messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมสนับสนุน​ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น​ต่อ (ร่าง) ข้อเสนอการสร้างอุตสาหกรรม​ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง​

สอวช. ร่วมสนับสนุน​ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น​ต่อ (ร่าง) ข้อเสนอการสร้างอุตสาหกรรม​ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง​

วันที่เผยแพร่ 31 พฤษภาคม 2022 1035 Views

คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และระบบกักเก็บพลังงาน ในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น (Focus Group) ที่มีต่อ (ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 ณ ห้องประชุมสัมมนา บี 1-2 อาคารรัฐสภา โดยมีนายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ประธานคณะ กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และระบบกักเก็บพลังงาน เป็นประธานการประชุมฯ โดยมี นายธนาคาร วงษ์ดีไทย ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นตัวแทนคณะทำงานฯ นำเสนอประเด็นสำคัญของ (ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) เพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจาก หน่วยงานภาครัฐจำนวน 19 หน่วยงาน และภาคเอกชน 7 หน่วยงาน (ทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก รวมถึง Startups) เพื่อประกอบการปรับปรุงรายงานข้อเสนอเชิงนโยบายแนวทางการสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมเสวนา เช่น กรมการขนส่งทางบก สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สถาบันยานยนต์ สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) ศูนย์วิจัย MOVE มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยบูรพา บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด บริษัท SNC FORMER จำกัด (มหาชน) บริษัท อีวีคาร์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทบางกอกอินโนเวชั่นเทคโนโลยีจังหวัดนนทบุรี และกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ หน่วยงานส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับ (ร่าง) ข้อเสนอฯ EV Conversion โดยประเด็นที่หารือกันนับว่ามีลำดับความสำคัญมาก ได้แก่

1. การให้การสนับสนุนในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน นับว่าเป็นได้มีการเสนอมาตรการสนับสนนุได้ครอบคลุมในด้านต่างๆ อย่างไรก็ดีควรให้มีการกำหนดให้มีระยะเวลา ในการลดภาษีต่างๆ ในการนำเข้าชิ้นส่วนที่จำเป็น ในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถสร้างผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนสำคัญในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระยะต่อไป

2. ระยะเวลา-ความเร่งด่วน ในการดำเนินงานให้แล้วเสร็จ ภาคเอกชนทั้งขนาดเล็กกลางหรือใหญ่พูดตรงกันว่าเรามีเวลาไม่มาก เราอาจจะมีเวลาเหลือเพียง 2 ปี ซึ่งเป็นความเร่งด่วนที่จะต้องผลักดันและสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมนี้ให้เกิดขึ้น และถ้าภาครัฐใช้กรอบระยะเวลาในการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ ในความเร็วแบบเดิมอาจจะไม่ทันเวลา

3. มาตรฐานและความปลอดภัย ปัจจุบันมีมาตรฐานของการจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก ที่กำหนดให้รถที่มีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 กิโลวัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาที และอยู่ระหว่างการทำมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์บางส่วนที่จำเป็นจะต้องได้รับการรับรองจาก มอก. ซึ่งต้องมีเกณฑ์ที่มีความชัดเจนพร้อมทั้งแนวทางในการดำเนินงานซึ่งภาคอุตสาหกรรมต้องปฏิบัติตามได้จริงด้วย ทั้งนี้ เอกชนทั้งรายใหญ่และรายย่อยแสดงความเห็นว่าถ้าเกณฑ์ในช่วงแรกเริ่มมีการกำหนดให้มีความเข้มงวดมากเกินไปก็จะไปปิดกั้นการเกิดของอุตสาหกรรมนี้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาหาทางออกอย่างรอบด้านและหาแนวทางที่จะสามารถทั้งกระตุ้นให้เกิดการผลิตและมีความปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงการทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงและมีราคาขายที่ผู้บริโภคยอมรับได้

4. การทดสอบและค่าทดสอบ ปัจจุบัน กระบวนการทดสอบและสอบเทียบยังนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายแฝงที่นับว่าเป็นต้นทุนที่มีสัดส่วนสูงมากอยู่ ทั้งในรถในเชิงพาณิชย์ เช่น รถกระบะไฟฟ้าดัดแปลง และ ในรถที่มีขนาดเล็ก เช่น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เป็นต้น ซึ่งมีการเสนอว่าควรให้ดำเนินการไปในพื้นที่ที่มีการทดลองใช้งาน (Innovation Sandbox) โดยภายในพื้นที่ที่กำหนดนี้ จะมีการผ่อนปรน กฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการลงมือพัฒนาเทคโนโลยีและมีการใช้งานจริงเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จำนวนมากในระยะเวลาที่สั้นและปรับปรุงกฎระเบียบไปควบคู่กัน เนื่องจากหากต้องมารอให้ระเบียบในด้านต่างๆ จัดทำเสร็จครบทุกด้านอาจจะใช้เวลานานหลายปี และทำให้สูญเสียโอกาสในการเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ หรือสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้สายจนเกินไป

5. การลดต้นทุน การซื้อแบบต่างคนต่างซื้อจะทำให้มีราคาต่อหน่วยที่สูง ไม่มีอำนาจในการต่อรอง ควรจะมีหน่วยงานกลางในการรวบรวม Demand และเพิ่ม Volume ซึ่งจะทำให้มีอำนาจในการต่อรองในการซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย และเนื่องจากอุตสาหกรรมและตลาดมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและราคาที่รวดเร็ว ทำให้ต้องมีความคล่องตัวในการดำเนินงานที่สูง จึงจำเป็นต้องมีศูนย์กลางในการรวบรวมความต้องการและกระจายของออกให้เอกชนรายย่อย และควรดำเนินการโดยภาคเอกชนที่มีความคล่องตัวสูงกว่าภาครัฐ และมีประสบการณ์ที่ยาวนานมีองค์ความรู้และเทคโนโลยีต้นแบบที่ทันสมัย ซึ่งควรมีการคัดเลือกและกำหนดให้ทำหน้าที่นี้โดยภาครัฐ

6. ศูนย์พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้าน EV Conversion หน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาของภาครัฐมีองค์ความรู้ในแต่ละเทคโนโลยีที่ลึก และหน่วยงานภาครัฐทั้งหน่วยงานที่จดทะเบียน การนำเข้าชิ้นส่วน การเสียภาษีต่างๆ ควรจะมีการเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ให้มีความชัดเจนให้สามารถไปที่เดียวแล้วได้ข้อมูลครบทุกด้าน ซึ่งต้องการความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเสนอให้เอกชนรายใหญ่เป็นพี่เลี้ยง ที่จะสามารถให้การสนับสนุนให้เอกชนรายย่อยให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและทำตามได้อย่างปลอดภัย และสิ่งที่สำคัญที่สามารถทำควบคู่กันไปได้พร้อมกันกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีคือการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะของอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตให้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมีจำนวนที่เพียงพอ ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้มีการพูดความต้องการนี้ตรงกันมาก จากกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งประเด็นทั้งหมดข้างต้นจำเป็นต้องมีหารือถึงความเป็นไปได้เพิ่มเติม กลไกและความเหมาะสมในการดำเนินการได้จริงต่อไป นอกจากนี้ ทางสภาพัฒน์ฯ ได้เสริมว่าได้มีการจัดทำ (ร่าง) แผน 13 และมีกลยุทธ์ ที่จะพัฒนาในแต่ละประเด็น อยากให้หน่วยงานอื่นทำแผน ให้สอดรับกับแผน 13 และอาจจะต้องประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในการบูรณาการและขับเคลื่อนเพื่อติดตามการทำงานที่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วย

เรื่องล่าสุด