วันนี้ (4 มกราคม 2565) ทำเนียบรัฐบาล – ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา จำนวน 114,634.7682 ล้านบาท และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) จำนวน 29,100 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 143,734.7682 ล้านบาท ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สนอว.) เสนอ ซึ่งการอนุมัติกรอบงบประมาณในครั้งนี้เป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของประเทศ ที่จะนำพาประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีตัวอย่างแผนงานสำคัญ อาทิ การผลิตบัณฑิตและพัฒนากำลังคนที่รองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long Learning) โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงที่มีทักษะรองรับอุตสาหกรรมและบริการใหม่แห่งอนาคตที่อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาตามอัตลักษณ์และความเชี่ยวชาญ การพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เองและเป็นศูนย์กลางด้านวัคซีนในระดับอาเซียน การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกชั้นนำของโลกด้าน Functional ingredients, Functional food และ Novel food การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้และกระจายรายได้สู่ชุมชน/ท้องถิ่น การพัฒนาและเร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยมุ่งเน้นการบริโภคอย่างยั่งยืนและการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ของอาเซียน รวมถึงศาสตร์ของโลกตะวันออก และกรอบงบประมาณในปี 2566 นี้เป็นครั้งแรกที่ ครม. ได้อนุมัติกรอบงบประมาณที่สอดคล้องตามมาตรา 45(3) แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญให้เกิดการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยกระทรวง อว. ได้ประกาศการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำในการให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณทั้งด้านการอุดมศึกษา และด้าน ววน. อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ มีระบบการบริหารงบประมาณที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว โดยเฉพาะงานวิจัยและพัฒนาที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจริงจังจนเกิดผลที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนมีการติดตามผลในการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกับประชาชน