สอวช. ได้จัดทำรายงานการศึกษาวิจัยเรื่อง การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เพื่อรองรับการพลิกโฉมฉับพลันและวิกฤตการณ์โลก โดยได้วิเคราะห์พบว่าสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ ส่งผลต่อการศึกษาและการเรียนรู้ในประเด็นต่างๆ เช่น รูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปสู่วิถีชีวิตแบบหลายช่วง (Multistage life) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและอุตสาหกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติถูกเร่งให้มีบทบาทสำคัญมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ซึ่งทำให้ทักษะและความรู้ที่เป็นที่ต้องการในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป
สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย โดยมีโจทย์ท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อการศึกษาและการเรียนรู้ ได้แก่ ความต้องการกำลังคนที่มีคุณภาพในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยหลุดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง การรับมือกับผลกระทบของ Disruptive technology ซึ่งแรงงานไทยบางส่วนจะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ความไม่เท่าเทียมและความยากจน โดยพบว่าดัชนีการพัฒนาคนในด้านการศึกษามีความแตกต่างระหว่างภูมิภาคสูง การยกระดับผลิตภาพแรงงาน และผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ทำให้เกิดการปรับตัวของอุตสาหกรรมและเกิดความต้องการกำลังคนที่มีทักษะใหม่ๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบ
กลุ่มเป้าหมายและจุดเน้นของการศึกษา คือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ตอบโจทย์การทำงานและการใช้ชีวิต รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันต่อภาวะผันผวนของตลาดงาน มีเป้าหมายแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก จะมีใครบ้าง ไปดูกันเลย!
1. เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา
มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เน้นการสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ได้แก่
1) การส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทักษะอาชีพและทักษะชีวิต เช่น หลักสูตรการเรียนที่เชื่อมโยงกับอาชีพ (career-based education) มีรูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น หลักสูตรการเรียนรู้แบบ non-degree และหลักสูตรที่ตอบโจทย์รายบุคคล (personalized curriculum) รวมถึงการสร้างทักษะชีวิต การสร้างทัศนคติและพฤติกรรมที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง เช่น การสร้าง role model และระบบ personal life counselling เป็นต้น
2) การพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นทางวิชาชีพให้กับบุคลากรที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา
3) การพัฒนาฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กลไกการพัฒนาการศึกษาที่เชื่อมโยงกับอาชีพและตอบโจทย์ความต้องการรายบุคคลสำหรับเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ควรส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาร่วมจัดการศึกษากับสถาบันอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน หรือ กศน. ในพื้นที่ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการ และ อปท. โดยการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการรับรองคุณวุฒิ ทั้งในระดับอาชีวศึกษา และปริญญาตรี หรือเน้นหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น รวมถึงการจัดทำ Incubation Program สำหรับกลุ่มที่ต้องการมีกิจการเป็นของตนเอง ซึ่งเป้าหมายการดำเนินงานดังกล่าว คือ การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น การสร้างแรงงานทักษะให้กับสถานประกอบการ และเกิดการสร้างธุรกิจเองได้
2. นักศึกษาระดับอุดมศึกษา
มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เน้นการพัฒนาบัณฑิตฐานสมรรถนะ ได้แก่
1) ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรที่จัดร่วมกับสถานประกอบการจาก 15% ให้เป็น 30%
2) พัฒนาระบบสนันสนุนการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะในระดับนโยบายและปฏิบัติการ จัดทำ guideline เพื่อประกันคุณภาพ และเปิดโอกาสให้มีการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม
3) จัดทำมาตรการสนับสนุน และสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่มีบทบาทหลักในการจัดการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ
4) การทดลองนำร่องโดยใช้กลไก Higher Education Sandbox
5) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคณะ/สถาบันอุดมศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน
นอกจากนี้ การพัฒนาบัณฑิตฐานสมรรถนะจะต้องมีกลไกการขับเคลื่อน ซึ่งสามารถทำได้ 2 รูปแบบ ได้แก่
1) การต่อยอดจากกลไก Cooperative and work-integrated education (CWIE) ที่มีอยู่เดิม
2) การจัดตั้ง Industrial training center (ITC) คือ ที่เป็นศูนย์ฝึกอบรมที่มีการสร้างสภาพแวดล้อมให้คล้ายกับการทำงานในสถานประกอบการจริง โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและสถานประกอบการ ทั้งนี้สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกอีกประการหนึ่ง คือ หน่วยประสานและบริหารจัดการ (intermediary) โดยสามารถเป็นหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน หรือกลุ่ม NGO ก็ได้
3. กำลังแรงงาน
มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการเพื่อพัฒนาทักษะกำลังแรงงาน ประกอบด้วย
1) การส่งเสริมและจูงใจการพัฒนาทักษะแรงงาน เช่น มาตรการสนับสนุนทางการเงิน การสร้างความตระหนักด้านการพัฒนาความรู้และทักษะ
2) ระบบนิเวศการพัฒนาทักษะแรงงาน เช่น ระบบธนาคารหน่วยกิต การพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น และการส่งเสริมพื้นที่การเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ
3) การพัฒนากำลังแรงงานเฉพาะกลุ่ม เช่น การพัฒนาทักษะและสวัสดิการสำหรับแรงงานนอกระบบ การพัฒนาทักษะแรงงานกลุ่ม gig workers ทักษะสูง
ในการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการทำงานเพื่ออนาคต ควรสร้างกลไก One stop service ซึ่งมีการเชื่อมโยงบริการต่างๆ เข้าด้วยกัน ตั้งแต่ระบบให้คำปรึกษาและการวางแผนเส้นทางอาชีพ แผนการช่วยเหลือด้านจ้างงานส่วนบุคคล ระบบประเมินสมรรถนะที่สอดคล้องกับเส้นทางอาชีพ ระบบจัดฝึกอบรม และระบบการจ้างงาน
4. ผู้สูงอายุ
มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการจัดการเรียนรู้และการส่งเสริมอาชีพให้ผู้สูงวัย ประกอบด้วย
1) การพัฒนาบุคลากรด้านการเรียนรู้และการดูแลผู้สูงอายุ เช่น เตรียมความพร้อมให้กับผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุหรือผู้ใกล้ชิดผู้สูงอายุ
2) เตรียมความพร้อมให้กับผู้สูงอายุและผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุ เช่น ส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุรูปแบบใหม่
3) ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้เข้าสังคมผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย เน้นการเรียนรู้ระหว่างคนต่างวัย (intergenerational learning)
4) ส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ เช่น ขยายอายุการทำงาน การสร้างเครือข่ายคลังปัญญาผู้สูงอายุ เป็นต้น
การขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ ควรมีการจัดตั้ง One stop service platform ที่ทำหน้าที่รวบรวมความต้องการทักษะและความรู้สำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตจากผู้สูงอายุและสถานประกอบการ เชื่อมโยงความต้องการกับหน่วยจัดอบรม ตลอดถึงการจ้างงานผู้สูงอายุ หรือส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำธุรกิจของตนเอง นอกจากนี้ ควรมีกลไกส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย intergenerational learning โดยจัดตั้งพื้นที่การเรียนรู้หรือพัฒนา virtual platform เพื่อเชื่อมโยงโจทย์ความต้องการในการเรียนรู้ของผู้สูงวัย พร้อมทั้งเสาะหาผู้เชี่ยวชาญจากชุมชนหรือภายนอกทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ และผลักดันให้เกิดการเรียนรู้แบบสองทาง
นอกจากนี้ สอวช. ยังได้จัดทำข้อเสนอกลยุทธ์ของสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะกลุ่มเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนี้
1. กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) กลุ่ม มทร. มีนโยบายและการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนร่วมกับอุตสาหกรรมและการเรียนรู้ตลอดชีวิต อาทิ การจัดทำหลักสูตรสหกิจศึกษา การจัดรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Work-integrated Learning การจัดทำหลักสูตรระยะสั้น และการจัดทำระบบธนาคารหน่วยกิต นอกจากนี้สามารถแบ่งกลุ่มความเชี่ยวชาญของ มทร. เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) Industrial & technology transformation 2) Agricultural transformation และ 3) Tourism transformation ซึ่งข้อเสนอการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของกลุ่ม มทร. ได้แก่ การร่วมยกระดับศักยภาพของ กศน. ในทุกมิติ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน การมุ่งสู่การผลิตกำลังคนร่วมกับภาคเอกชน การสร้างแพลตฟอร์มและหลักสูตรระยะสั้น เพื่อพัฒนาทักษะกำลังแรงงาน และ การส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ
กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มีจุดเด่นด้านการพัฒนาท้องถิ่น โดยแบ่งกลุ่มความเชี่ยวชาญเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) เกษตรและอาหาร 2) การท่องเที่ยว 3) ชุมชนท้องถิ่น 4) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 5) การศึกษา ซึ่งข้อเสนอการพัฒนากลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มแรงงานฐานรากและผู้สูงอายุของบทบาท มรภ. เช่น พัฒนาแพลตฟอร์มส่งเสริมโรงเรียนขนาดเล็ก พัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ขยายนโยบาย University as a marketplace รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่น
3. กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ซึ่งมีข้อได้เปรียบในด้านความเป็นอิสระในการบริหารจัดการองค์กร มีศักยภาพทางวิชาการสูงและมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านงานวิจัย เทคโนโลยีขั้นสูง และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้นโจทย์ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย เช่น การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้เล่นด้านการศึกษาสำหรับเด็ก การพัฒนาบัณฑิตที่ใช้โจทย์วิจัยและนวัตกรรมจากสถานประกอบการ การพัฒนาทักษะแห่งอนาคตให้กำลังแรงงาน และการพัฒนาผู้สูงอายุให้มีคุณลักษณะ active ageing เป็นต้น