messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “เอนก” ชี้การศึกษาไทยต้องเชื่อมโยงมรดกทางวัฒนธรรม ใช้ศาสตร์และศิลป์สร้างโอกาสทองให้ประเทศ มอบ สอวช. เป็นโต้โผจัดระดมความคิดกับหน่วยบริหารและจัดการทุน หาคำตอบสู่การพัฒนาไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว

“เอนก” ชี้การศึกษาไทยต้องเชื่อมโยงมรดกทางวัฒนธรรม ใช้ศาสตร์และศิลป์สร้างโอกาสทองให้ประเทศ มอบ สอวช. เป็นโต้โผจัดระดมความคิดกับหน่วยบริหารและจัดการทุน หาคำตอบสู่การพัฒนาไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว

วันที่เผยแพร่ 26 พฤศจิกายน 2021 718 Views

เมื่อวันที่ 25 พ.ย.64 ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอํานวยการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ครั้งที่ 8/2564 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์

ทั้งนี้ ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก ได้มอบนโยบายในที่ประชุมว่า จากการที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรม หรือ Cultural Heritage อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งกรุงเทพฯ และภูเก็ต ยังถูกจัดอันดับเป็นเมืองที่เหมาะกับการทำงานและการพักผ่อนติดอันดับโลกอีก เราจึงควรใช้โอกาสนี้ในการจัดการศึกษาในแนวทางใหม่ ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นรากฐานดีเอ็นเอที่ประเทศไทยมีพื้นฐานที่ดีมาตั้งแต่แรก จากการลงทุนของบรรพบุรุษ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องมรดกทางวัฒนธรรม ที่จะสร้างโอกาสให้ประเทศประสบความสำเร็จได้ ที่ผ่านมา เราลงทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาในสายวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ แต่ในสายมรดกทางวัฒนธรรม เราแทบไม่ได้ลงทุนเลย เมื่อนำมาประกอบกันจะช่วยพัฒนาภาพรวมด้านการศึกษาของไทยได้

รมว.อว.กล่าวต่อว่า เราต้องใช้ศาสตร์และศิลป์เหล่านี้ให้เป็นโอกาสทองในการขับเคลื่อนประเทศให้ไปต่อได้ หรืออย่างเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรามุ่งเน้นไปที่การทำการเกษตร ควรเน้นไปที่เรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ด้วย เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไป กินอิ่มนอนอุ่น มีรายได้เชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องฝากให้ สอวช. ไปดำเนินการต่อ

นอกจากนี้ ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก ยังให้นโยบายเพิ่มเติมต่อการดำเนินงานของหน่วยบริหารและจัดการทุน ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.), และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ว่า งานที่เราทำต้องสะท้อนให้รัฐบาลรู้ถึงสถานะขีดความสามารถของไทยในเวลานี้ และรัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุนอย่างไร เพื่อเสริมได้ถูกจุดและสร้างให้ขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น อย่าง บพค. ต้องบอกได้ว่าการพัฒนากำลังคนของไทยก้าวหน้าไปถึงขั้นไหน เทียบกับประเทศอื่นแล้วเป็นอย่างไร หรือมีศาสตร์อะไรบ้างที่เราควรสร้างขึ้นมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

ส่วน บพท. ต้องดูว่าการบริหารโดยใช้ขอบเขตในระดับพื้นที่มีประโยชน์อย่างไร อาจถึงขั้นที่คนในพื้นที่ต้องหันมาทำเรื่องในทางวิชาการให้มากขึ้น แต่ละจังหวัดอาจต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์เข้าไปกับสิ่งที่เป็นจุดเด่นของพื้นที่นั้นๆ จากที่เคยอาศัยการทำข้อมูลจากส่วนกลาง เปลี่ยนเป็นการสร้างให้คนในแต่ละพื้นที่ก้าวไปเป็นนักพัฒนาหรือนักยุทธศาสตร์ให้มากขึ้น ด้าน บพข. ต้องทำให้เข้าใจว่า การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศคืออะไร และเราควรลงทุนในการศึกษาด้านใดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ นี่เป็นโจทย์สำคัญที่หน่วยบริหารและจัดการทุนต้องไปหาคำตอบ ให้ช่วยกันระดมความคิด โดยมี สอวช. เป็นเจ้าภาพ เป็นโต้โผสำคัญในการจัดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อให้เกิดเป็น “ทฤษฎี” ที่จะพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม เชื่อมโยงไปถึงการเดินหน้าทางด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไปผ่านการขับเคลื่อนทั้งวิทยาศาตร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รมว.อว.  กล่าว

Tags:

เรื่องล่าสุด