messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » มาตรการ อววน. ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ

มาตรการ อววน. ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ

วันที่เผยแพร่ 28 มกราคม 2022 2590 Views

ในบทความนี้ สอวช. จะชวนมาเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่ง อววน. เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ โดยอาศัยทิศทางการพัฒนาของประเทศ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก 2) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรม 3) การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม 4) การแก้ปัญหาสำคัญและเร่งด่วนของประเทศ 5) การพลิกโฉมอุดมศึกษา และ 6) การปฏิรูประบบ อววน.

การดำเนินการในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศทั้ง 6 ด้านดังกล่าว ส่งผลให้สามารถสร้างผลงานสำคัญที่มีผลกระทบสูงต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในด้างต่าง ๆ ดังนี้

ด้านที่ 1 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากมีเป้าหมายสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1) การขจัดความยากจน 2) การลดความเหลื่อมล้ำ 3) การสร้างชุมชนนวัตกรรม 4) การยกระดับศักยภาพของเกษตรกร และ 5) การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้การขับเคลื่อนของระบบ อววน. ได้อาศัยกลไกของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีอยู่ในทุกจังหวัดในการเข้าถึงชุมชนต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน เช่น โครงการมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยให้มหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยเหลือชุมชนในการพัฒนาสินค้าและบริการ ทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนมีมาตรฐานและคุณภาพสูงขึ้น สามารถแข่งขันในตลาด สร้างให้ชุมชนเกิดรายได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการขับเคลื่อนการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยหน่วยงานอื่น ๆ ผ่านโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการธนาคารปูม้า โครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมเชิงพื้นที่ เป็นต้น

ด้านที่ 2 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรม

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรมมีเป้าหมายสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) 2) การสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยี/นวัตกรรม (Startup & SMEs) 3) การสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยอาศัยศักยภาพการวิจัยชั้นนำในสถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยในการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมยังเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น (Start-up) และผู้ประกอบการฐานเทคโนโลยี (IDEs) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยในการดำเนินงานที่ผ่านมา หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมได้บ่มเพาะบริษัท ถ่ายทอดเทคโนโลยี  พัฒนาผลิตภัณฑ์ และกระบวนการให้กับผู้ประกอบการหลากหลายสาขา อาทิ การเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภาคการเงินและการลงทุน ธุรกิจเพื่อสังคมในการช่วยเหลือผู้พิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น

ด้านที่ 3 การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมมีเป้าหมายสำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ 1) การรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และ 2) สร้างความสมานฉันท์ในสังคม ตัวอย่างโครงการสำคัญ อาทิ ระบบบริหารและจัดการนํ้าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ต้นแบบระบบการผลิตบริการสาธารณะด้านการจัดการนํ้า ที่ช่วยให้เกิดการสร้างระบบบริการข้อมูลด้านนํ้าและสภาพอากาศ โดยข้อมูลดังกล่าว สามารถช่วยในการแก้ปัญหาวิกฤตต่างๆ ได้ เช่น สถานการณ์นํ้าถํ้าหลวง และพายุปาบึก เป็นต้น

ด้านที่ 4 การแก้ปัญหาสำคัญและเร่งด่วนของประเทศ

ในช่วงปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระบบ อววน. เป็นกลไกสำคัญ ทั้งในมุมของการพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโรค และการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการระบาด โดยหน่วยงานในระบบวิจัยได้อาศัยศักยภาพของหน่วยงานในการทำวิจัยและพัฒนาระบบ ผลิตภัณฑ์ และการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ภายในระยะเวลาอันจำกัด เพื่อบรรเทาและป้องกันการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาด การพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีความพร้อมและเพียงพอต่อความต้องการ การวิจัยยาและวัคซีนที่อยู่ในระหว่างกระบวนการการวิจัย รวมไปถึงการสร้างงานและรายได้ให้ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น

ด้านที่ 5 การพลิกโฉมอุดมศึกษา

การพลิกโฉมอุดมศึกษามีเป้าหมายสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การส่งเสริมให้เกิดระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) 2) การสร้างความเท่าเทียมของโอกาสทางการศึกษา 3) Science Enculturation เพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษารองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก มีตัวอย่างโครงการที่สำคัญ อาทิ การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและสื่อสำหรับการพัฒนาครู, ต้นแบบระบบการขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคประกอบการด้วยนวัตกรรมคลังปัญญา (Intelligence Center), รูปแบบการจัดการการอาชีวศึกษารูปแบบใหม่ เป็นต้น ส่งผลให้โรงเรียนมีสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาได้รับการพัฒนาสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางการศึกษา นำไปสู่ความสามารถในการพัฒนาศักยภาพคนและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านที่ 6 การปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

การปฏิรูประบบ อววน. มีเป้าหมายสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1) การปฏิรูปองค์กรและระบบบริหารจัดการ 2) การปฏิรูประบบงบประมาณ 3) การปลดล็อกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ 4) การปฏิรูประบบติดตามประเมินผลและระบบข้อมูล ตัวอย่างโครงการที่สำคัญ อาทิ ระบบงบประมาณแบบ Block grant และ Multi-year การกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ อววน. ของประเทศ ทำให้เกิดการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินงานวิจัยและนวัตกรรมสามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติได้ ในส่วนการปลดล็อกกฎหมาย ได้มีการปลดล็อก พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พ.ร.บ. ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (Thai Bayh-Dole Act) เป็นต้น ช่วยอำนวยความสะดวกในการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม สร้างระบบให้เกิดการสนับสนุนงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ประเทศและสร้างมูลค่าเพิ่มได้

เราได้รู้ถึงภาพรวมพัฒนา อววน. ขีดความสามารถ อววน. ในเวทีนานาชาติ รวมถึงมาตรการในการพัฒนาประเทศกันไปแล้ว ในบทความต่อไปจะเจาะลึกไปถึงการสร้างความสามารถเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ ววน. ของไทย รอติดตามได้ทางเว็บไซต์และแฟนเพจ สอวช.

ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564: การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม ฉบับเต็มได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/report/9727/

และสามารถติดตามอ่านรายละเอียดในบทความเรื่อง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับการพัฒนาประเทศ ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/9838/

เรื่อง ขีดความสามารถของไทย ด้านการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในเวทีนานาชาติ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/9847/

เรื่องล่าสุด