messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ทำความรู้จักการประชุม COP26 และเป้าหมายระดับโลกที่เชื่อมโยงกับประเทศไทย

ทำความรู้จักการประชุม COP26 และเป้าหมายระดับโลกที่เชื่อมโยงกับประเทศไทย

วันที่เผยแพร่ 31 ธันวาคม 2021 12046 Views

หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อการประชุม COP26 ที่ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมเป็นภาคีสมาชิกเข้าร่วมการประชุมที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา วันนี้ สอวช. จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับการประชุมครั้งนี้ให้มากขึ้น พร้อมกับสร้างความเข้าใจในเป้าหมายของการประชุม ที่จะเข้ามาเชื่อมโยงกับเป้าหมายและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย

COP26 คือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 การประชุมนี้มีความเชื่อมโยงกับความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ที่มีเป้าหมายสำคัญ คือการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส และมุ่งเป้าไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งในการประชุม COP ที่ผ่านมาแต่ละครั้ง ตั้งแต่ความตกลงปารีสมีผลบังคับใช้ พบว่าสิ่งที่ 197 ประเทศภาคีสมาชิกดำเนินการ ยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ การประชุม COP26 ครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยงานกลางของประเทศ ภายใต้กรอบอนุสัญญา COP26 ให้ข้อมูลว่า สหราชอาณาจักรที่เป็นประธานการประชุม ได้กำหนดธงในการประชุมไว้ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ทำอย่างไรให้ทุกประเทศสมาชิกยกระดับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้อุณหภูมิของโลกต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และเข้าใกล้หรือถึง 1.5 องศาเซลเซียส 2) การปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น และ 3) กลไกการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะต้องมีการเปลี่ยนผ่านกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา

ในการประชุมครั้งนี้ยังมีข้อตัดสินใจของการประชุมที่ถูกกำหนดขึ้นเรียกว่า Glasgow Climate Pact โดยมีเรื่องที่พูดคุยกัน อาทิ การยกระดับเป้าหมายเพื่อปรับปรุง Nationally Determined Contributions: NDCs หรือการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด โดยแต่ละประเทศต้องเพิ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ท้าทายขึ้น มีการพูดถึงทิศทางการลดก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนทางการเงิน Long-term Climate Finance รวมถึงการเร่งรัดให้ส่งแผนการปรับตัวแห่งชาติ หรือ Adaptation Communication เพื่อสื่อสารเรื่องการปรับตัวและความต้องการการส่งเสริม สนับสนุนต่างๆ เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

การประชุมครั้งนี้ยังได้ข้อสรุปว่าทุกประเทศต้องมีการตั้งเป้าหมายให้ตรงกัน โดยกำหนดเป็นเป้าหมายทุกๆ 5 ปี เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ภาพรวมในระดับโลกได้ นอกจากนี้ หลังจากแต่ละประเทศนำแนวทางไปปฏิบัติแล้ว ยังต้องมีการรายงานข้อมูลกลับไปในรูปแบบ Biennial Transparency Report หรือรายงานความโปร่งใส ราย 2 ปี ที่จะต้องรายงานผลต่างๆ อาทิ การลดก๊าซเรือนกระจก การปล่อยก๊าซเรือนกระจก กลไกการเงินที่ได้รับการสนับสนุน เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยต้องส่งครั้งแรกในปี 2024

จากเป้าหมาย ข้อตัดสินใจของการประชุมในระดับโลกครั้งนี้ บทความต่อไป สอวช. จะพาเจาะลึกไปถึงเป้าหมายสำคัญของประเทศไทย ที่คนไทย 67 ล้านคนต้องร่วมกันขับเคลื่อน เป้าหมายเหล่านั้นจะมีอะไรบ้าง รอติดตามได้ทาง Facebook Fanpage สอวช.

ที่มาข้อมูล : รายการ Future Talk by NXPO ตอน “COP26 กับแนวทางของไทย ผนึก รัฐ – เอกชน จับมือลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/acQwOh6lnZ/

เรื่องล่าสุด