messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับการพัฒนาประเทศ

การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับการพัฒนาประเทศ

วันที่เผยแพร่ 26 มกราคม 2022 1883 Views

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ รายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564: การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม ไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งรายงานฯ นี้ จัดทำขึ้นโดยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้ศักยภาพของระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในการสนับสนุนการแก้ปัญหารองรับสถานการณ์โควิด-19 และความท้าทายในหลากหลายมิติที่เกิดขึ้น สอวช. จึงได้นำข้อมูลจากรายงานฯ ดังกล่าวมาสรุปเป็นเนื้อหาในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นการพัฒนา อววน. ในช่วงที่ผ่านมาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งที่เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วนและแบบที่เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปจนถึงภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงและบ่อยขึ้น อีกทั้งสังคมไทยยังต้องเตรียมรับมือกับโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการนำเอาศักยภาพด้าน อววน. มาใช้เพื่อเตรียมความพร้อมเผชิญกับความท้าทาย แก้ไขปัญหาสังคมและสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรมให้แก่ประเทศในระยะยาว

ในด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แก่

1. การแก้ปัญหารองรับสถานการณ์โควิด-19 เช่น การผลิตชุดตรวจโควิด SARS-C0V-2 ด้วยวิธี Real-Time RT-PCR, การวิเคราะห์และประเมินด้วยแบบจำลองสถานการณ์ (Simulation Model) เพื่อการคาดการณ์และพยากรณ์การระบาดของโรค, การพัฒนาวัคซีน CU-Cov19 โดยศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

2. การแก้ปัญหาด้านการเกษตร มีการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่เพื่อการผลิตลำไยนอกฤดูกาลในพื้นที่ 3,800 ไร่ในภาคเหนือ

3. การบริหารจัดการน้ำ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานภาคกลางตอนบน เพื่อลดการใช้น้ำในโครงการชลประทานลง ร้อยละ 15 และลดขั้นตอนการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ในการสำรวจ

4. การส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีการสร้างและพัฒนาระบบนิเวศของผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprises: IDE) และการพัฒนามาตรการและสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม

5. การพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม เร่งสร้างขีดความสามารถในประเทศให้มีเทคโนโลยี วิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ขั้นสูง เพื่อใช้แก้ไขโจทย์ หรือวิกฤตการณ์สำคัญรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับการพัฒนาภาคการผลิตและบริการยุคใหม่

6. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) ทั้งในด้านเกษตรและอาหาร การพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการเคมีชีวภาพมูลค่าสูง อุตสาหกรรมการแพทย์และบริการสุขภาพ และการท่องเที่ยวปลอดภัย

7. การพัฒนากำลังคนโดยอาศัยกลไกการพัฒนาความรู้ในทักษะเดิม (Re-skill) การยกระดับทักษะเดิม (Up-skill) และการเพิ่มพูนทักษะใหม่ (New skill) เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายและข้อริเริ่มสำคัญ เช่น แพลตฟอร์ม Future Skill x New Career Thailand

8. การพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโอกาสและความสามารถในการเข้าสู่เทคโนโลยีควอนตัม, การวิจัยและพัฒนาอาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) หรือแนวคิดการพัฒนาสร้างยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ภายใน 7 ปี

ในด้านการอุดมศึกษา ได้แก่

1. การสร้างบัณฑิต ประเทศไทยมีความต้องการกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อรองรับทิศทางการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดยในปี 2570 ตั้งเป้าหมายผลิตนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์รวมต่อสายอื่น ในสัดส่วน 65:359 ภายใต้ความท้าทายในด้านการเปลี่ยนแปลงของประชากรและความต้องการใช้บัณฑิตของภาคอุตสาหกรรมและบริการในอนาคต

2. การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรระยะสั้น (Non-degree Program) ผ่านแพลตฟอร์ม Future Skill x New Career Thailand เพื่อพัฒนาทักษะและความรู้สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญของอนาคต กลุ่มอุตสาหกรรมรากฐานของประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วหลังจากวิกฤตการณ์โควิด-19 โดยสามารถผลิตกำลังแรงงานได้จำนวน 3,750 คน ในปี 2563

3. การสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต (New Growth Engine) ตอบโจทย์ภาคการผลิตและบริการตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย

4. การขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลภายใต้โมเดล BCG เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ BCG ลงสู่พื้นที่ให้เกิดการนำไปปฏิบัติจริง

5. การจัดตั้ง “หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในการสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนไทยไปด้วย” หรือ “อว. ส่วนหน้า” โดยให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักรวมทั้งเป็นผู้แทนในคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด เพื่อดำเนินงานตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่และแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริง

6. การส่งเสริมมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ อาศัยการพัฒนาคน ส่งเสริมการสร้างโอกาสและสร้างรายได้ให้กับนักศึกษาและประชาชน ผ่านการจ้างงาน 60,000 ตำแหน่งในพื้นที่ทั่วประเทศ 3,000 ตำบล

นอกจากการนำศักยภาพด้าน อววน. มาใช้รับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศแล้ว ในบทความหน้า สอวช. จะนำเรื่องราวเกี่ยวกับขีดความสามารถของประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในเวทีนานาชาติ มานำเสนอ รอติดตามได้ทางเว็บไซต์และแฟนเพจ สอวช.

ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564: การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม ฉบับเต็มได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/report/9727/

เรื่องล่าสุด