือกับ BOI ในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 3) R&D Infrastructure เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน หาโอกาสที่จะมี National Biofoundry ตอนนี้อาจไปเชื่อมโยงกับ Global Biofoundries Alliance รวมถึงการส่งเสริม Contract Development and Manufacturing Organization หรือ CDMO เป็นตัวกลางในเชื่อมโยงเอาโจทย์ความต้องการจากการวิจัยไปสู่การผลิต และ 4) เรื่องระบบนิเวศ กฎหมาย กฎระเบียบ มีการพูดถึงกฎหมายเกี่ยวกับ Biosafety/Biosecurity รวมถึงเรื่องสิทธิบัตร และการส่งเสริมให้เกิดการทำนวัตกรรมต่างๆ โดย ดร. กาญจนาได้เชิญชวนทุกฝ่ายมาร่วมกันทำให้หมุดหมายนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น” ดร. กาญจนา กล่าว
นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังได้รับเกียรติจาก นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงความยินดีกับการแสดงเจตจำนงในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และสนับสนุนให้เกิดโอกาสที่จะขยายความร่วมมือ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ในประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน มีความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบการเกษตร จึงมีความพร้อมที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการพัฒนา ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์จะสามารถต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมไทยได้ทั้งระบบ รวมทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน
ในงานยังได้มีการเปิดตัวหนังสืออีบุ๊ค Thailand Synthetic Bioeconomy Outlook and Key Milestones ที่จัดทำโดย SynBio Consortium Working Group โดยบอกเล่าถึงความหมายและการเกิดขึ้นของ Synthetic Biology ที่จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างประโยชน์มากมาย ทั้งในด้านการเกษตร อาหารและยา หรือการผลิตวัสดุเพื่อทดแทนทรัพยากรจากธรรมชาติที่เหลืออยู่อย่างจำกัด, ความก้าวหน้าของ SynBio ความคาดหวังและข้อกังวลของเทคโนโลยี, การใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี SynBio ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเคมี พลังงานและสิ่งแวดล้อม เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมยา, การกำกับดูแลความปลอดภัยทางชีวภาพของ SynBio เป็นต้น โดยผู้สนใจสามารถอ่านเอกสารฉบับเต็มได้ที่ https://www.nxpo.or.th/th/report/9291/