สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สนอว.) จัดการประชุม ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์) รองประธานคนที่สอง พร้อมด้วยรัฐมนตรี ผู้บริหารจากกระทรวง หน่วยงานต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งจะตอบสนองความต้องการของประเทศทั้งด้านการพัฒนากำลังคน การเตรียมกำลังคนที่มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และการมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงความต้องการและความเหมาะสมกับประเทศไทย รวมถึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ มีระบบการบริหารงบประมาณที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว โดยเฉพาะงานวิจัยและพัฒนาที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจริงจังจนเกิดผลที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนมีการติดตามผล Follow up และ Follow through ในการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกับประชาชน
เคาะกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา ปี 66 ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตและการพัฒนากำลังคนตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เปิดเผยว่า ที่ประชุม สนอว. ได้มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินรวมทั้งสิ้น 114,634.7682 ล้านบาท
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาดังกล่าวจะนำมาใช้ในการผลิตบัณฑิตและการพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ทั้งในลักษณะ Degree และ Non – Degree การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา รวมถึงการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา และเห็นชอบระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณด้านการอุดมศึกษา โดยใช้หลักการ Demand – Directed Budgeting ที่ให้ความสำคัญกับการส่งมอบผลลัพธ์สำคัญ ได้แก่ การผลิตกำลังคนที่ตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างแท้จริง ซึ่งสะท้อนได้จากอัตราการได้งานทำที่เพิ่มสูงขึ้น ความคุ้มค่าและผลตอบแทนจากการลงทุนที่ชัดเจน รวมถึงความสอดคล้องในการร่วมลงทุนพัฒนากำลังคนกับความต้องการของภาคเอกชน ซึ่งงบประมาณและระบบการจัดสรรดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาการอุดมศึกษาให้ตอบสนองนโยบายการพัฒนาประเทศ และนโยบายรัฐบาล
เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ 29,100 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จำนวน 29,100 ล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงินดังกล่าว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีระบบการจัดสรรแบบ Block grant & Multi-year budgeting
“กรอบงบประมาณดังกล่าว จะใช้สำหรับดำเนินการแผนงานต่อเนื่อง เช่น บีซีจี โมเดล แผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย แผนงานการแก้ปัญหาความยากจน โจทย์ท้าทายสังคมด้านสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาวิกฤติ และการส่งเสริมการนำผลงาน ววน. ไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น รวมทั้งนำมาจัดสรรให้กับโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ การวิจัยวัคซีน การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต และเทคโนโลยีเพื่อการปรับตัวของอุตสาหกรรมสู่อนาคต เป็นต้น” รมว.อว. กล่าว
สภานโยบายฯ รับลูกกระทรวงเกษตรฯ พัฒนากำลังคนและงานวิจัยด้านการเกษตร
นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำเสนอแผนกลยุทธ์การวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และแผนพัฒนากำลังคนภาคการเกษตรของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2575) ต่อสภานโยบายฯ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร และการพัฒนากำลังคนด้านการเกษตรตลอดจนการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งสอดคล้องกับแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และร่างแผนด้าน ววน. ของประเทศ ที่ได้กำหนดเรื่องการเกษตรไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม แผนงานที่ 2 การพัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ในด้านเกษตรและอาหารให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะกรรมการการอุดมศึกษา พิจารณาใช้ประกอบการขับเคลื่อนนโยบายและการจัดสรรงบประมาณต่อไป
ความก้าวหน้าในการจัดตั้งสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (องค์การมหาชน)
สำหรับความก้าวหน้าการจัดตั้งสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (องค์การมหาชน) ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 3/2564 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ดำเนินการจัดทำข้อเสนอการจัดตั้งสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (องค์การมหาชน) และร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งฯ และได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมเสนอต่อ ครม. ต่อไป