messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » โควิดมา พาให้เกิด Disruption เราจะปรับตัวให้รอดในยุคนี้ได้อย่างไร?

โควิดมา พาให้เกิด Disruption เราจะปรับตัวให้รอดในยุคนี้ได้อย่างไร?

วันที่เผยแพร่ 30 มีนาคม 2022 6106 Views

จากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน และการทำงาน รวมถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ในยุค Disruption มีแนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในอนาคต ?

จากรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ปี 2564 ระบุถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคม อีกทั้งมีการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ ทำให้มีคนว่างงาน เกิดความยากจน และความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น รวมถึงการเผชิญกับภาวะสังคมสูงอายุ (Aging society) ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ เน้นการแก้ไขปัญหาภายในประเทศของตนเองมากกว่า ส่งผลให้เกิดกระแสโลกาภิวัตน์หมุนย้อนกลับ (Reverse globalization) นั่นเอง

เพื่อเร่งปรับตัวให้เท่าทันยุค Disruption สถาบันอุดมศึกษาจึงเป็นหนึ่งในต้นทางสำคัญในการผลิตกำลังคนเพื่อรองรับการพลิกผันของโลก อีกทั้งกำลังแรงงานจะต้องถูกยกระดับ ปรับเปลี่ยน และพัฒนาคุณภาพเพื่อให้ตนเองยังคงมี “คุณค่า” กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และตลาดแรงงานต้องการคนที่มีความสามารถเฉพาะทางหรือเจาะจงมากขึ้น

และหากเราสามารถปรับตัวได้เท่าทันยุค Disruption แน่นอนว่าจะส่งผลต่อทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต แต่จะมีวิธีรับมือกับ Disruption อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย!

ด้านการศึกษาเกิด Disruption ได้อย่างไร?

ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจหลายแห่งต้องปิดกิจการลง การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติ ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง มีจำนวนคนว่างงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบัณฑิตที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา โดยได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2564 ประเทศไทยอาจมีนักศึกษาจบใหม่ที่เสี่ยงว่างงานกว่า 500,000 คน เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้มีตำแหน่งงานลดลง และทักษะที่มีไม่ตรงกับความต้องการตลาดงาน

นอกจากนี้ อัตราเด็กเกิดใหม่ยังลดลง เนื่องจากพ่อแม่ยุคใหม่เกิดภาวะไม่พร้อมสร้างครอบครัวจากพิษเศรษฐกิจต่างๆ ส่งผลให้การตัดสินใจเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาลดลงตามไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการหดตัวลงของอุดมศึกษาในหลายประเทศ ส่วนปัญหาที่ตามมาหลังจากนี้นั้นก็คือ อาจขาดแรงงานในอนาคต และการผลิตกำลังคนที่มีทักษะสูงให้เป็นไปตามกลไกของภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจโลกได้น้อยลง ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าจำนวนเด็กอายุ 18 ปี ที่พร้อมจะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยของไทยได้ลดลงจาก 4.55 แสนคนเหลือ 3.66 แสนคน ในช่วงปี 2557 – 2562 และจะลดลงต่อไปอย่างช้า ๆ ในช่วงปี 2563 – 2573 ก่อนจะลดลงอย่างรวดเร็วอีกครั้งหลังจากนั้น

ด้านการศึกษาต้องรับมืออย่างไร?

กำลังแรงงานจะต้องถูกยกระดับ ปรับเปลี่ยน และพัฒนาคุณภาพเพื่อให้ตนเองยังคงมี “คุณค่า” กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และตลาดแรงงานต้องการคนที่มีความสามารถเฉพาะทางหรือเจาะจงมากขึ้น ซึ่งจากระบบเดิมที่อุดมศึกษาของไทย เป็นการศึกษาที่มาจาก Supply-Side โดยเน้นการเรียนเพื่อรู้ (Learning to know) และ การเรียนเพื่อนำไปใช้งาน (Learning to do) เมื่อเกิดการ Disruption ในภาคอุตสาหกรรม ระบบอุดมศึกษาควรปรับตัวให้เป็นการศึกษาที่ตอบโจทย์ Demand-Side โดยใช้หลักการเรียนเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ (Learning to live together) และการเรียนเพื่อความเป็นพลเมืองโลก (Learning to be global citizen) ซึ่งตัวอย่างการปรับตัวเพื่อรับมือกับการถูก Disruption เช่น

การจัดการศึกษาแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่เป็นหลักสูตรการศึกษาในระบบและนอกระบบ และตามอัธยาศัยที่จัดให้แต่ละบุคคลในทุกช่วงอายุและสัมพันธ์กับวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งจะได้รับทักษะวิชาชีพ ความรู้เฉพาะด้าน การทำงานจริง แก้ปัญหาจริง เป็นการพัฒนากำลังคนให้มีศักยภาพ ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์อย่างเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตและการปรับตัวเข้ากับสภาพสังคม และสิ่งแวดล้อม

การใช้นวัตกรรมการศึกษาแบบทั่วถึงและเปิดกว้างในยุคดิจิทัล ที่เป็นแพลตฟอร์มการเรียนในรูปแบบออนไลน์ Massive Open Online Course (MOOC) ตัวอย่างเช่น Chula MOOC ซึ่งจะแก้ไขปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เวลา สถานที่ และศักยภาพในการรองรับผู้เรียนของสถาบันศึกษา และเพื่อความสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ เป็นการทำลายกำแพงความรู้ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงวิชาความรู้ที่มีคุณภาพ และน่าสนใจ ได้ทุกที่ทุกเวลา

การผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยจะให้ความสำคัญต่อการบูรณาการศาสตร์หลากหลายศาสตร์ หรือสาขาวิชา (Multidisciplinary) มากขึ้น และการเรียนรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติผ่านการทำงานจริง (Experience-Integrated Learning) รวมไปถึงการบูรณาการทักษะชีวิตของสังคมดิจิทัล (Life Skills of Digital Society) และทักษะวิชาชีพ (Professional Skills) ที่มีความจำเป็นในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ มีการจัดการเรียนการสอนในลักษณะหน่วยแยกเชิงผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ (Modular-based Learning Outcomes/Learning Results) และหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการและการพัฒนาทักษะการเรียนรู้รายบุคคล (Personalized Learning)

การพัฒนาหลักสูตรที่เน้นทักษะการใช้ชีวิตและการทำงานยุคใหม่ คือ มีการสร้างความเข้าใจในส่วนลึก ให้สามารถปรับตัวในการทำงานและเข้ากับสังคมได้ เป็นคนที่มีความคิดที่แปลกใหม่ สร้างสรรค์งานได้จากความรู้ในหลายด้าน มีความคิดเชิงประมวลผลหรือเชิงระบบ เข้าใจและตามทันโลกยุคสื่อดิจิทัล

การพัฒนาหลักสูตรที่เน้นมุ่งสู่อาชีพ โดยต้องการให้ผู้เรียนสามารถประกอบอาชีพ เป็นผู้ประกอบการ หรือสร้างธุรกิจของตนเองได้หลังจากสำเร็จการศึกษา ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนรู้ทฤษฎีและทักษะจากการฝึกปฏิบัติไปพร้อมเพรียงกัน

ด้านเศรษฐกิจเกิด Disruption ได้อย่างไร?

สาเหตุที่เกิดผลกระทบไปทั่วโลกนั่นก็คือการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด Covid-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิตสินค้า การขนส่ง ไปจนถึงผู้บริโภค และมีความไม่แน่นอนว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนที่ไม่สัมพันธ์กับรายได้ นอกจากผลกระทบจาก Covid-19 แล้ว ยังรวมไปถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงภาวะสังคมสูงอายุ (Aging society) ซึ่งส่งผลต่อทักษะกำลังแรงงานที่มีไม่ตรงกับความต้องการตลาดงาน

ภาคธุรกิจต้องรับมืออย่างไร?

ต้องเร่งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความต้องการในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ หรือการ Reskill และ Upskill ให้เพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับประสิทธิภาพแรงงาน และการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ภาคธุรกิจต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในการผลิตและการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เป็นต้น

Kill disruption หรือการแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไร?

จากรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของประเทศ ปี 2564 ของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ระบุถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ จากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ที่อาจทำให้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงไป จึงมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมภายในประเทศ ซึ่งปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะสามารถ Kill disruption ได้คือ “การพัฒนากำลังคนให้พร้อมรับมือ” ซึ่ง อว. สอวช. และหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. เองก็ได้ขับเคลื่อนหลากหลายนโยบาย และมาตรการต่างๆ อาทิ

จัดทำหลักสูตร Higher Education Sandbox
สร้างหลักสูตรจาก Demand Side เพื่อผลิตคนตามความต้องการของประเทศ ให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก

จัดกลุ่มมหาวิทยาลัยตามเป้าหมายประเทศเพื่อสร้างความเป็นเลิศตามความโดดเด่นของแต่ละกลุ่มมหาวิทยาลัย ดังนี้
1. กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก
2. กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยี และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม
3. กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น
4. กลุ่มพัฒนาปัญญา และคุณธรรมด้วยหลักศาสนา
5. กลุ่มผลิต และพัฒนาบุคลากรวิชาชีพ และสาขาจำเพาะ

ปลดล็อคการจำกัดเวลาเรียนทั้งปริญญาตรี โท เอก ไม่จำกัดเวลาจบ
เรียนไป ทำงานไป บริหารเวลาและเพิ่มศักยภาพให้เก่งขึ้น

เปิดมิติใหม่ของอุดมศึกษา เรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้
เรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้กว่า 25 มหาวิทยาลัย เก็บหน่วยกิตได้ ร่วมกันพัฒนาความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

ใช้ทุนการศึกษาแทนการกู้ยืมเงิน ในสาขาวิชาที่ประเทศต้องการ
ไม่ต้องจ่ายเงินคืน หรือ จ่ายดอกเบี้ยในราคาต่ำกว่าปกติ เปิดโอกาสให้เด็กๆได้เรียนเพื่อสร้าง “ไทย” ให้ทัน “โลก”

ต้อง RESKILL ให้พร้อม เพื่อสร้างทักษะใหม่

คือ การค้นหาทักษะใหม่ หรือความถนัดใหม่ๆ ด้วยตัวเอง เพื่อให้ทันกระแสโลกปัจจุบันมากยิ่งขึ้น อาจจะสร้างทักษะเพื่อรองรับงานใหม่ๆ ที่มาจากพื้นฐานความรู้เดิม หรือแตกต่างจากงานที่ทำ ความรู้ที่เคยมี เพื่อค้นพบความถนัดใหม่ในตัวเอง

องค์กรสามารถนำทางสู่การ “ค้นพบทักษะใหม่” ได้อย่างไร?

สเตปที่ 1 – ต้องระบุทักษะที่ต้องการในโมเดลธุรกิจใหม่ให้ชัดเจน เพื่อปรับโครงสร้างภายในได้อย่างรวดเร็ว และคัดเลือกคนให้เหมาะกับงาน

สเตปที่ 2 – สร้างทักษะที่สำคัญสำหรับแผนพัฒนาธุรกิจใหม่ เพื่อให้พนักงานปรับตัวได้ทัน ควรเน้นทักษะที่สำคัญ คือ ทักษะด้านดิจิทัล, ทักษะการจัดการองค์ความรู้, ทักษะด้านอารมณ์ และการปรับตัว

สเตปที่ 3 – เปิดเส้นทางการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อปิดช่องโหว่ทักษะที่สำคัญ ต้องวางกลยุทธ์ในโครงสร้างพนักงาน เพื่อกำหนดทักษะที่เหมาะสมในการพัฒนาให้เหมาะสม และสนับสนุนงบประมาณในการจัดฝึกอบรมในรูปแบบดิจิทัลเพื่อความรวดเร็วในการปรับตัว

สเตปที่ 4 – ทำแบบหลักการ “Agile” แบบองค์กรเล็ก นั่นก็คือ แนวคิดการทำงานที่เน้นผลลัพธ์มากกว่าขั้นตอน ด้วยการทำงานร่วมกันเป็นทีมจากหลากหลายสายงาน (Cross-functional team) หรือไม่ได้แยกแผนกชัดเจน เพื่อลดความยุ่งยากในการดำเนินงาน

ต่อด้วยต้อง UPSKILL อยู่ตลอด เพื่อเสริมทักษะที่มี

คือ การเสริมทักษะตัวเองที่มีอยู่ให้เชี่ยวชาญ รู้ลึก รู้จริงยิ่งกว่าเดิม ส่งผลให้คุณรู้จักตัวเองมากขึ้นในการเข้าใจว่าสามารถทำสิ่งไหนได้ถนัดที่สุด และต้องสามารถปรับใช้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพื่อรองรับกับบริบทโลก และความก้าวหน้าในอาชีพการงาน

องค์กรสามารถนำทางสู่การ “ส่งเสริมทักษะที่มี” ได้อย่างไร?

สเตปที่ 1 – วิเคราะห์เป้าหมายของแผนธุรกิจใหม่ เพื่อกำหนดทักษะใหม่ที่พนักงานต้องมีเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของแผนธุรกิจใหม่

สเตปที่ 2 – ประเมินทักษะของพนักงานที่มี และประเมินผลการพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อรู้จักความถนัดของพนักงานแต่ละคน และส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สเตปที่ 3 – สร้างความเชื่อมั่น และความร่วมมือจากพนักงาน เพราะอาจเจอพนักงานบางกลุ่มที่อาจรู้สึกว่าไม่อยากพัฒนาอะไรแล้ว เพราะไม่อยากเหนื่อยเพิ่ม จึงต้องสร้างความเชื่อมั่นผ่านวิสัยทัศน์ต่างๆ ว่าก้าวไปทางนี้แล้วจะเกิดผลดีนั่นเอง

สเตปที่ 4 – การจัดฝึกอบรมด้วยวิทยากรที่มีชื่อเสียงในด้านนั้นๆ เพื่อเพิ่มทักษะให้กับพนักงาน และแรงจูงในในการพัฒนาทักษะของพนักงาน อาจเป็นการสอนออนไลน์ เพื่อการเว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการรวมตัวกันเป็นจำนวนมากของพนักงานได้

สรุปการรับมือทั้งด้านการศึกษา ด้านธุรกิจ และด้านกำลังคนในยุค Disruption

ด้านการศึกษา – ต้องรับมือกับจำนวนนักศึกษาที่ลดลงในอนาคต พัฒนาหลักสูตรและคอร์สอบรมระยะสั้นออนไลน์ตอบโจทย์การ Reskill Upskill ให้เติบโต และผลิตกำลังคนให้มีทักษะสูงยิ่งขึ้นและตรงตามความต้องการ

ด้านธุรกิจ – ต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่พนักงาน ส่งเสริมการฝึกอบรมพัฒนาทักษะให้เพิ่มขึ้น เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนทั้งความก้าวหน้าในอาชีพ และเป็นองค์กรที่ทันสมัยอยู่ตลอด รวมถึงการร่วมมือกับภาคการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการส่งผู้เชี่ยวชาญไปฝึกอบรม หรือการฝึกงานแบบมืออาชีพให้กับนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบให้มากขึ้นกว่าเดิม

ด้านกำลังคน – ต้องค้นหาทักษะใหม่ (Reskill) หรือความถนัดใหม่ๆ ด้วยตัวเอง เพื่อให้ทันกระแสโลกปัจจุบัน รวมถึงเสริมทักษะตัวเองที่มีอยู่ (Upskill) ให้เชี่ยวชาญ รู้ลึก รู้จริงยิ่งกว่าเดิม ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มการเรียนในรูปแบบออนไลน์ Massive Open Online Course (MOOC) ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา หลากหลายแพลตฟอร์มของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐให้เข้าไปเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น Thaimooc, Chula MOOC, Mahidol University Extension, Thammasat Next Gen Academy, CMU Lifelong Education เป็นต้น

ที่มา : สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

McKinsey https://www.mckinsey.com/business-functions/people-and-organizational-performance/our-insights/to-emerge-stronger-from-the-covid-19-crisis-companies-should-start-reskilling-their-workforces-now?fbclid=IwAR3RMSPIhfKFxB4NhMOuPCQq6E5xz-TebJQaJ2jaDCpE8DfBmDivjP1twwI

Prakal’s Blog. HR Knowledge Community

เรื่องล่าสุด