messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย ตอนที่ 1

ขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย ตอนที่ 1

วันที่เผยแพร่ 8 กุมภาพันธ์ 2022 2320 Views

การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศไทย ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน ซึ่งจากรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564: การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม ได้รายงานขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยใน 15 ด้าน ซึ่ง สอวช. จะแบ่งนำเสนอออกเป็น 3 ตอนโดยในบทความนี้ จะนำเสนอถึงขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงแนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมของไทย ใน 5 ด้านแรก ได้แก่ เกษตรอัจฉริยะ, อาหาร, เครื่องมือแพทย์, จีโนมิกส์, วัคซีน และยาชีววัตถุ

1) เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่ดินในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมจำนวน 178.74 ล้านไร่ หรือร้อยละ 55.73 ในขณะที่ภาคการเกษตรของไทยกำลังเผชิญความท้าทายในหลายด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อความต้องการอาหารที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแบบฉับพลันของเทคโนโลยี จึงได้มีแนวทางคิดในการนำ “เกษตรอัจฉริยะ” มาประยุกต์ใช้

ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้พัฒนาการเกษตรอัจฉริยะทั้งในรูปแบบการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์จากต่างประเทศ และรูปแบบการพัฒนาขึ้นเอง โดยนักวิจัยและผู้ประกอบการทั้งบริษัทขนาดใหญ่ SMEs และ Startup เพื่อใช้ในประเทศ เช่น เครื่องพยากรณ์การเกิดโรคในนาข้าว และการพัฒนาแผนที่นำทางเกษตร (Agri-Map) ขณะเดียวกัน ยังมีอุปกรณ์ เครื่องมือและระบบเกษตรอัจฉริยะที่อยู่ในขั้นตอนการวิจัย พัฒนาและทดลองใช้งานในพื้นที่การเกษตรจริง เช่น การเพิ่มผลผลิตข้าวโดยใช้นวัตกรรมการติดตามระยะไกลจากดาวเทียม ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ร้อยเอ็ดอุบลราชธานีและอำนาจเจริญ หรือการยกระดับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันสู่การผลิตที่ได้มาตรฐาน Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ในพื้นที่จังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี

แนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม คือการสนับสนุนให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเร่งพัฒนาทรัพยากรและปัจจัยสนับสนุนสำหรับการเพาะปลูกและปศุสัตว์ ได้แก่ เครื่องจักรกลการเกษตร วัสดุและอุปกรณ์การเกษตร และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น นอกจากนี้สถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงภาคเอกชน ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการ SME และ Start Up ควรเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่เกษตรกร

2) อาหาร (Food) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร รองรับแรงงานส่วนใหญ่ของภาคอุตสาหกรรม และเป็นแหล่งเสริมรายได้ของครัวเรือนเกษตรกรและชุมชนในชนบท โดยประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังประเทศต่าง ๆ มากกว่า 200 ประเทศ คิดเป็นมูลค่าสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูปเฉลี่ยมากกว่าปีละ 900,000 ล้านบาท

ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประเทศไทยได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารของประเทศและของโลกได้เป็นอย่างดี อาทิ โปรตีนแมลง, โปรตีนจากพืช (Plant – based food) อาหารฟังก์ชั่น (Functional Food), นวัตกรรมอาหารแปรรูปในรูปแบบอาหารพร้อมทาน (Ready to Eat), ผักและผลไม้มูลค่าสูง (Premium Fresh Product)

แนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม การยกระดับความสามารถในการแข่งขันต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนาและปัจจัยสนับสนุนในการขยายโอกาสทางธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลังการเก็บเกี่ยว ให้ผลผลิตอยู่ได้นานและมีสภาพสมบูรณ์ กลางน้ำ คือการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต เช่น การแปรรูปอาหารด้วยเทคโนโลยีใหม่, การทำให้สารบริสุทธิ์ และปลายน้ำ คือการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาการเก็บรักษาและการขนส่งที่มีการควบคุมอุณหภูมิ เพื่อปกป้องและช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์ รวมถึงสามารถระบุแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ได้

3) เครื่องมือแพทย์ (Medical device) เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ มีการประมาณการอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 6.5 ในช่วงปี 2564 – 2565 โดยในปี 2563 ตลาดเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 158,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าการนำเข้าที่มีประมาณ 78,000 ล้านบาท และมีมูลค่าตลาดรวมสูงเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน

ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่วนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและมีการผลิตที่ซับซ้อน ไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่ปัจจุบันในประเทศได้มีการนำผลงานวิจัยและพัฒนามาผลิตและจำหน่ายในตลาดแล้ว อาทิ รากฟันเทียม, กระดูกเทียมไทเทเนียม และขณะนี้ยังมีเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่อยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยและหน่วยวิจัยต่าง ๆ หลายกลุ่ม อาทิครุภัณฑ์ทางการแพทย์, น้ำยาและชุดตรวจวินิจฉัยโรค, ระบบและซอฟต์แวร์เพื่อรองรับการให้บริการทางการแพทย์นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ เพื่อต่อยอดการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

แนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม ได้แก่ การสนับสนุนการสร้างกำลังคนในสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ เพื่อยกระดับความสามารถเชิงวิศวกรรมทางการแพทย์ของประเทศ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีและทักษะขั้นสูง ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพที่ครอบคลุมการวิเคราะห์ ทดสอบ และรับรองมาตรฐานเครื่องมือแพทย์อย่างครบวงจรตลอดห่วงโซ่การผลิต เป็นต้น

4) จีโนมิกส์ (Genomics) ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีจีโนมิกส์และพันธุศาสตร์ ส่วนหนึ่งได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง ในการศึกษาหาสาเหตุและกลไกของโรคทางพันธุกรรม การวินิจฉัยและการพยากรณ์โรค รวมทั้งการพัฒนายาและการรักษาแบบใหม่ให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุดและจำเพาะต่อบุคคล

ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ต้องพัฒนาองค์ความรู้ การวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีจีโนมิกส์ ที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ของประเทศ นำมาสู่การการจัดทำ “แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) ปี พ.ศ. 2563–2567” มีโครงการสำคัญคือ การถอดรหัสพันธุกรรมของประชากรไทย ซึ่งคาดว่าจะสร้างประโยชน์อย่างมาก ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

แนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม ต้องมีการสนับสนุนการสร้างกำลังคนและพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง อาทิ แพทย์ด้านเวชพันธุ์ศาสตร์ สหสาขาวิชาชีพด้านพันธุศาสตร์ ชีววิทยาระดับโมเลกุล พยาธิวิทยาระดับโมเลกุล นักชีวสารสนเทศ นักระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของการวิจัย อีกทั้งต้องมีการสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในด้านนี้ด้วย

5) วัคซีน (Vaccines) และยาชีววัตถุ (Biologics) ปัจจุบันอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ของประเทศไทย มีมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านบาท มีขนาดตลาดใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ การผลิตวัคซีนเพื่อใช้ป้องกันโรคอันเนื่องมาจากการเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโควิด-19 ประเทศไทยเองก็ได้ปฏิบัติตามแนวทางการเข้าถึงวัคซีน ผ่านการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนขึ้นภายในประเทศ ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือวิจัยและพัฒนากับต่างประเทศเพื่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตด้วย

ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทยถูกนำมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ และการมีโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุที่ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิต รวมทั้งการมีหน่วยงานที่มีความสามารถและศักยภาพสูงด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาชีววัตถุต่าง ๆ โดยในขณะนี้มีผลงานวิจัยที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและเตรียมการผลิตในระดับอุตสาหกรรม อาทิการผลิตวัคซีน ยาชีววัตถุต้นแบบ และยาชีววัตถุคล้ายคลึง, การวิจัยและพัฒนาวัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นและชุดน้ำยาตรวจ เป็นต้น นอกจากนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และภาคเอกชนหลายแห่งอยู่ในขั้นตอนการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีน (Vaccine platform technology) ประเภทต่าง ๆ ที่จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันและลดความรุนแรงของโรคนี้ได้

แนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ พร้อมทั้งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) ด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยาชีววัตถุและวัคซีน จากระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตระดับต้นแบบกึ่งอุตสาหกรรมตามมาตรฐาน GMP-PIC/S นอกจากนี้ ได้มีการสนับสนุนการวิจัยทางแพทย์ขั้นพื้นฐานเพื่อต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์จริง (Translational Research) ผ่านการจัดตั้งบริษัท CLINIXIR ที่จะเป็น One stop Service Center ของการวิจัยทางคลินิก เพื่อทำหน้าที่บริหารการทำวิจัยทางคลินิก สำหรับทดสอบประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และรับรองผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้น

รอติดตามข้อมูลขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงแนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมของไทย ใน 5 ด้านถัดไปได้ทางเว็บไซต์และแฟนเพจ สอวช.

ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านรายละเอียดขีดความสามารถในแต่ละด้านเพิ่มเติมได้จากรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564: การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม : https://www.nxpo.or.th/th/report/9727/

เรื่องล่าสุด