messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » พาส่องเส้นทางขจัดความจนอย่างตรงจุด ลดความเหลื่อมล้ำ ควบคู่การพัฒนาเชิงพื้นที่

พาส่องเส้นทางขจัดความจนอย่างตรงจุด ลดความเหลื่อมล้ำ ควบคู่การพัฒนาเชิงพื้นที่

วันที่เผยแพร่ 1 มิถุนายน 2022 5255 Views

“ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคม” เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในทุกยุคทุกสมัยที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นเพราะการจัดการระบบที่อาจไม่ครอบคลุม หรือจำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นจนรับมือไม่ทัน?

รู้หรือไม่? ว่าปัญหาความยากจนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม ที่ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ความยากจนยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยพบว่าสัดส่วนคนยากจนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 6.24% ในปี 2562 เป็น 6.84% ในปี 2563 หรือมีคนจนเพิ่มขึ้น 5 แสนคน จาก 4.3 ล้านคน เป็น 4.8 ล้านคน เลยทีเดียว

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวง อว. ได้จัดทำแผนงาน “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” โดยร่วมกับพหุภาคีเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยมีเป้าหมายหลัก คือ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจนให้ดีขึ้น โดยใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม และสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยเอาบริบทพื้นที่เป็นตัวตั้ง แล้วใช้ข้อมูลความรู้ไปขับเคลื่อนให้คนและกลไกในพื้นที่ ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อตอบสนองบริบทประเทศ 3 เรื่องหลักที่ บพท. ตั้งไว้ ได้แก่

1. การขจัดความยากจน ที่ต้องเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ยากไร้จริง ๆ และช่วยเหลืออย่างตรงจุด

2. แก้ไขระบบเศรษฐกิจฐานราก ในเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือเศรษฐกิจที่เติบโต แต่ไม่กระจายกลับ

3. แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือเชิงระบบ ในการพัฒนาเมือง และกระจายศูนย์กลางความเจริญ

วันนี้ สอวช. จะพามาส่องการแก้ไขปัญหาความยากจนในสังคมไทยจากผลการดำเนินการด้วยแนวคิดตอบโจทย์ปัญหา คือ คนจนที่แท้จริงเป็นใคร? อยู่ที่ไหน? จนด้วยสาเหตุอะไร? และจะเข้าไปช่วยเหลือให้หายจนอย่างเบ็ดเสร็จ และยั่งยืนได้อย่างไร?

จากการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นกลไก และโครงสร้างความรู้ในพื้นที่ 20 จังหวัดเป้าหมายนำร่องที่มีดัชนีความก้าวหน้าของคนปี 2562 ต่ำสุด ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด (Provincial Poverty Alleviation Operating System : PPAOS) มีการดำเนินงาน ดังนี้

ส่วนที่ 1 : สร้างความร่วมมือกับศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ทำระบบค้นหาสอบทานข้อมูลใหม่ ที่ใช้ข้อมูลจากระบบข้อมูลคนยากจนที่เรียกว่า TPMAP หรือ Thai People Map and Analysis Platform เป็นฐาน ชักชวนชาวบ้าน ชุมชนมาทำระบบค้นหา และสอบทานกันเอง โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นตัวกลาง

ส่วนที่ 2 : ทำระบบวิเคราะห์ปัญหา และฐานทุนครัวเรือนยากจน หรือ PPPConnext

ส่วนที่ 3 : ระบบการส่งต่อความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยเฉพาะครัวเรือนยากจน ที่ต้องมีระบบสวัสดิการ และระบบสงเคราะห์เข้าถึงได้ทันที

ส่วนที่ 4 : ใช้การออกแบบโมเดลแก้จนสำหรับครัวเรือนที่มีฐานทุน เพื่อนำคนจนเข้ามาอยู่ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบสวัสดิการชุมชน ระบบกองบุญ หรือเข้ามาอยู่ในกระบวนการผลิตสินค้าชุมชน

จากขั้นตอนการดำเนินงานที่กล่าวมา ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาความยากจนให้ครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น รวมถึงส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ และผลกระทบต่าง ๆ อาทิ

เกิดระบบฐานข้อมูลคนจน และครัวเรือนยากจนขนาดใหญ่ (PPPConnext) ที่สามารถค้นหาคนยากจนได้ตรงจุด พร้อมวิเคราะห์สาเหตุของความยากจนจากฐานทุนดำรงชีพทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนทรัพยากร ทุนการเงิน ทุนกายภาพ และทุนสังคม รวมถึงปัญหาทั้ง 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ ประมวลผลออกมาเป็นทรัพยากรการดำรงชีพ แสดงผลเป็น Dashboard แบบ Real Time

เกิดระบบส่งต่อความช่วยเหลือคนจน และครัวเรือนยากจน ทั้งระดับส่วนกลาง และพื้นที่ สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 20% ล่าง ไปยังหน่วยงานที่มีภารกิจรับผิดชอบจำนวน 15,696 ครัวเรือน

มีการพัฒนาโมเดลแก้จนระดับพื้นที่ สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 20% บน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ที่เป็นกลไกนำคนจนเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิต ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน รวม 16 โมเดล อาทิ โครงการลดความยากจนข้ามรุ่นและความเหลื่อมล้ำภายใต้บริบทพหุวัฒนธรรมเข้มแข็ง นวัตกรรมแก้จน “แพะเงินล้าน” และโครงการธนาคารข้าว “กองบุญข้าวปันสุข” เป็นต้น

การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสู่แผนพัฒนาจังหวัด อาทิ โครงการลดความยากจนข้ามรุ่น และความเหลื่อมล้ำภายใต้บริบทพหุวัฒนธรรมเข้มแข็งจังหวัดปัตตานี โครงการกุดบากโมเดลจังหวัดสกลนคร มีการนำนวัตกรรมแก้จน “แพะเงินล้าน” เป็นตัวแบบสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนสู่แผนพัฒนาจังหวัดชัยนาท โครงการมันแก้จนจังหวัดมุกดาหาร เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการนำระบบฐานข้อมูลคนจน หรือ PPPConnext ไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบายระดับกระทรวง องค์กรระดับประเทศ ในการออกแบบเพื่อจัดทำแผนแก้ปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้หลุดพ้นจากความยากจนด้วย

เรื่องล่าสุด