messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » แรงงานสายดิจิทัลเนื้อหอม ประเทศต้องการปีละ 2 หมื่นกว่า

แรงงานสายดิจิทัลเนื้อหอม ประเทศต้องการปีละ 2 หมื่นกว่า

วันที่เผยแพร่ 25 พฤษภาคม 2022 1653 Views

การเติบโตของเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยแบบไม่สิ้นสุด เราต้องห้ามหยุด และต้องตามให้ทัน!

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ส่งผลให้ตลาดแรงงานสายดิจิทัลกำลังเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก ซึ่งประเทศไทยเองก็มีความต้องการกำลังคนในสายงานดิจิทัล ปีละไม่ต่ำกว่า 20,000 – 30,000 ตำแหน่ง

แรงงานสายดิจิทัลขาดแคลนหนัก เกิดจากสาเหตุใดบ้าง?

ขาดแคลนบัณฑิตจบใหม่สายดิจิทัล

อว. ระบุว่า ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย 101 แห่ง ในปีการศึกษา 2563 เป็นบัณฑิตระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกในสาขาที่เกี่ยวข้องกับงานดิจิทัล จำนวน 5,916 คน เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าความต้องการของตลาดแรงงาน ที่มีความต้องการปีละไม่ต่ำกว่า 20,000 – 30,000 ตำแหน่ง

ขาดแคลนอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ

นอกจากขาดแคลนอาจารย์ผู้สอนแล้ว ยังรวมถึงอุปกรณ์การเรียน และเครื่องมือที่ทันสมัยต่อเทคโนโลยีในปัจจุบัน อีกทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐยังคงมีกฎระเบียบ และเงื่อนไขต่างๆ ที่ส่งผลให้ต้องใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัยเพื่อจ้างอาจารย์พิเศษมาช่วยสอนในระยะสั้น ๆ เท่านั้น

สอวช. ได้ทำการสำรวจสมรรถนะบุคลากรที่เป็นที่ต้องการในอนาคตสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (พ.ศ. 2563-2567) พบว่า

🔹 อุตสาหกรรมดิจิทัลมีความต้องการบุคลากรทักษะสูง รวม 30,742 ตำแหน่ง

🔹 อุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์ 29,289 ตำแหน่ง

🔹 อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 17,732 ตำแหน่ง

🔹 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี/เชิงสุขภาพ 15,432 ตำแหน่ง

🔹 อุตสาหกรรมเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 14,907 ตำแหน่ง

🔹 อุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากร และการศึกษา 13,306 ตำแหน่ง

🔹 อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต 12,458 ตำแหน่ง

🔹 อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 12,231 ตำแหน่ง

🔹 อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 10,020 ตำแหน่ง

🔹 อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ 9,836 ตำแหน่ง

🔹 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 6,434 ตำแหน่ง

🔹 อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 5,219 ตำแหน่ง

นอกจากจะเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แล้ว ทักษะด้านดิจิทัลยังถูกแฝงอยู่ในหลายสายอาชีพที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็น “อาชีพมาแรงแห่งปี 65” อีกด้วย อาทิ

สายงานขาย และการตลาด ได้แก่ งานขาย, งานพัฒนาธุรกิจ, งานการตลาดดิจิทัล, งานอีคอมเมิร์ซ และงานการตลาด

สายงานวิศวกร ได้แก่ งานวิศวกรประกันและตรวจสอบคุณภาพ, งานวิศวกรการผลิต, งานวิศวกรรมการวัดคุม, งานวิศวกรโครงการ, งานวิศวกรวิจัย และพัฒนา

สายงานไอที ได้แก่ Programmer & Developer, Big Data, Project Management, IT – Technique, IT Infrastructure, IT Support, Blockchain, IT Management, Software Tester และ Robotics

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานสายดิจิทัล ในต่างประเทศก็ขาดแคลนไม่แพ้กัน อย่างในสหรัฐอเมริกา ก็กำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนบุคลากรสายดิจิทัล โดยข้อมูลจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง “ไมโครซอฟท์” เปิดเผยว่ายังขาดกำลังคนด้าน Cybersecurity เป็นอย่างมาก ซึ่งล่าสุด ไมโครซอฟท์เตรียมจับมือกับวิทยาลัยชุมชน 150 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา ในการฝึกอบรมฟรี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้าน Cybersecurity และช่วยให้เกิดการกระจายงานไปยังกลุ่มคนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

สำหรับในประเทศไทยเอง กระทรวง อว. สอวช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้จัดทำมาตรการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ หลายมาตรการสำคัญ เช่น มาตรการ Thailand Plus Package การให้สิทธิประโยชน์ในการสนับสนุนการฝึกอบรม และการจ้างงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) โดยดำเนินการร่วมกับกรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), โครงการนำร่อง GenNX Model การพัฒนาทักษะบุคลากรแบบเร่งด่วนในรูปแบบ Boot Camp ตอบโจทย์การจ้างงาน โดยทำร่วมกับองค์กร Generation และได้นำร่องในสาขาดิจิทัล และการบริการด้านสุขภาพ

อีกมาตรการสำคัญ คือ Higher Education Sandbox หลักสูตรการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา แต่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคผู้ใช้บุคลากร นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำฐานข้อมูลกำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศ ซึ่งรวบรวมข้อมูลกำลังคนศักยภาพสูงในด้านต่างๆ จาก 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อนำไปใช้กำหนดนโยบายการพัฒนากำลังคน และทดลองนำร่องกลไกการใช้ประโยชน์ผู้มีศักยภาพสูงต่อไป โดยสามารถหาข้อมูลกำลังคนที่มีศักยภาพสูงดังกล่าวได้ที่ https://talent.nxpo.or.th/

แหล่งที่มา : https://www.prachachat.net/education/news-913023

https://www.brandbuffet.in.th/2021/10/

เรื่องล่าสุด