messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ขีดความสามารถของไทย ด้านการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในเวทีนานาชาติ

ขีดความสามารถของไทย ด้านการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในเวทีนานาชาติ

วันที่เผยแพร่ 27 มกราคม 2022 1466 Views

เมื่อพูดถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยทั่วไปนิยมจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้วยการเปรียบเทียบศักยภาพและความสามารถในแต่ละด้านของประเทศต่างๆ ทั่วโลก สำหรับประเทศไทย จากการจัดอันดับของ International Institute for Management Development (IMD) ในปี 2564 มีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 29 จาก 64 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในเขตเศรษฐกิจอาเซียน ยังคงเป็นรองสิงคโปร์และมาเลเซีย

ในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ IMD วิเคราะห์พบว่าประเทศไทยมีคะแนนของตัวชี้วัดที่ดีขึ้นเป็นส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และจำนวนผลงานตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งผลให้อันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ดีขึ้น 1 อันดับ จากอันดับที่ 39 ในปี 2563 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 38 ในปี 2564

ด้าน World Economic Forum (WEF) ก็ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ เช่นกันซึ่งในปี 2562 นั้น ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 40 จากทั้งหมด 141 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ นอกจากนี้การจัดอันดับความสามารถในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 สถาบัน Lowy Institute จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ที่สามารถรับมือกับการระบาดของ โควิด-19 ได้ดีที่สุด จากทั้งหมด 98 ประเทศ

สำหรับนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) พ.ศ. 2563 – 2570 ได้ระบุแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานในลักษณะแพลตฟอร์ม 4 ด้าน โดยจากการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถสรุปตัวชี้วัดที่สะท้อนความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ได้ดังนี้

แพลตฟอร์มที่ 1 การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ มีตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ อันดับมหาวิทยาลัยโลก และจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา

จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ Times Higher Education (THE) ปี 2564 จากทั้งหมด 1,527 มหาวิทยาลัยทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่ติด 1,000 อันดับแรกทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้จัดอันดับ Impact Rankings มหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งในปี 2021 จากมหาวิทยาลัย 1,117 แห่ง พบว่า มหาวิทยาลัยที่ได้อันดับในภาพรวมสูงที่สุดของอาเซียนคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ในอันดับที่ 23 และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ยังติดอยู่ใน 100 อันดับแรกของโลก ในอันดับที่ 54

ในส่วนของจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา เมื่อพิจารณาพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาแบบเทียบเท่าทำงานเต็มเวลา (Full-time work equivalent, FTE) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 มีจำนวน 25 คน-ปีต่อประชากร 10,000 คน และเมื่อพิจารณาเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนพบว่า ประเทศที่มีสัดส่วนสูงที่สุดคือ ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 79 คน-ปี และรองลงมาคือมาเลเซีย 26 คน-ปี

แพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม มีตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ และตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม

จากดัชนีการพัฒนามนุษย์ (The Human Development Index: HDI) ที่บ่งบอกถึงการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพหรืออายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากร ด้านการศึกษา และด้านเศรษฐกิจ จากรายงานการจัดอันดับของ United Nations Development Programme ในปี 2563 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 79 จาก 189 ประเทศ โดยมีค่า HDI สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

สำหรับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม มีตัวชี้วัดที่สำคัญคือค่ามลพิษทางอากาศ PM 2.5 จากรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศโลกปี 2563 ของหน่วยงานเอกชน IQAir AirVisual พบว่า ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยของฝุ่น PM 2.5 ตลอดทั้งปี 21.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นอันดับที่ 34 ของโลก จาก 106 ประเทศ โดยจังหวัดที่มีและค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 สูงที่สุดในประเทศ คือ กรุงเทพมหานคร เป็นอันดับที่ 35 จาก 92 เมืองทั่วโลก

แพลตฟอร์มที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน มีตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศ

ในปี 2562 ประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาคิดเป็นร้อยละ 1.14 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) มีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา25 คนต่อประชากร 10,000 คน สามารถยื่นจดสิทธิบัตรได้ 2.65 รายการ ต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนพบว่ายังเป็นรองสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่ในปี 2562 ไทยได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP ขึ้นมาจนกระทั่งสูงกว่ามาเลเซีย แต่ในด้านผลลัพธ์ผลผลิตนั้นยังคงน้อยกว่า แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาในด้านนี้จำเป็นต้องใช้เวลา ยังไม่สามารถเห็นผลได้ในระยะสั้น

ในส่วนของอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศ จากดัชนี The Global Innovation Index (GII) ชี้ว่าประเทศไทยมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 43 ในปี 2562 ลงมาอยู่ในอันดับที่ 44 ในปี 2563 โดยมีสาเหตุหลายด้าน เช่น การเติบโตของ GDP ลดลง สัดส่วนการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงลดลง อีกทั้งยังมีสัดส่วนการส่งออกบริการ ICT ที่น้อย เป็นต้น เมื่อเทียบเฉพาะในกลุ่มอาเซียนพบว่า ความสามารถทางนวัตกรรมของไทยยังเป็นรองประเทศสิงคโปร์ (อันดับที่ 8) มาเลเซีย (อันดับที่ 33) และเวียดนาม (อันดับที่ 42)

แพลตฟอร์มที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ มีตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ จำนวนของกลุ่มประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจน และสัมประสิทธิ์ความเหลื่อมล้ำ

เมื่อพิจารณาจำนวนกลุ่มประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจน โดยกำหนดให้เส้นยากจนคือ ค่ารายจ่ายเพื่อการบริโภคขั้นพื้นฐานที่ทำให้คนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ จากรายงานของ World Bank ในปี 2562 พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนร้อยละ 6.2 ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ แต่ยังมากกว่ามาเลเซียเล็กน้อย

ในด้านความเหลื่อมล้ำนั้น มีตัวชี้วัดคือสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) โดยแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านรายได้และด้านรายจ่าย ในกรณีประเทศไทย จากข้อมูลการรายงานล่าสุดในปี 2561 ของ World Bank พบว่าดัชนีจีนีด้านรายได้อยู่ที่ 0.453 ส่วนด้านรายจ่ายอยู่ที่ 0.364 และเป็นอันดับที่ 36 จาก 66 ประเทศทั่วโลก และเมื่อดูจากแนวโน้ม 10 ปีย้อนหลังพบว่า ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในระดับปานกลาง

หลังจากได้เห็นถึงขีดความสามารถของไทย ด้าน อววน. ในเวทีนานาชาติกันไปแล้ว ในบทความต่อไป สอวช. จะพาไปเรียนรู้รายละเอียด มาตรการ อววน. ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติกันบ้าง รอติดตามข้อมูลได้ทางเว็บไซต์และแฟนเพจ สอวช.

ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564: การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม ฉบับเต็มได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/report/9727/

และสามารถติดตามอ่านรายละเอียดในบทความแรกเรื่อง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับการพัฒนาประเทศ ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/9838/

เรื่องล่าสุด