(14 มีนาคม 2565) ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเป็นสักขีพยาน และประกาศความร่วมมือ ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ณ ห้อง PTT GROUP (1012) ชั้น 10 สำนักงานสภาอุตสาหกรรมฯ และผ่านระบบออนไลน์
ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า เรื่องการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ที่ทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนอยู่นี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ GHG Net Zero ในปี 2065 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่สามารถนำเอางานทางด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้ามาสนับสนุนได้ โดยจากการหารือกับสภาอุตสาหกรรมฯ ในเบื้องต้น มีงานสำคัญที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ 1. การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งสภานโยบายฯ มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ทำงานร่วมกับ สอวช. ในการดูทิศทางว่าจะสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างไร โดยเฉพาะทิศทางด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาคน 2. ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากที่ สอวช. ได้รับการแต่งตั้งในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่จะเป็นส่วนสำคัญในเรื่องการเชื่อมโยงเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) ระหว่างประเทศต่างๆ กับประเทศไทย 3. คือการพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับ และการเข้าไปสนับสนุนเรื่องมาตรฐานทางด้านระบบ Carbon Credit และ Carbon Verification ต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้ สอวช. และสภาอุตสาหกรรมฯ ได้หารือเบื้องต้นว่าจะมีการพัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตร 6 หลักสูตร ได้แก่ 1) Design Principle: Passive & Active Design, 2) Energy Efficiency, 3) Renewable Energy, 4) 3R + 1W + 1C, 5) Carbon Credit Certificate และ 6) Carbon Credit/RE Platform โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะเริ่มทำงานดังกล่าวภายใน 2-3 เดือนนี้
ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าของระบบพลังงานหมุนเวียนที่ลดลง ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีความต้องการที่จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ยังถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเกิดขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิต และการทําสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ ดังนั้นภาครัฐและเอกชนควรเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้สอดคล้องกับกติกาโลกใหม่ และบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนพลังงานทดแทน ให้มีสัดส่วน 30% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศภายในปี 2030 รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ ความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. และ กฟภ. ในการลงนาม “บันทึกข้อตกลงโครงการนําร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิต” เพื่อจัดทําฐานข้อมูลและการรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิตโดยเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มของสภาอุตสาหกรรมฯ ผ่านโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 โดยการริเริ่มและสนับสนุนจากคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้สามารถใช้เป็นต้นแบบตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือในโครงการนําร่องฯ ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในครั้งนี้ จะส่งผลให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามที่ได้กล่าวมา
ด้าน นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านพลังงานมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การศึกษาพัฒนาโครงการนําร่องด้านพลังงานหมุนเวียน โดยการจัดทําฐานข้อมูล การรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และ Carbon Credit โดยการนําระบบแพลตฟอร์มมาบูรณาการ เพื่อใช้เป็นต้นแบบ ตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการขยายผลการศึกษาไปสู่โครงการอื่นๆ จะช่วยให้ภาพรวมของประเทศไทย มีศักยภาพ ด้านการผลิต และการให้บริการ ด้านพลังงานสูงขึ้น ทั้งนี้การร่วมมือระหว่าง กฟภ. กับ ส.อ.ท. ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมเอกชนของประเทศไทยที่มีบทบาททางด้านการส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอุตสาหกรรมชั้นนําของผู้ประกอบการทั้งภายในและต่างประเทศ จึงถือเป็นโอกาสที่ดี ของทั้ง 2 หน่วยงานในการร่วมกันแสวงหาแนวทางในการศึกษาและสร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติในอนาคต
ในส่วนของนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า โครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการทดสอบทางเทคโนโลยีด้านพลังงานในสภาพแวดล้อม ของการใช้งานจริงในพื้นที่และขนาดที่จํากัด อีกทั้งเพื่อกําหนดแนวทางการกํากับดูแลการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ทั้งในรูปแบบเปิดกว้างและแบบมุ่งเป้าในด้าน Green Innovation และ Green Regulation ทั้งนี้ จะทําให้เกิดการพัฒนารูปแบบธุรกิจการให้บริการทางด้านพลังงานรูปแบบใหม่ ที่จะนําไปสู่การเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงบริการด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้นในราคาที่เหมาะสม