ในด้านภาษาและวรรณกรรม สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระอัจฉริยภาพเป็นอย่างยิ่ง เป็นกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ใช้ภาษาได้ถึง 7 ภาษา ตลอดระยะเวลาที่ครองสิริราชสมบัติ ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในงานแปล และมีงานพระราชนิพนธ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง
ในด้านภาษา พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในวโรกาสต่าง ๆ เป็นที่ประจักษ์ว่าทรงมีพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในด้านวรรณกรรม ผลงานด้านวรรณกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีทั้งพระราชนิพนธ์ทรงแปลและพระราชนิพนธ์ทรงแต่งหลายเรื่องด้วยกัน
งานแปล เช่น “ติโต” ผลงานแปลชิ้นแรกที่ทรงแปลจากหนังสือ Tito ของ Phyllis Auty ในปี พ.ศ. 2519 รวมถึงบทความที่ทรงพระราชนิพนธ์แปลและเรียบเรียงอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น “ฝันร้ายไม่จำเป็นจะต้องเป็นจริง” จาก “No Need for Apocalypse” ในนิตยสาร The Economist, “รายงานจากลอนดอน” จาก ” London Report” ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review, “เขาว่าอย่างนั้น เราก็ว่าอย่างนั้น” จาก ” Sauce for the Gander…” ในนิตยสาร Intelligence Digest Weekly Review, “วีรบุรุษตามสมัยนิยม” จาก “Fashion in Heroes” โดย George F. Will ในนิตยสาร Newsweek เป็นต้น
อีกหนึ่งพระราชนิพนธ์เรื่องสำคัญที่เป็นที่รู้จัก แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยะด้านวรรณศิลป์ของพระองค์อย่างสมบูรณ์ คือพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากนี้พระองค์ได้ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพด้านทัศนศิลป์ไว้ด้วย คือภาพประกอบฝีพระหัตถ์ของพระองค์ วาดภาพแสดงเส้นทางเดินเรือของพระมหาชนก รวม 4 ภาพ คือภาพวันที่ควรออกเดินทาง ภาพวันเดินทาง ภาพวันที่เรือล่ม และภาพพระมหาชนกทรงว่ายน้ำ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://king.kapook.com/…/job_duties_language_and…