messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ลงนามความร่วมมือเพื่อผลิต พัฒนาคนและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ตั้งเป้าวางนโยบายรับมือการเปลี่ยนแปลง พร้อมมองหาโอกาสเติบโตทางธุรกิจ

สอวช. ลงนามความร่วมมือเพื่อผลิต พัฒนาคนและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ตั้งเป้าวางนโยบายรับมือการเปลี่ยนแปลง พร้อมมองหาโอกาสเติบโตทางธุรกิจ

วันที่เผยแพร่ 21 มกราคม 2022 1247 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อผลิต และพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้าและส่งเสริมการใช้ยานยนต์พลังงานสะอาดในประเทศไทย โครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต (EVAT x EGAT Electric Motorcycle Conversion Contest for Business Opportunity) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 5 ชั้น 1 อาคารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับบันทึกความร่วมมือฯ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทั้ง 3 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และ สอวช. ร่วมกันส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศไทยมีการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายของรัฐบาล และแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง และยังเป็นการร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการสนับสนุนการใช้งานและการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่เน้นพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียน นำไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้ที่เหมาะสมต่อไป รวมถึงร่วมกันส่งเสริมการผลิต และพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านการดำเนินการจัดกิจกรรม ประกวด/แข่งขัน การฝึกอบรม การสัมมนาทางวิชาการ ตลอดจนการส่งเสริมการสร้างทักษะด้านยานยนต์ไฟฟ้าของบุคลากรผ่านการปฏิบัติงานในเครือข่ายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันและพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมกับอีก 2 องค์กรชั้นนำ ได้เเก่ กระทรวงอุตสาหกรรม และ สอวช. ซึ่งกรอบความร่วมมือนี้ ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เชื่อมั่นว่า จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านบุคลากรในประเทศ ให้มีองค์ความรู้ด้านยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อต่อยอดให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางในการผลิตและการจัดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค อีกทั้งเมื่อมีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจด้านยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเเล้ว จะช่วยทำให้ประชาชนหันมาสนใจใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือยานยนต์ที่มาจากพลังงานสะอาดมากขึ้น และจะช่วยลดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคตต่อไป

ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม นายทาวัน ทวีถาวรสวัสดิ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมทำการสนับสนุน ต่อยอดและนำความรู้ที่เกิดจากโครงการความร่วมมือนี้ ไปเป็นข้อมูลเพื่อรองรับการผลิตและพัฒนากำลังคน และแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ด้าน สอวช. ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ กล่าวถึงบทบาทของ สอวช. ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบาย ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อว.) ได้สานต่อนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของอุตสาหกรรม จากการผลิตยานยนต์ที่ใช้น้ำมันไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นกระแสโลกที่ประเทศไทยต้องเตรียมปรับตัว เนื่องจากเป็นฐานของการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใหญ่ในระดับภูมิภาค เมื่อมองในด้านนโยบายที่ สอวช. ต้องทำจึงต้องมองทั้งในแง่ของการรับมือ ที่จะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านและมีผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจน้อยที่สุด  ขณะเดียวกันก็ต้องมองหาโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นด้วย

“กระทรวง อว. ยังมีบทบาทในเรื่องการพัฒนากำลังคน จึงต้องมีการเตรียมกำลังคนให้พร้อมสู่อุตสาหกรรมใหม่ ประกอบกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน เป็นกระแสสำคัญในระดับโลก จากที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศที่ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ว่าประเทศไทยตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2065 สอวช. ก็มีส่วนที่จะต้องสนับสนุนด้านนโยบายและมาตรการรับมือ ขณะเดียวกันก็เสาะแสวงหาโอกาสจากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้น” ดร. กาญจนา กล่าว

ในส่วนของการจัดโครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ดร. กาญจนา กล่าวว่า เป็นโครงการที่ดีและน่าสนใจมาก ถือเป็นพื้นที่ให้ผู้สนใจได้ทดลองเปลี่ยนรถจักรยานยนต์จากการใช้น้ำมันเป็นใช้ไฟฟ้า เป็นการริเริ่มสร้างระบบนิเวศให้คนที่สนใจในด้านนี้ได้มาทำงานร่วมกัน สอวช. ในฐานะหน่วยงานที่เป็นต้นน้ำก็เป็นโอกาสสำคัญที่ได้ทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ในการนำไปปฏิบัติ และจากโครงการที่จัดขึ้นนี้ทำให้เห็นศักยภาพว่า รถจักรยานยนต์ไทยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากสามารถพัฒนาเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้ ซึ่งในอนาคตเมื่อมีการทดลองนำไปใช้จริง ขั้นต่อไปก็จะต้องเตรียมการเรื่องมาตรฐาน ความปลอดภัย การจัดทำคู่มือต่างๆ รวมถึงดูเรื่องของโมเดลทางธุรกิจที่เหมาะสมต่อไป หลังจากจบโครงการ ผู้เข้าร่วมโครงการยังสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพ หรือออกไปเป็นผู้ประกอบการ สร้างธุรกิจของตัวเอง ซึ่งจะช่วยความสามารถด้านเทคโนโลยีและการแข่งขันให้กับประเทศ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ นำไปสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิตและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงและยกระดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยระดับสากล ในลำดับต่อไป

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก : สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย

เรื่องล่าสุด