ในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเรามากขึ้น และยังเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวทันสากลได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีงานวิจัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ค่อยถูกนำมาใช้งาน เนื่องจากปัจจัยหลายๆ ด้าน
ดังนั้น การส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนในธุรกิจนวัตกรรม ผ่านกลไก Holding Company จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะ Holding Company มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากหน่วยงานวิจัยของรัฐหรือมหาวิทยาลัย มีการบริหารงานแบบมืออาชีพ ซึ่งเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนของหน่วยงานของรัฐและมหาวิทยาลัย มีความคล่องตัวสูงเหมาะกับการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้และการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในระบบวิจัยและนวัตกรรม
นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างแรงจูงใจแก่นักวิจัยให้เห็นถึงช่องทางในการสร้างธุรกิจนวัตกรรมจากผลงานวิจัยที่คิดค้น ทำให้เกิดการพัฒนาผลงานวิจัยที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจทั้งในระดับหน่วยงานและในระดับประเทศ ช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจนวัตกรรมให้กับประเทศ โดยเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศถึงร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย และสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมไทยระดับ Unicorn ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก จำนวน 5 บริษัท ภายในปี 2570
สอวช. จึงได้ผลักดันมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน (Holding Company) และมีการหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เพื่อจัดทำหลักการของชุดมาตรการดังกล่าว และจัดทำแนวทางปฏิบัติ (Guideline) การจัดตั้งและดำเนินการ Holding Company ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันถึงอำนาจหน้าที่ การบังคับใช้กฎหมายในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการร่วมลงทุน การกำกับดูแล และการส่งเสริมการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านธุรกิจนวัตกรรมมืออาชีพ รวมไปถึงการสนับสนุนมหาวิทยาลัยในการสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัย บุคลากรในมหาวิทยาลัยออกไปดำเนินธุรกิจนวัตกรรม
ซึ่งจะช่วยให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว ผู้บริหารหน่วยงานสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส ส่งผลให้การร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเกิดประสิทธิผลและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชนที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่า และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้
การส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนโดยกลไก Holding Company ได้รับความเห็นชอบในหลักการจากสภานโยบายฯ ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 (เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563) และให้จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ โดยคณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดแนวทาง กลไกมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้สามารถดำเนินงานส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และกำหนดแนวทางการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และระบบบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการเริ่มผลักดันการใช้ประโยชน์จากกลไก Holding company
หนึ่งในตัวอย่างของ Holding Company ที่เห็นได้ชัด คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้จัดตั้ง บริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด และมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ ให้การสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพจุฬาฯ จากการบ่มเพาะของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ที่มีผลงานนวัตกรรมออกมามากมาย โดยเฉพาะนวัตกรรมจากงานวิจัยของ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ที่สามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชได้สำเร็จแล้วในระดับห้องปฏิบัติการ
พร้อมก้าวไปอีกขั้นเพื่อผลิตวัคซีนนี้ใช้เองภายในประเทศ ภายใต้โครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” เป็นความสำเร็จของการค้นคว้า วิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ที่เกิดจากการกลไก University Holding Company
นอกจากจะช่วยสร้างความหวังให้กับคนไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปได้แล้ว ยังเป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการพัฒนายาและวัคซีนให้กับประเทศไทย ต่อยอดเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทย และจะสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศไทยได้อีกมาก
นับว่า Holding Company เป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ให้ไปสู่ระดับสากลได้
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.chula.ac.th/news/36801/