(1 กุมภาพันธ์ 2565) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมอบอำนาจให้สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา และมีคำสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาหรือส่วนงานในสถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษาแทนคณะรัฐมนตรี
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยในฐานะผู้ช่วยเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ครม. ได้พิจารณาเห็นชอบการมอบอำนาจให้สภานโยบายฯ ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา และเห็นชอบให้สถาบันอุดมศึกษาหรือส่วนงานในสถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษาแทนคณะรัฐมนตรี โดยให้ถือว่าการอนุมัติและความเห็นชอบดังกล่าวเป็นมติของคณะรัฐมนตรี และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ ตามนัยมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ตามที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สอวช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการสภานโยบายฯ เสนอคณะรัฐมนตรี
โดย สอวช. ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) ขึ้น และสภานโยบายฯ ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ และกลไกการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา เพื่อนำไปจัดทำประกาศสภานโยบายฯ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษาเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนสภานโยบายฯ และมอบหมายให้ สอวช. นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบในครั้งนี้
สำหรับแนวคิดการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox เกิดจากความตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยให้ทันกับบริบทโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น ความก้าวหน้าที่รวดเร็วของเทคโนโลยี การเข้าสู่สังคมสูงวัย และวิถีชีวิตแบบหลายช่วง (Multistage life) จึงเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาได้ทดลองพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ที่ไม่มีมาตรฐานการอุดมศึกษาในปัจจุบันมารองรับ หรือติดข้อจำกัดของมาตรฐานการอุดมศึกษาในปัจจุบันทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ เพื่อให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนที่รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และเกิดการสร้างมาตรฐานอุดมศึกษาในกระบวนทัศน์แบบใหม่
สภานโยบายฯ จึงได้ออกข้อกำหนด เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางสำหรับสถาบันอุดมศึกษาในการเสนอขอจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา โดยจะต้องเป็นการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่การให้ปริญญา ทั้งระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา รวมถึงการจัดการศึกษาแบบปริญญาที่มาจากการเทียบโอนการศึกษาและการเรียนรู้ที่ไม่มุ่งปริญญา และการจัดการศึกษารูปแบบใหม่อื่น ๆ ที่เป็นต้นแบบนวัตกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์นโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ที่มีความแตกต่างจากการจัดการศึกษาแบบปกติอย่างมีนัยสำคัญ ให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์เชิงสมรรถนะและทักษะที่เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาจะมีการกำกับและการติดตามประเมินผล และพัฒนาแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานการอุดมศึกษาต่อไป