messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. – Thai SCP ระดมความเห็นขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งเน้นการบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน กำหนดแผนที่นำทางสู่เป้าหมายสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

สอวช. – Thai SCP ระดมความเห็นขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งเน้นการบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน กำหนดแผนที่นำทางสู่เป้าหมายสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

วันที่เผยแพร่ 3 ธันวาคม 2021 1550 Views

(1 ธันวาคม 2564) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน(ประเทศไทย) (Thai SCP Network) จัดงาน CE Innovation Policy Forum และการประชุมวิชาการและการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคม/เครือข่าย Thai SCP ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน และผ่านระบบออนไลน์ โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวปาฐกถาเปิดงาน

ดร. เอนก กล่าวว่า นโยบาย บีซีจี เป็นนโยบายที่กระทรวง อว. ได้เสนอต่อรัฐบาลจนกลายเป็นนโยบายหลัก และถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ รวมถึง ในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในปี 2565 รัฐบาลก็ตั้งใจและเตรียมการให้มีการพูดคุยเรื่อง บีซีจี เป็นวาระสำคัญในเวทีเอเปคด้วย นอกจากนี้ ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) นายกรัฐมนตรียังได้ประกาศนโยบาย บีซีจี และประกาศแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ในปี 2608 โดยกระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีให้สะอาด และ สอวช. ที่ได้รับการมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ทำหน้าเป็นหน่วยประสานงานกลางด้านเทคโนโลยีของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ (UNFCCC)

“ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รายงานว่า การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มกิจการ บีซีจี มีมากกว่า 3,000 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 7 แสนล้านบาท และคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมบีซีจี จะมีมูลค่าร้อยละ 25 ของจีดีพี ซึ่งส่วนที่สำคัญมากและเป็นรากฐานให้กับทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) ที่เป็นเสมือนหัวใจของ บีซีจี เชื่อมั่นว่านโยบาย บีซีจี จะเป็นนโยบายหลัก ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2580 ได้ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศ” รมว. อว. กล่าว

ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้แลกเปลี่ยนในหัวข้อ กรอบนโยบายระบบนิเวศนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน: วิสัยทัศน์ 2573 โดยได้กล่าวถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าให้มากที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานการดำเนินการ ซึ่งกรอบการพัฒนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียน ในปี 2030 ตั้งเป้าลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์, และสร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียน ร้อยละ 3  ของจีดีพี โดยมุ่งเน้นทั้งการแก้ปัญหาเดิมผ่านการแลกเปลี่ยนของเสีย/วัสดุเหลือใช้ซึ่งกันและกัน, การขนส่งสินค้าคืนสู่ผู้ขายและรีไซเคิล, การหมุนเวียนอาหารถูกทิ้ง, และการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างเมืองอัจฉริยะ เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งคือการสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ เช่น การสร้าง CE Solution Platform, CE Service Provider, CE City เป็นต้น

สำหรับแผนที่นำทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย ช่วงเฟสที่ 1 ปี 2565 – 2567 CE Innovation Projects คือการสร้างการทำงานที่เป็นรูปธรรมและเตรียมความพร้อมองคาพยพ ช่วงเฟสที่ 2 ปี 2568 – 2570 CE Enabler and Ecosystem คือการออกแบบระบบนิเวศรองรับการทำงาน และช่วงเฟสที่ 3 ASEAN CE Innovation Hub คือการทำงานเชิงรุกสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทยและภูมิภาค

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ บีซีจี โมเดล สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน และนายกสมาคม Thai SCP ได้กล่าวในหัวข้อ เศรษฐกิจหมุนเวียนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) โดยเริ่มจากการสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก จนทำให้เกิดภาวะโลกรวน หลายประเทศจึงหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยภายหลังการประชุม COP26 กว่า 81 ประเทศทั่วโลกประกาศเป้าหมาย Net zero emissions และอีกกว่า 60 ประเทศอยู่ระหว่างพิจารณาเป้าหมายนี้ สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงาน บีซีจี สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการริเริ่มโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการการจัดการขยะพลาสติกครบวงจรแยกรวบรวมจัดเก็บหมุนเวียนใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน, โครงการบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (Food Loss & Food Waste) ระดับชาติ, โครงการการพัฒนาและประยุกต์เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการก่อสร้างและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (Built Environment) ซึ่งสอดคล้องกับร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน ในหมุดหมายที่ 10 คือการที่ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และหมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

ในงานวันนี้ยังได้มีเวทีเสวนาช่องว่างและทางออกเศรษฐกิจหมุนเวียนใน 7 กลุ่มสาขา ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรม, กลุ่มเกษตรและอาหาร, กลุ่มท่องเที่ยวและบริการ, กลุ่มนโยบาย, กลุ่มการศึกษา, กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม, กลุ่มการเงินและตลาดทุน จากการจัด CE Innovation Policy Forum มีการประชุม 23 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 80 องค์กร ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ได้ข้อสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบายคือการที่ภาคการเงินและตลาดทุน เป็นส่วนสำคัญมาก เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงผู้ประกอบการ ข้อเสนอแนะด้านการสร้างการรับรู้ ที่ช่องว่างความเข้าใจเศรษฐกิจหมุนเวียนของแต่ละภาคส่วนมีรูปแบบไม่เหมือนกัน ดังนั้นรูปแบบการสร้างความรู้ ความเข้าใจต้องมีรูปแบบต่างกัน การนำโครงการที่มีศักยภาพและสร้างผลกระทบสูงมายกระดับในเชิงนโยบาย การพัฒนาในแต่ละสาขาหรือข้ามสาขา โดยการใช้ทั้งเครื่องมือทั่วไปและเครื่องมือที่เฉพาะเจาะจงกับสาขานั้น ๆ รวมถึงข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่อยากเห็นการริเริ่มโมเดล CE Sandbox ที่มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ เป็นต้น

ในช่วงท้ายของงาน ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. และ ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ เลขาธิการสมาคมThai SCP และรองผู้อำนวยการองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้กล่าวสรุปในการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย ดร.พงษ์วิภา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเดินมาถูกทางแล้ว ภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจน แต่สิ่งที่ยังขาดคือการบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ที่สำคัญคือการมีแผนที่นำทางที่ชัดเจน โดยใช้เป้าหมายกลางของประเทศเป็นหลัก ประเด็นอื่นที่ต้องให้ความสำคัญยังมีทั้งเรื่องกฎหมาย, กลไกตลาด, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ผลิต รวมถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ต้องเข้ามาสนับสนุนด้วย ในขณะที่ ดร.กาญจนา กล่าวว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่และวิถีชีวิตใหม่ นโยบายมีความชัดเจนว่าเราต้องมุ่งไปในทิศทางนี้ทั้งกระแสโลกและภายในประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนไปสู่ระบบเศรษฐกิจทยั่งยืน ซึ่ง สอวช. พยายามสร้างระบบนิเวศที่ดี ผ่านกิจกรรมที่เป็นคานงัด/โครงการหัวรถจักรอย่าง Waste Symbiosis การสร้างขีดความสามารถผู้ประกอบการ (Capacity Building) ผ่าน Circular Design Platform ที่ทาง สอวช. ดำเนินการร่วมกับ Global Compact Network Thailand ในขณะนี้ และการพัฒนาหน่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Hub)  รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในหลายด้าน ผ่านกลไกของกระทรวง อว. ทั้งในด้านกองทุน รวมถึงการเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย

จากกระบวนการทำงานร่วมกันที่ผ่านมา ยังได้มีการจัดทำ CE Innovation Policy Digital Platform ขึ้น เป็นแพลตฟอร์มที่จะใช้ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกับพันธมิตร ทำให้เกิดการต่อยอดเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไปได้ โดยจัดทำออกมาในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน www.CEInnovationPolicy.org ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์ม และคาดว่าจะใช้งานได้ช่วงสิ้นปี 2564 ถึงต้นปี 2565

เรื่องล่าสุด