ปัจจุบันโลกมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย หลายประเทศทั่วโลกจึงมีแผนผลักดันนโยบายต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมไปถึงการพัฒนาความสามารถของประชาชนในประเทศด้วย
วันนี้ สอวช. จึงอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับอีกหนึ่งระบบเศรษฐกิจที่กำลังเป็นที่สนใจอย่าง Creative Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้คำนิยาม Creative Economy ไว้ว่า “เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการสร้างและใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ”
หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็คือ การนำสินค้าหรือบริการมาเพิ่มมูลค่า โดยผ่านการคิดอย่างสร้างสรรค์ และนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงพื้นฐานทางวัฒนธรรม สังคม เข้ามาช่วยในการสร้างสรรค์ผลงานนั่นเอง
จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในอนาคต จะมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในเอเชีย ทำให้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจมาอยู่ที่แถบเอเชียมากขึ้น
จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้ปรับกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มคุณค่า สร้างมูลค่า และส่งเสริมความสามารถให้สินค้าไทยที่มีศักยภาพในการแข่งขันอยู่แล้ว มาสร้างสรรค์ให้เกิดความแตกต่างเพื่อหลีกหนีการแข่งขันแบบเดิมๆ
“เศรษฐกิจสร้างสรรค์” จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเน้นการพัฒนาอย่างสมดุล และยั่งยืนบนพื้นฐานความได้เปรียบของประเทศ ทั้งในด้านความหลากหลายของวัฒนธรรม และภูมิปัญญาด้านงานศิลปหัตถกรรมที่สามารถนำมาต่อยอดในเชิงความสร้างสรรค์ได้ ซึ่งในปัจจุบัน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ได้ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในสาขา ภายใต้ระเบียบวาระแห่งชาติ BCG Economy Model สาขาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลมองเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency หรือ CEA) ขึ้นในรูปแบบขององค์การมหาชน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการพัฒนาผู้ประกอบการและกำลังแรงงาน การสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม ที่จะเชื่อมโยงภูมิปัญญา วัฒนธรรม และภาคการผลิตจริง
และมีการเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน 15 สาขา ได้แก่ 1. งานฝีมือและหัตถกรรม 2. ดนตรี 3. ศิลปะการแสดง 4. ทัศนศิลป์ 5. ภาพยนตร์ 6. การแพร่ภาพและกระจายเสียง 7. การพิมพ์ 8. ซอฟต์แวร์ 9. การโฆษณา 10. การออกแบบ 11. การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 12. แฟชั่น 13. อาหารไทย 14. การแพทย์แผนไทย 15. การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ 1. อาหาร (Food) 2. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3. ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) 4. มวยไทย (Fighting) และ 5.การอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival)
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง และโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมในอนาคตและชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และกระแสความต้องการของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากแต่ก่อน ว่าผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากกว่าสินค้าที่พบได้ทั่วไป และยังเลือกใช้สินค้าที่มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีกระแส Digital Craft Trend หรือการสร้างสรรค์งานฝีมือที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งอีกด้วย เช่น ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ รวมไปถึงการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อความรวดเร็วและได้มาตรฐาน เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ผลิตงานฝีมือไม่ควรมองว่าระบบดิจิทัลเป็นทางเลือกใหม่ที่สามารถทดแทนการทำงานรูปแบบเดิม แต่ควรมองว่าระบบดิจิทัลจะเข้ามาช่วยให้ความคิดสร้างสรรค์ของเราก้าวไปอีกขั้นได้
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ กำลังคน เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศต้นแบบด้านความคิดสร้างสรรค์ในอาเซียน อย่างประเทศอินโดนีเซียแล้ว จะพบว่า มีระดับคุณภาพของปัจจัยที่ใช้ส่งเสริมพัฒนาการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใกล้เคียงกัน แต่อินโดนีเซียมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ถึง 15.9 ล้านคน ส่วนไทยมีจำนวนแรงงานสร้างสรรค์เพียง 9.31 แสนคน และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเศรษฐกิจไทยที่เติบโตช้าลง ทั้งนี้หากมองในมุมที่ว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ขับเคลื่อนได้จากกำลังแรงงานที่มีประสิทธิภาพแล้ว ทำให้ในอนาคตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของอินโดนีเซียอาจมีมูลค่าสูงขึ้นแซงหน้าไทยได้ไม่ยาก
ดังนั้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีการถ่ายทอดแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง เพราะวัฒนธรรมท้องถิ่นจะส่งผลให้เกิดความหลากหลายในงานฝีมือ และยังเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทย และผู้อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ในการนำศิลปวัฒนธรรมไทยมาสร้างสรรค์ เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผลักดันให้สินค้าไทยได้เป็นที่รู้จักในระดับโลก
เรียกว่าระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น นอกจากจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ วัฒนธรรมท้องถิ่น ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในประเทศได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.doyourwill.co.th/post/creativeeconomy
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/123808
https://siamrath.co.th/n/126921
https://data.go.th/…/fbca2c5b-2e2b-4310…/download/xx.pdf
https://www.cea.or.th/th/single-statistic/gift-economy