messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “เอนก” เสนอจัดตั้งสถาบันพัฒนาที่ยั่งยืน ในพื้นที่ “อุทยานธรณีสตูล” ต่อยอดเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษโดยใช้บีซีจีขับเคลื่อน แนะพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ควบคู่เศรษฐกิจหมุนเวียนดึงคนไทยคืนถิ่นพัฒนาบ้านเกิด

“เอนก” เสนอจัดตั้งสถาบันพัฒนาที่ยั่งยืน ในพื้นที่ “อุทยานธรณีสตูล” ต่อยอดเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษโดยใช้บีซีจีขับเคลื่อน แนะพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ควบคู่เศรษฐกิจหมุนเวียนดึงคนไทยคืนถิ่นพัฒนาบ้านเกิด

วันที่เผยแพร่ 18 มกราคม 2022 1051 Views

(17 มกราคม 2565) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 ชั้น 14 อาคารจัตุรัสจามจุรี สอวช. และผ่านระบบออนไลน์ โดยปฏิบัติตามแนวทางมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยมี ศ. (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม

ศ. (พิเศษ) ดร. เอนก กล่าวเริ่มการประชุมถึงประเด็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมระดับพื้นที่ของไทย จากการลงพื้นที่เยี่ยมชมอุทยานธรณีสตูล จังหวัดสตูล ที่ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของไทย มีการจัดแสดงให้เห็นถึงการศึกษาทางธรณีวิทยา 6 ยุค ถือเป็นอุทยานทางธรรมชาติวิทยา ที่สะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์ของโลกได้อย่างชัดเจน และยังแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีสิ่งที่ดีในระดับพื้นที่มากมาย อีกทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้เกิดแนวคิด “คนไทยคืนถิ่น” โดยการดึงคนไทยที่มีความรู้ความสามารถกลับมายังถิ่นกำเนิด เพื่อมาสืบสานต่อยอดความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ของตนเอง เกิดแนวคิดการทำ Cultural Mapping เพื่อเพาะเลี้ยงชุมชนบ้านเกิดให้เข้มแข็ง ให้เป็นตาน้ำของแม่น้ำสายใหญ่ ผลักดันเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในระดับพื้นที่

“อุทยานธรณีสตูล น่าจะสามารถทำเป็นสถาบันพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เรามีของดีทางธรรมชาติวิทยาอยู่ น่าจะลงทุนด้านการศึกษาที่นั่น ทำสถาบันพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Institute ดึงผู้เชี่ยวชาญ คนเก่งในมหาวิทยาลัยมาทำ ใช้พื้นที่ของอุทยานธรณีเป็นที่ตั้ง แล้วดึงนักวิจัยจากทั่วโลกมาร่วมศึกษา โดยใช้ บีซีจี เป็นตัวขับเคลื่อนให้จังหวัดสตูล เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษบีซีจี และเป็นพื้นที่สาธิตของ กระทรวง อว. และหากเราดำเนินการเข้มแข็งในอนาคตก็อาจจะเป็นวาระสำคัญของประเทศได้” ศ. (พิเศษ) ดร. เอนก กล่าว

ศ. (พิเศษ) ดร. เอนก ยังได้เน้นย้ำถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ต้องทำควบคู่ไปกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งสอดคล้องกับโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อเข้าหนุนการขับเคลื่อนเป้าหมาย GHG Net Zero 2065 ของประเทศไทย โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเศรษฐกิจในกึ่งเมือง กึ่งชนบท มีศิลปะแบบเกษตรที่เป็นจิตวิญญาณแบบไทย เป็นดีเอ็นเอของไทย ที่ต้องรักษาเอาไว้ ดังนั้นเศรษฐกิจพอเพียงต้องนำไปผสมผสานกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ต้องกลับไปฟื้นอะไรที่เป็นธรรมชาติของแต่ละพื้นที่ขึ้นมาเพื่อเพิ่มมูลค่าทางวัฒนธรรมให้สูงขึ้นไปอีก และสามารถหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในระดับประเทศได้ต่อไป

สำหรับรายละเอียดของนโยบาย อววน. เพื่อเข้าหนุนการขับเคลื่อนเป้าหมาย GHG Net Zero 2065 ของประเทศนั้น ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า บทบาทของ อววน. ต่อเป้าหมายดังกล่าวคือการสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม กลไก และผู้เชี่ยวชาญที่ตรงจุด สนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน อาทิ การพัฒนา Advance Technology ที่มีต้นทุนต่ำ รวมถึงการพัฒนา EV Conversion สำหรับประเทศไทย เป็นต้น ส่วนต่อมาคือ การขยายขนาดโครงการ อาทิ การขอรับทุนเพื่อขยายขนาดโครงการ Carbon Capture Storage and Utilization ดังเช่นที่ประเทศอินโดนีเซียขอรับทุนจาก JCM ของประเทศญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาโครงการขนาด 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมศูนย์บ่มเพาะและเร่งให้เกิดนวัตกรรม (Incubators and Accelerators)

โดยแนวทางการดำเนินการต่อไปจะครอบคลุมใน 7 ด้าน ได้แก่ 1) จัดทำข้อเสนอนโยบาย อววน. เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) ขับเคลื่อน Policy Forum หรือ Consortium ด้วยกระบวนการการคาดการณ์อนาคต (Foresight) ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 3) เชื่อมโยงกลไกสนับสนุนกลไกด้านการเงิน 4) พัฒนาและสร้างผู้เชี่ยวชาญ และองค์ความรู้ที่สำคัญ และรายงานสังเคราะห์ประมวลสถานภาพองค์ความรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย 5) การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้าเป็นองค์กรมหาชน 6) บทบาท อว. จัดระบบองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม และกำลังคน (Brain – Man Power) ให้เกิดการทำงานร่วมกันสนับสนุนการทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 7) ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติจัดทำมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในประเด็นดังกล่าวที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นที่หลากหลาย อาทิ การทำให้เป้าหมาย GHG Net Zero 2065 เป็นวาระทางการเมือง ทำให้เข้าถึงประชาชนในระดับพื้นที่จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ซึ่งการจะสร้างความตระหนักให้กับประชาชนได้ กระทรวง อว. ต้องมีบทบาทในการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาวิจัยที่จะสะท้อนให้เห็นประโยชน์กลับมายังสังคมด้วย นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะสนับสนุนให้มี Green Bond หรือตราสารหนี้สีเขียว ใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่ง สอวช. ได้รวบรวมความเห็นทั้งหมด เพื่อนำไปจัดทำเป็นรายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป

อีกประเด็นสำคัญที่สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการบริหาร สอวช. เมื่อปลายปี 2564 คือ เรื่องการบริหารโอกาสจากทุนอารยธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่ง สอวช. ได้รวบรวมความเห็นที่ประชุมฯ และสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติม โดย ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. ได้กล่าวถึงเป้าหมายในการใช้ อววน. โดยมีเป้าหมายเพื่อหนุนนำการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนอารยธรรม เสริมสร้างการพัฒนาเชิงพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก การต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจดิจิทัล การเสริมสร้างความสุข ความภูมิใจในชุมชน เป็นตาน้ำความคิดสร้างสรรค์แบบไทย รวมถึงการสร้าง Soft Power เพื่อสร้างคุณค่าและความผูกพันต่อแบรนด์ไทยในระดับนานาชาติ

โดยได้นำเสนอแนวทางในการดำเนินการบริหารโอกาสจากทุนอารยธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1) ระบบข้อมูล การศึกษารวบรวมองค์ประกอบของทุนทางอารยธรรมเชิงพื้นที่, สำรวจศักยภาพของพื้นที่ในด้านการสร้างสรรค์ เป็นต้น 2) การพัฒนากำลังคน เช่น การสร้าง/บ่มเพาะคนรุ่นใหม่, สร้าง Talent Pipeline, พัฒนาเส้นทางอาชีพศิลปินและนักสร้างสรรค์ เป็นต้น 3) นโยบาย และการพัฒนาระบบนิเวศสร้างสรรค์ บูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ในการจัดทำเป้าหมาย กรอบนโยบาย และกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน รวมถึงส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัยเชื่อมโยงกับนโยบาย บีซีจี เป็นต้น 4) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ควรมีศึกษาวิจัยและพัฒนาเชิงลึกในสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์, ส่งเสริมงานสร้างสรรค์ด้านดิจิทัล, ส่งเสริมการพัฒนา Cultural Innovation Corridor หรือระเบียงนวัตกรรมวัฒนธรรม เป็นต้น 5) การส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการใช้วัฒนธรรมเป็นจุดขายในการพัฒนาเศรษฐกิจ, สร้าง Cultural and Art Innovation Collaborative Platform ที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เป็นต้น และ 6) การสร้าง Soft Power จากทุนทางอารยธรรม เพื่อสร้างคุณค่าและความผูกพันต่อแบรนด์ไทยในระดับนานาชาติ

เรื่องล่าสุด