messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด สอวช. เร่งผลิตกำลังคน สร้างนวัตกรรมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีลงสู่ท้องถิ่น

มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด สอวช. เร่งผลิตกำลังคน สร้างนวัตกรรมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีลงสู่ท้องถิ่น

วันที่เผยแพร่ 19 พฤศจิกายน 2021 996 Views

ตลอดปี 2564 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และแม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์จะคลี่คลายลงบ้าง ด้วยเพราะมีประชาชนได้รับวัคซีนกันแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่อาจวางใจได้ หลายประเทศ จึงยังคงมีมาตรการคุมเข้มต่อไป

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลประกาศเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พร้อมกำหนดมาตรการของนักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยของเจ้าบ้านและผู้มาเยือน ขณะที่ธุรกิจ ห้างร้าน หน่วยราชการต่าง ๆ เริ่มทยอยเปิดทำการตามปกติ รวมถึงโรงเรียนที่ได้เปิดแบบ On Site ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ซึ่งต้องจับตารอดูอย่างใกล้ชิดต่อไป

ในส่วนความเสียหายทางเศรษฐกิจเมื่อถูกถาโถมด้วยสถานการณ์โควิด หลายฝ่ายเริ่มจับตาดูว่า รัฐบาลจะมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่า การแก้ปัญหาแบบเดิม ไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไป เพราะโลกหลังโควิดชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง เทคโนโลยีนวัตกรรม เข้ามามีบทบาท และกำหนดทิศทางเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานราก ไปจนถึงระดับโลก

จึงมีการคาดการณ์กันว่า ประเทศไทยหลังจากนี้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมาอย่างรวดเร็ว

นวัตกรรมช่วยขับเคลื่อนศก.ไทย ฟื้นกลับคืนอย่างรวดเร็ว

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ ในการสร้างสรรค์นโยบายด้านการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการฟื้นตัวของประเทศ ขจัดความยากจน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความมั่นคงของมนุษย์ พัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนให้กับประเทศชาติ

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า มาตรการฟื้นตัวหลังโควิด ที่ สอวช. วางไว้ มี 2-3 ประเด็น แต่สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ “สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศ” ในมุมของ สอวช. สิ่งที่ทำได้คือ การสร้างนวัตกรรมและผลิตกำลังคนสนับสนุนการลงทุน ซึ่งล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม (สป.อว.) ,สภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์, สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และบีโอไอ ร่วมกันผลิตกำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ 10,000 คน และด้านวิทยาศาสตร์ 10,000 คน รวมเป็น 20,000 คนต่อปี โดยกำลังคนที่ผลิตนั้น มีคุณสมบัติและทักษะเฉพาะ เพื่อตอบสนองการลงทุนของภาคเอกชนตามความต้องการที่แท้จริง นอกจากนี้ยังได้จัดทำแพลตฟอร์มการอุดมศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ผ่านกระบวนการแซนด์บอกซ์ (Sandbox) หรือ Higher Education โดยที่หลักสูตรอาจแตกต่างไปจากมาตรฐานในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากบริษัทที่ยื่นคำขอมาทางบีโอไอ

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ คือ การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะกฎหมายฉบับดังกล่าวผลักดันกันมาเป็นสิบปี ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของรัฐไปใช้ประโยชน์ แก้ปัญหาเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยระหว่างหน่วยงานให้ทุนกับผู้รับทุน และเมื่อหน่วยงานผู้รับทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย ได้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม จะช่วยให้สตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี สามารถรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ส่งผลช่วยให้เกิดจำนวนสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี ที่ใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดระบบเศรษฐกิจนวัตกรรมได้ นอกจากนี้ยังช่วยยกระดับงานวิจัยในสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันวิจัยและนักวิจัย ผลิตผลงานวิจัยฯ ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของภาคการผลิต และบริการ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางพร้อมมุ่งสู่การเป็นประเทศรายได้สูง

ผุด Civilization Industry ดันมรดกทางวัฒนธรรมไทย

ดร. กิติพงค์กล่าวด้วยว่า เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญอีกตัวหนี่งคือ การท่องเที่ยว ถือเป็นจุดสร้างรายได้สำคัญของประเทศไทยคิดเป็น 21% ของ จีดีพี หลังสถานการณ์โควิด เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวทะลักเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างความพร้อม และนำมาตรการ อววน.เข้าไปส่งเสริม และผลักดันสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเสริมกับจุดแข็งของประเทศไทยที่มีทั้ง ธรรมชาติที่สวยงาม อาหารอร่อย มรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีระบบการแพทย์ที่ดี รวมถึงค่าครองชีพก็ไม่สูงมากนัก มีโทรคมนาคมที่ดี มี 5G ใช้เป็นประเทศแรกของอาเซียน และที่สำคัญคนไทยมีความเป็นมิตรจนได้ชื่อว่าเป็นสยามเมืองยิ้ม

“เราต้องเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สร้างเรื่องราวสถานที่ท่องเที่ยวให้น่าสนใจ ยกตัวอย่างเมืองเก่า เช่น สุโขทัย ก็ใช้เทคโนโลยี AI และ VR ทำให้เห็นภาพอดีตอันรุ่งเรือง ปรากฏเป็นภาพซ้อน 3 มิติ กับซากปรักหักพังได้ ซึ่งกว่าจะได้ภาพแบบนั้นมาก็ต้องทำการศึกษาวิจัย เมืองเก่าในอดีตว่ามีลักษณะเป็นเช่นไร เพื่อที่จะออกแบบได้อย่างถูกต้องและลงตัวกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ซึ่งในอนาคตก็ต้องมีความร่วมมือระหว่าง กระทรวงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัย และเอกชน เพื่อทำงานร่วมกัน” ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร. กิติพงค์ ย้ำว่า แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านมรดกทางวัฒนธรรมเป็นอันดับ 5 ของโลก จากการจัดอันดับของนิตยสาร CEO WORLD นิตยสารด้านธุรกิจที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ แต่การจะฟื้นวัฒนธรรมเพื่อให้ไปอยู่ในแผนที่การท่องเที่ยวโลกนั้น ต้องยอมรับว่าเราช้ากว่าเกาหลีมาก สินค้าทางวัฒนธรรมของเราไม่ได้กระจายไปทั่วโลกอย่างเกาหลี แต่ยังจำกัดอยู่ในตลาดจีน และ CLMV เป็นส่วนใหญ่ หน้าที่ของ สอวช. คือ ใส่งานวิจัยเข้าไป แล้วผลักดันสู่การเป็น “Civilization Industry” เพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจจากมรดกทางวัฒนธรรม เงินจะกระจายไปสู่ชุมชน ท้องถิ่น โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงคอยให้การสนับสนุน

“สอวช. กำลังทำงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฎทั้ง 38 แห่งในอนาคตเชื่อว่ามหาวิทยาลัยราชภัฎ ก็อาจจะทรานซฟอร์ม โดยจัดให้มีการศึกษาด้านโบราณคดี แม้แต่การจัดตั้งเป็นคณะโบราณคดี เพื่อสนับสนุน Civilization Industry โดยเฉพาะ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บันเทิง และอุตสาหกรรมสันทนาการต่าง ๆ เชื่อว่าวัยรุ่นจะสนใจเรียนกันมาก โดยอาจจะทำร่วมกับ วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ธัชชา -TASSHA (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts) ที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้านรากฐานทางประวัติศาสตร์อาจเป็นในรูปของการท่องเที่ยว ขายของ ขายอาหาร เป็นต้น” ดร.กิติพงค์ กล่าว

เปิดรถไฟความเร็วสูง โอกาสสินค้าเกษตรไทยครองตลาดในจีน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปคือการสร้างโอกาสในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม Route 1 (Innovation Economic Corridor) เพื่อยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมในพื้นที่ บริหารทรัพยากรเพื่อให้เกิดพื้นที่นวัตกรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยพุ่งเป้าส่งสินค้าไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศ CLMVT + C คือ เพิ่มประเทศจีน จากโครงการรถไฟจีน-ลาว ที่เตรียมเปิดดำเนินการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 โดยเส้นทางรถไฟ จีน-ลาว มีระยะทางประมาณ 420 กิโลเมตร เริ่มต้นที่คุนหมิง มณฑลยูนนาน เชื่อมต่อที่เมืองบ่อเต็น สปป.ลาว และการท่องเที่ยวของไทย ที่จะมาพร้อมกับการเชื่อมต่อโลจิสติกส์ในครั้งนี้ เนื่องจากสามารถขนส่งสินค้าจากประเทศไทยสู่ 50 เมืองของจีนได้ภายใน 24 ชั่วโมง

“ ขณะนี้ได้ให้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังดูเรื่องของ Route 1เพื่อคัดเลือกคลัสเตอร์อาหารที่มี ศักยภาพ 5-6 คลัสเตอร์ ที่จีนนิยมบริโภคและสามารถสร้างมูลค่าได้ อาทิ 1. โปรตีนจากพืช (plant-base Protein) เช่น ถั่วเหลือง เห็ดแครง ฯลฯ 2.ผลไม้เกรดพรีเมี่ยม (Premium Fruit) ได้แก่ ทุเรียน มังคุด มะม่วง ลำใย โดยให้ทางหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มขีดความสามาถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) อยู่ระหว่างการทำ Cold Chain Logistic หรือ ระบบการควบคุมอุณหภูมิ เพื่อยืดอายุผลไม้ อาหารไม่เสียระหว่างทาง และเมื่อการขนส่งใช้ระยะเวลาสั้นลง ก็จะเป็นโอกาสของสินค้าเกษตรไทย ซึ่งจะส่งผลดีไปยังเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นด้วย”

นอกจากนี้ กระทรวง อว.ยังมีหน่วยที่สนับสนุนแพลตฟอร์มระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมได้อีกหลายช่องทาง ได้แก่ โรงเรียนนวัตกรรม ที่กระจายอยู่ตามอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ ,มีเวทีขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ หรือ 7 Innovation Award ที่จะคัดสรรผู้ผลิตผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่น ,มีกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ,มีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ,มีหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา ที่ผลิตลูกศิษย์ออกมามากมาย แต่ติดอยู่ที่ว่า เราจะผลักดันพวกเขาให้เข้าถึงตลาดโลกได้อย่างไร

“เราจึงได้หารือกับ Exim Bank เพื่อวางแผนในการสร้างสมาร์ทสร้างเอสเอ็มอีเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ของต่างประเทศ เช่น อาลีบาบา เบื้องต้นคาดว่าจะคัดเอสเอ็มอีเข้าร่วม 500 ราย และนำมาบ่มเพาะผ่านกระบวนการคัดเลือกให้เหลือประมาณ 200 ราย โดยสินค้าที่คัดสรรไปนั้น มียอดขายอยู่แล้วประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี เราตั้งเป้าจะเพิ่มยอดขายให้เป็น 100 ล้านบาทต่อราย รวม 200 ราย ก็จะสร้างรายได้ 20,000 ล้านบาท และจะขยายผลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว

นอกจากนี้ สอวช. ก็กำลังทำโครงการ Local Entrepreneur เพื่อสร้างผู้ประกอบการในระดับพื้นที่ โดยดูว่าผู้ประกอบการแต่ละรายมีจุดเด่นอะไร และจะสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอะไรได้บ้าง เราได้เริ่มที่ จ.ปัตตานี เนื่องจากพบว่ามีเอสเอ็มอีรายหนึ่ง ซี่งต่อยอดมาจากเวที 7 Innovation เป็นเอสเอ็มอีเล็ก ๆ ที่ขายน้ำพริก ที่มีรสชาติอร่อยมาก จากเดิมที่เคยขายได้ปีละไม่กี่ล้านบาท แต่หลังจากที่ปรับรูปแบบแพคเกจให้สวยงาม สร้างมาตรฐานสินค้าให้สะอาด รสชาติคงที่ ปัจจุบันส่งขายไปทั่วโลก ยอดขายปีละ 100 ล้านบาท อันนี้เป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการสร้างผู้ประกอบการที่เราพยายามจะต่อยอดขยายให้เกิดผู้ประกอบการระดับพื้นที่ลักษณะนี้มากขึ้น

ชู4 จุดแข็งอววน.พลิกฟื้นเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด

ดร.กิติพงค์ย้ำว่า การจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด ต้องส่งเสริมทั้ง4 ส่วน ซึ่งเป็นสิ่งที่สอวช.ดำเนินการอยู่คือ ส่วนที่ 1.ส่งเสริมสินค้ามูลค่าสูงประเทศไทยมีทรัพยากรอยู่มาก แต่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากนักคือ เศรษฐกิจจุลินทรีย์ ประเทศไทยมีธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ หรือ BioBank ที่มีจุลินทรีย์อยู่100,000 สายพันธุ์ถ้าเราใช้ อุตสาหกรรมเอนไซน์ อุตสาหกรรมการหมัก เข้ามาช่วย มูลค่าจะสูงมากบ้านเราผลิตแป้งผลิตแป้ง ข้าว ข้าวโพด ได้คาร์โบไฮเดรตเยอะ แต่มีมูลค่าต่ำ ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่นนำจุลินทรีย์มาตัดต่อพันธุกรรม โดยให้มากินข้าว แป้งและแป้งมัน จากนั้นเปลี่ยนเป็น อะมิโนแอซิดเกือบทุกชนิด และขายอะมิโนแอซิด ซึ่งเป็นโปรตีนในราคาที่สูงกว่าเดิมมาก ในอนาคตเราก็มีแนวทางในลักษณะเดียวกันนี้ เพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานแทนคน แทนเครื่องจักร แปลงของที่เรามีอยู่เยอะ ราคาถูกให้เป็นของที่มีมูลค่าสูง เปลี่ยนอาหารธรรมดาไปเป็นfunctional food ส่วนที่ 2. แปลงของเสียให้เป็นของดี ตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ส่วนที่ 3. ส่งเสริมการสร้างสินค้าท้องถิ่นให้ได้มาตรฐาน ส่วนที่ 4. คือ จุลินทรีย์ด้านการแพทย์ที่จะต่อยอดมาจากอุตสาหกรรมบีซีจี

อย่างไรก็ตาม ดร.กิติพงค์ ได้อัพเดทความก้าวหน้าของการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของ สอวช. ว่าเวลานี้ สอวช. สามารถขึ้นรูป สร้างเครือข่ายCircular Economy Policy Forumที่มีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจน มีคนทำงานในเครือข่ายร้อยกว่าองค์กรพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยให้ความสำคัญกับการแชร์ข้อมูลในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) สามารถนำไปวางแผนและจัดการอย่างเป็นระบบ ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมสิ่งทอ ถ้าไม่ทำในรูปของเศรษฐกิจหมุนเวียน ก็จะทอกันไปเรื่อยๆ แต่หากใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนก็ต้องมาดูว่าวัสดุธรรมชาติที่จะนำมาใช้ทอเป็นเส้นใยนั้น สามารถทำมาจากอะไรได้บ้าง เช่น ใยกัญชง กล้วย สับปะรด ถ้าเราแปลงเป็นเส้นใยพรีเมี่ยม ติดสัญลักษณ์C (Circular) ก็จะสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น

และในขณะนี้ สอวช. ได้มีโครงการจัดฝึกอบรม Circular Design ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศจัดอบรมให้กับบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อให้สามารถออกแบบสินค้า และบริการรวมถึงมองเห็นแนวทางการดำเนินธุรกิจตามวิถีเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย นอกจากนี้ สอวช.ยังเป็นสมาชิกของกลุ่มRenewable energy 100 หรือ RE100 คือกลุ่มบริษัทในสภาอุตสาหกรรมฯ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่อง Carbon Net Zero หรือCarbon Neutrality หมายถึงการผลิตที่นำเทคโนโลยีมาช่วยให้เกิดการปล่อยคาร์บอนออกมาในปริมาณที่น้อยลงเป็นอีกงานหนึ่งที่ สอวช. ให้ความสำคัญ ทั้งนี้ในเรื่องของการสร้างความยั่งยืนนั้นสอวช. ได้แบ่งออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1) เรื่องน้ำ 2) เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 3)เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ดร.กิติพงค์ กล่าวด้วยว่า สอวช. เป็นหน่วยงานทำนโยบาย ที่มองระยะยาว เพื่อตอบสนองความยั่งยืนของเศรษฐกิจ หลายโครงการที่ สอวช. ผลักดัน ขึ้นรูป และต่อยอดไปสู่โครงการหลักของประเทศ เช่น โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) โครงการ บีซีจีโมเดล เมื่อสู่ขั้นตอนการปฏิบัติก็ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และอีกไม่นาน 3 หน่วยงานที่ สอวช. ผลักดันให้เกิด ซึ่งต่อยอดมาจากโครงการบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจ (สเปียร์เฮด)และการปฏิรูประบบ อววน. คือ 1. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) 2. หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มขีดความสามาถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

และ 3. หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กำลังจะรวมการบริหารจัดการเพื่อความคล่องตัว ในรูปขององค์การมหาชนใหม่ที่ชื่อ “สำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่” หลังจากขับเคลื่อนภายใต้ สอวช.มาเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี โดยหน่วยงานใหม่นี้มีหน้าที่ในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ สร้างรากฐานไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตลอดจนพัฒนาพื้นที่และยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานราก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้ง

Tags:

เรื่องล่าสุด